รุมอัดปชต.ไทยนิยม ‘ปชป.-พท.’ชี้แค่ประดิษฐ์วลี/จวกแก้จน‘หาเสียง’ล่วงหน้า


เพิ่มเพื่อน    

"ปชป.-พท." สวนกลับ "ประยุทธ์" ประดิษฐ์ถ้อยคำสวยหรูประชาธิปไตยไทยนิยม ต้องการให้อำนาจอธิปไตยเป็นของ ปชช.ครึ่งหนึ่ง อยู่ในมือตัวเองอีกครึ่งด้วยการให้ ส.ว.ที่มาจากแต่งตั้งมีสิทธิ์เลือกนายกฯ แต่ให้จับตาหากใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้ก็ติดล็อกตัวเองเสนอคนนอกเป็นนายกฯ ไม่ได้ "สุริยะใส" หวั่นความขัดแย้งที่หลบฉากจะปรากฏทั้งใต้ดินบนดินมากขึ้น ญาติวีรชน 35 ชี้ปรองดองเหลว เตือนหากไม่พอเพียงกับอำนาจกงล้อประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

            เมื่อวันอาทิตย์ มีการวิพาษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้โอวาทเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ระบุถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แบบไทยนิยม เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกฯ จะประดิษฐ์ถ้อยคำสวยหรูอย่างไร ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่มองนายกฯ ออก เห็นเจตนาชัดเจนหมดแล้วว่าจะสืบทอดอำนาจกลับไปเป็นนายกฯ อีกรอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ถ้าต้องการกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ควรจะพูดความจริงมาตรงๆ ใช้เส้นทางตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการต่อสู้แข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น หรือคู่ต่อสู้ในการใช้ตำแหน่งและอำนาจที่มีอยู่ในขณะนี้ชิงความได้เปรียบ เพราะสุดท้ายประชาชนคนไทยก็ไม่ได้โง่ที่จะดูไม่ออก ควรที่จะตรงไปตรงมา ประกาศแบบลูกผู้ชายไปเลย เพราะเป็นชายชาติทหารอยู่แล้ว

            นายสาธิตกล่าวว่า กรณี คสช.บอกให้สื่อและนักการเมืองช่วยสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเลือกตั้งนั้น คิดว่า คสช.ควรเลิกพฤติกรรมจับนักการเมือง ประชาชน และสื่อมวลชน มาเป็นแพะรับบาป เพราะวันนี้ สังคมและประชาชนได้เห็นภาพชัดเจนว่าไม่มีใครที่ไหนก่อให้เกิดความวุ่นวาย และถ้าเกิดพบความวุ่นวายจริง คสช.มีอำนาจอยู่ในมือ แต่ไม่จัดการ ถือว่า คสช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่าใช้ลูกไม้ตื้นๆ จับคนเป็นแพะ เพื่อประคองสถานการณ์ ยื้อโรดแมป หวังใช้งบประมาณไปสร้างคะแนนเสียงให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ตอนนี้ สังคมและประชาชนรู้เท่าทันหมดสิ้นแล้ว ขอให้สำนึกในสิ่งที่ทำ ว่าทำเพื่อตัวเองหรือทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนกันแน่ การเร่งแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน คือการทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่ คสช.กำลังทำอยู่แบบนี้

            นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากรัฐประหาร จะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนนิยมประชาธิปไตยแบบไหน ที่ผ่านมาท่านมักพูดถึงคำว่าประชาธิปไตยบ่อยครั้ง แต่ก็ยังใช้อำนาจมาตรา 44 เรียกคนไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร สั่งย้ายข้าราชการโดยที่ความผิดยังไม่มีการตรวจสอบชัดเจนตามกระบวนการปกติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ถูกย้าย ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบว่ากระทำผิดหรือไม่ ขณะนี้ก็ยังไม่ได้กลับคืนสู่ตำแหน่ง ต่างจากสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเพียงคนเดียวก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต

            "คำว่าประชาธิปไตย หมายความว่าอำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ท่านให้ กรธ. ซึ่งเป็นคนที่ท่านตั้งขึ้นร่างให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกฯ และมีอำนาจแบบเดียวกับผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐบาลต่อไปยังต้องบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่ท่านร่างขึ้น คำว่าระบบประชาธิปไตยแบบไทยนิยมที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้น คือให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนครึ่งหนึ่ง แล้วอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์อีกครึ่งหนึ่งใช่หรือไม่" นายวรชัยกล่าว

