"ผ้าโฮลโบราณ- ผ้าซิ่นตีนแดง" เสน่ห์ภูมิปัญญาอีสานใต้ 


เพิ่มเพื่อน    

ผ้าโฮลโบราณ ลวดลายต่างๆ ที่รังสรรค์ขึ้นโดยครูสุรโชติ ตามเจริญ


    ผืนผ้าแต่ละผืน นอกจากจะถักทอด้วยความประณีตแล้ว ยังถูกร้อยเรียงด้วยเรื่องราวภูมิปัญญา วิถีชีวิต ความเชื่อ สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมประเพณี ความผูกพันเกี่ยวเนื่องกับที่มาของการนำผ้าไปใช้ในอดีตของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น คุณค่าเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการถักทออันงดงามวิจิตร นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ อย่างเช่นเรื่องของผ้ามัดหมี่จากอีสานใต้อย่าง “ผ้าโฮลโบราณ” จ.สุรินทร์ ที่สืบทอดโดย ครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 และ “ผ้าซิ่นตีนแดง” จ.บุรีรัมย์ ของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ก็เป็นผ้ามัดหมี่ที่มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

มัดหมี่ลายผ้า เพื่อรังสรรค์ผ้าโฮลโบราณ


    ผ้ามัดหมี่ของทั้งสองจังหวัดมีเสน่ห์ สีสันและเทคนิคการทอที่ต่างกันอย่างชัดเจน โดย “ผ้าโฮลโบราณ” คือผ้า ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะของคนไทยเชื้อสายเขมรใน จ.สุรินทร์ ที่เรียกว่าผ้าโฮล เพราะคำว่าโฮล เป็นภาษาเขมร ที่เรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหม ในจ.สุรินทร์มีทอกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะบ้านนาตัง หมู่ 8 ต.เขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ นับว่ามีชื่อเสียงมากสุดในจังหวัดเลยก็ว่าได้ โดยครูสุรโชติ ตามเจริญ เป็นผู้สืบทอดผ้าโฮลโบราณรุ่นที่ 3 ของหมู่บ้าน นอกจากได้รับรางวัลครูศิลป์ของแผ่นดิน จากSACICT แล้วยังได้รับรางวัลประกวดผ้าไหมมามากมาย

ชาวบุรีรัมย์สาวไหมด้วยตนเอง


    ครูสุรโชติ ตามเจริญ เล่าว่า ได้เข้ามาสืบทอดผ้าโฮลก็เพราะว่าเป็นเขยสุรินทร์ เห็นคุณยายของภรรยาทอผ้าและมัดหมี่ลายผ้า จึงเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ และเริ่มฝึกฝนการมัดหมี่ รวมถึงการย้อมสีธรรมชาติจากคุณยาย พอทำได้ชำนาญแล้วก็รู้สึกผูกพันจึงสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยลวดลายและวิธีกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งสืบค้นลายผ้าเก่าจากพิพิธภัณฑ์บ้าง หนังสือผ้าโบราณบ้าง ตามแหล่งต่างๆ นำกลับมารังสรรค์เป็นผืนผ้าใหม่เพื่อรักษามรดกทางภูมิปัญญานี้ไว้ไม่ให้สูญหาย งานผ้าโฮลของตน จะมีสีสดด้วยการย้อมสีธรรมชาติ นำมาผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้สีติดทนสวย โดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขาม สีเหลืองย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข จนได้เป็นสีเหลืองทองอร่ามตา และย้อมครามด้วยด้วยวิธีย้อมเย็นทำให้ยังคงเอกลักษณ์ของผ้าที่มีสีสันสดสวย ส่วนลวดลายที่โดดเด่นของอีสานคือ ลายกรวยเชิงลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ฯลฯ

ครูสุรโชติ ตามเจริญ กำลังสาธิตการย้อมครามด้วยด้วยวิธีย้อมเย็น


    อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้ผ้าโฮลของครูสุรโชติมีความโดดเด่นงดงามคือการเลือกใช้ไหมน้อย หรือไหมเส้นในสุด ครูสุรโชติ อธิบายว่า ถือเป็นไหมชั้นดีที่มีความมันวาว เส้นเล็กสม่ำเสมอกันตลอดเส้น ซึ่งนำมามัดหมี่ตามลวดลายก่อนนำไปย้อมทำเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งด้วยวิธีการเฉพาะเรียกว่า “จนองโฮล” แล้วก็ยังได้นำลวดลายต่างๆ มาประยุกต์เพื่อสร้างเอกลักษณ์และเพิ่มคุณค่าได้ แล้วก็มีอีกหลายเทคนิคที่คิดขึ้นจากประสบการณ์ทำงานกับผ้าโฮลมากว่า 30 ปี ซึ่งตนก็จะถ่ายทอดด้านนี้ต่อไป โดยถ่ายทอดให้ลูกชายตนก่อน ทั้งคนในหมู่บ้านที่มาทำงานด้วยยังมีรายได้เพิ่มด้วย 