ติดกับดักตัวเอง

             นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุพร้อมสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหากประชาชนต้องการว่า คงเป็นการโยนหินถามทาง แต่ไม่รู้ว่าถาม แต่เรื่องนี้มองว่าท้ายที่สุดผู้มีอำนาจจะติดกับดักกติกาที่ตัวเองเขียนไว้ สมมุติว่าหลังเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคภูมิใจไทย(ภท.) เสนอนายกฯ แล้วต้องเลือกในที่ประชุมรัฐสภา โดยคนที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน ต่อให้พรรค พท.เป็นเสียงข้างมากในสภา ก็ไม่มีทางที่จะได้เสียงถึง 376 เสียง พรรคอื่นก็ไม่มีทาง ในที่สุดไม่มีคนที่มาจากพรรคการเมืองได้เป็นนายกฯ ขั้นตอนต่อไปคืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อเปิดโอกาสให้เสนอชื่อคนนอกบัญชีพรรคเข้ามาแข่ง คือเลือกนายกฯ รอบสอง

            "การยกเว้นใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราต้องใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา คือ 500 เสียง ถามว่า 500 เสียงมาจากไหน สมมุติว่าทหารมี 250 อีก 250 ก็ต้องมาหาจากในฝั่งผู้แทนพรรคอื่น แต่ยังเชื่อว่ายังมีพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์จะไม่เอาทหาร ถ้าไม่ได้อีก 250 เสียง ก็ไม่สามารถงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคนนอกได้ ก็ติดล็อกทำให้เลือกนายกฯ ไม่ได้ บ้านเมืองก็จะเป็นปัญหาและวุ่นวายไม่จบ ทั้งที่เป็นกติกาที่ คสช.เขียนเอง ถึงตอนนั้นก็คงต้องวัดใจกันว่าพรรคอื่นจะกล้าเอาเสียงมารวมกับทหารเพื่อเสนอคนนอกเป็นนายกฯ ท้ายสุดถ้าเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่ได้ แล้ว คสช.อยู่รักษาการไปเรื่อยๆ ประชาชนจะยอมหรือไม่" นายสามารถกล่าว

            นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนในโรดแมปเลือกตั้ง แต่จากนี้กระแสเคลื่อนไหวของพรรคและกลุ่มก้อนการเมืองจะเป็นไปเพื่อการเลือกตั้ง แม้เส้นทางสู่การเลือกตั้งก็ยังไม่ราบรื่นนัก เพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อก ขณะเดียวกันปัญหาจากคำสั่ง ม.44 เรื่องการยืนยันสมาชิกและการให้พรรคใหม่เริ่มดำเนินการจดทะเบียนได้ในวันที่ 1 มีนาคมนั้น ในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหาใหม่ตามมา รวมทั้งการดำเนินการของพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็มีรายละเอียดมากกว่าฉบับก่อนๆ ทำให้น่าห่วงว่าอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนจนกระทบโรดแมปเลือกตั้งได้เช่นกัน

            "ที่สำคัญเงื่อนตายที่เป็นมากกว่าเงื่อนไขคือความขัดแย้งแตกแยกที่หลบฉากมานาน 3 ปีกว่า ก็อาจถึงเวลาที่จะปรากฏตัวทั้งใต้ดินบนดินมากขึ้น เข้มขึ้น เพราะสมการการเมืองนาทีนี้ยังไม่ออกจากกระดานความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของ คสช.ล้มเหลวไม่มีผลงาน ยุทธศาสตร์ผิดพลาดเน้นการใช้อำนาจบีบกด เราเห็นบ่อยๆ นายกฯ ออกมาห้ามกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ทะเลาะกัน แต่แทบไม่เห็นแผนหรือนโยบายที่ดีพอ กระทั่งบางส่วนวาดหวังสูตรปรองดองฉบับพิสดารว่าคู่ขัดแย้งเดิมจะจับมือกันเพื่อต่อกรกับ คสช. ก็ยิ่งสะท้อนภาวะตีบตันของโรดแมปปรองดองในสังคม และการใช้อำนาจที่เข้มข้นขึ้นเพื่อคุมหางเสือสังคมการเมืองจากนี้ไปอาจยากขึ้น ไม่ง่ายเหมือนช่วงต้นๆ ของการยึดอำนาจ เพราะสังคมมองว่าสุดท้ายแล้วอำนาจที่ใช้ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือการปฏิรูปที่โครงสร้างอย่างจริงจังนั่นเอง" นายสุริยะใสระบุ

            ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ถนนสามเสน วันที่ 14 มกราคม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 แถลงต่อสาธารณะและรัฐบาล โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา2535 กล่าวว่า นับแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 คณะยึดอำนาจประกาศชัดเข้ามาเพื่อจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง หากทหารจะเล่นการเมือง ก็ขอให้ว่ากันตามกติกา เราเคยเป็นตัวแทนศึกษาความปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ได้พูดคุยทุกฝ่าย กลุ่ม นปช. กลุ่มพันธมิตรฯ กปปส. พรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

            "ตอนรัฐประหารได้บอกว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่ายังไม่ได้ทำ ขอเรียกร้องให้ลงมือทำเสียที ที่ผ่านมาฝ่ายการเมือง ประชาชน ทุกสี ต่างสร้างภาระให้ ร.9 มากแล้ว ขอถาม พล.อ.ประยุทธ์ คำว่าจงรักภักดี ทำไมยังไม่ดำเนินการ หากจงรักภักดีต้องทำเพื่อถวาย ร.10 ตราบใดไม่มีความสมานฉันท์ปรองดอง บ้านเมืองก็เดินไม่ได้" นายอดุลย์กล่าว 

            เมื่อถามว่า หากมีนายกฯ คนนอกจะเกิดปัญหาเหมือนเหตุการณ์พฤษภา 35 หรือไม่ นายอดุลย์กล่าวว่า นายกฯ คนนอกนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดช่องไว้ ก็สามารถทำได้ ขอให้เดินตามกฎหมาย คสช.ทำหน้าที่เป็นคนกลาง เมื่อยึดอำนาจ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ในฐานะที่เป็นกรรมการกลาง เหตุใดกลับลงมาเป็นคู่ชกเสียเอง ได้แต่เตือนว่าบทเรียนในประวัติศาสตร์ของเผด็จการยึดอำนาจ หากไม่พอเพียงกับอำนาจ หนีไม่พ้นวงเวียนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อนักปฏิวัติรัฐประหาร ปัจจุบันความขัดแย้ง มาจากภาวะเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องม็อบ แต่เป็นเรื่องเคออสที่รุนแรงกว่า ได้แต่วิงวอนเผด็จการทหาร ให้สามารถแหกกฎรัฐประหาร นำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสันติ เจริญรุ่งเรือง อย่างที่เรารอคอย

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการเสวนาจะเริ่มขึ้น เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ สน.สามเสน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ได้มาเฝ้าติดตามบริเวณสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบางส่วนมาร่วมฟังการเสวนาด้วย

            ต่อมามีการเสวนาหัวข้อ "เศรษฐกิจ 4 ปีของรัฐบาลคสช.รอดหรือร่วง" นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อเราดูจากการทำงาน การเติบโตจีดีพีเพียงแค่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ปีล่าสุดมีการคาดหมายจะให้โต 4% การเติบโตจากคนไม่กี่กลุ่ม ปัจจุบันเราพึ่งการส่งออก ท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมาแม้ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีการลงทุนใหม่ ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักที่เอกชนทั้งในและต่างประเทศไม่มั่นใจ แม้รัฐบาลเร่งการแจกเงิน อาจเป็นเพราะใกล้เลือกตั้ง จนต้องเร่งหาเสียงหรือไม่ เพราะวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเป็นนักการเมืองแล้ว การแจกจะเป็นภาระการคลังในอนาคตต่อไป โดยที่ฝ่ายตัวเองทำได้ กลับมัดมืออีกฝ่ายไม่ให้ทำอะไร ขอฝากให้ กกต.ช่วยมาดูในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช. สตง. ตรวจสอบ การแจกเงินหรือบัตรประชารัฐ แต่กลับมีการล็อกสเปกให้ซื้อเฉพาะร้านค้าใหญ่ไม่กี่แห่ง ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนหรือไม่ และอยากให้ทำอะไรใหม่ๆ ดูโมเดลจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้ หากทำได้ ประเทศไทยคงจะเจริญขึ้นมาอีก

            ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า มาตรการเศรษฐกิจหลายประการเอื้อให้นายทุน เงินที่ช่วยคนจน ทำผ่านร้านค้าบริษัทใหญ่ได้เปรียบ การลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการอีอีซี ก็เอื้อนายทุนบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทำให้นายทุนขนาดกลาง เล็ก ไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนระดับชาติได้ แม้เกิดประโยชน์นายทุน แต่ประชาชนต้องมารับภาระต่อ กรอบการทำงานที่เป็นการจับมือระหว่างนายทุน ขุนศึกและขุนนาง ตีกรอบยุทธศาสตร์ชาติไว้อีก 20 ปี ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ จึงต้องสืบทอดอำนาจ เรื่องนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชน มีการเตรียมดึง ส.ส. การเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง พลังมวลชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนไป หากคสช.เลือกเดินไปตามแนวทางเดิมคงไม่ทำให้ประเทศไทยหลุดกับดักการเมือง 4.0 หากทำสำเร็จประชาชนจะเลือกมาเอง โดยไม่ต้องทำพรรค

ใช้งบกลางหาเสียง

            นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2561 เพิ่มเติม 150,000 ล้านบาท (พ.ร.บ.งบกลางปี) ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากงบปกติ 3 ครั้ง คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 396,000 ล้านบาท แต่ประชาชนโดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจฐานรากสัมผัสไม่ได้ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเน้นแต่แผนการแจกเงิน แต่ไม่ได้เน้นโครงการในลักษณะสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคง ทั้งนี้ รัฐบาลต้องไปเน้นย้ำการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงปลายรัฐบาลแบบนี้ ไม่ควรมีการใช้งบประมาณไปเพื่อการหาเสียงล่วงหน้า ซึ่งผลประโยชน์จะไปตกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม แม้ว่า คสช.จะให้กำเนิด สนช. แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2561 เพิ่มเติม ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่ออย่างน้อยในวาระท้ายของการทำหน้าที่ ประชาชนจะได้เห็นว่าท่านได้ตระหนักถึงการยึดเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

            นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ขณะเดียวกันสิ่งที่จะตามมาก็คือค่าครองชีพที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชนคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน และมักจะมีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้ามากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กระทบประชาชนในระดับฐานรากเป็นอย่างมาก จึงฝากรัฐบาลให้ช่วยดูแล เอาจริงเอาจังบริหารจัดการไม่ให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะถ้าบริหารจัดการควบคุมดูแลไม่ได้ การได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

            วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ตอบโจทย์การเมืองของคน 3 ฝ่าย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,196 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5- 13 มกราคม 2561 พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.8 ระบุเป็นกลุ่มพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ ขออยู่ตรงกลางในจุดยืนทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 36.3 สนับสนุนรัฐบาล และ คสช. และร้อยละ 8.9 ไม่สนับสนุน

            ที่น่าพิจารณาคือ เรื่องที่ทุกกลุ่มต้องการให้รัฐบาลและ คสช.ปฏิรูปเร่งด่วนก่อนการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 46.2 ระบุปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ รองลงมาคือร้อยละ 12.1 ปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมธุรกิจ SME แก้ปากท้องได้ยั่งยืน, ร้อยละ11.5 ระบุปฏิรูปการเมือง, ร้อยละ 10.0 ปฏิรูปการศึกษา, ร้อยละ 9.3 ปฏิรูปจราจร แก้อุบัติเหตุ คมนาคมทั้งระบบ, ร้อยละ 9.3 เช่นกันระบุปฏิรูประบบสาธารณสุข สุขภาพ ประกันสังคม

            นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 ระบุควรปลดล็อกการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพราะไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ ยังไม่เห็นพรรคการเมืองปรับปรุงตัว ในร้อยละ 27.7 ระบุควรปลดล็อกทันที ไม่เกิน 6 เดือน เพราะจะเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่า รู้ใจประชาชนได้มากกว่า และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ของกลุ่มพลังเงียบ ระบุควรปลดล็อกการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป ร้อยละ 67.7 ของผู้สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 60.0 ของผู้ไม่สนับสนุนระบุควรปลดล็อกการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"