    ส่วนงานผ้ามัดหมี่ที่เรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนแดง” จ.บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่สวยงามไม่แพ้กัน เสน่ห์ของผ้าซิ่นชนิดนี้อยู่ที่หัวซิ่น และตีนซิ่นสีแดงสด เปลี่ยนจากสมัยก่อนที่นิยมใช้โครงสีเข้ม หรือสีเม็ดมะขามทอเป็นลวดลายโบราณ
    ที่ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ มีการทอผ้าซิ่นตีนแดงกันหลายครัวเรือน โดยครูรุจาภา เนียนไธสง ผู้ชำนาญผ้าซิ่นตีนแดงแห่งบุรีรัมย์ เล่าว่า ความเป็นมาของผ้าซิ่นตีนแดง ในยุคแรกเริ่มเป็นงานประณีตศิลป์ที่เกิดขึ้นในจวนเจ้าเมืองในสมัยพระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองพุทไธสง เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว พระยาเสนาสงครามได้มีคำสั่งให้กลุ่มสตรีในจวนทอผ้าซิ่นตีนแดงขึ้นเพื่อนำไปมอบให้ภรรยาของตนเอง เมื่อมีงานพิธีต่างๆ ภรรยาของพระยาเสนาสงครามจึงสั่งให้สตรีในจวนนุ่งซิ่นตีนแดงเหมือนกันทุกคน ทำให้ผ้าซิ่นตีนแดงเป็นที่รู้จักมากขึ้น และแพร่หลายมาจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน

ครูรุจาภา เนียนไธสง นำเสนอผ้าลวดลายต่างๆ เอกลักษณ์ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์


    ครูรุจาภา เล่าอีกว่า ปัจจุบัน ราคาของผ้าซิ่นมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ด้วยวิธีการทำผ้าซิ่นตีนแดง ได้เลี้ยงไหมและสาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมไทยพื้นบ้านใช้การสาวลงตะกร้าด้วยมือ ส่วนลายที่โดดเด่นคือลายนกยูงทอง ที่ใช้เทคนิคใหม่การทอผสมผสานกับการเขียนทองสร้างมิติของลวดลาย ในปัจจุบันมีการพัฒนาเพิ่มเติมสีสัน และลวดลายในส่วนของตัวซิ่นมากขึ้น เช่นสีฟ้า น้ำเงิน แดง หรือสีอื่นๆ ตามความต้องการตลาด ในอดีตการย้อมเส้นไหมสำหรับทอซิ่นตีนแดงใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง เปลือกมะพูด และคราม เป็นวิธีการย้อมแต่โบราณดั้งเดิม แม้จะมีสีเคมีเข้ามาใช้บ้าง แต่ก็ยังคงรักษาการย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติไว้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนลายที่ได้รับความนิยมคือลายประตูวัง และลายบันไดสวรรค์ เพราะความเชื่อที่ว่าหากผู้ใดมีผ้าลายนี้ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นผ้าประจำบ้าน ที่หากบ้านใดมีไว้ก็เชื่อว่าจะมีบุญวาสนาแก่คนในบ้านนั้น 


                “ในชุมชนมีความเชื่อว่าถ้าใครมีผ้าซิ่นตีนแดงครอบครองจะมีบุญวาสนา เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ใช้สำหรับรับขวัญแดงแรกเกิด โดยเชื่อว่าถ้านำผ้าซิ่นตีนแดงมารองรับขวัญเด็กแรกเกิดแล้วจะถือเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ทั้งภูตผี ผีศาจ ไม่ให้มาเข้าใกล้ และเพื่อความเป็นสิริมงคลกับเด็กด้วย แล้วก็ในพิธีกรรมศาสนายังใช้สำหรับงานบุญ งานมงตลต่างๆ เช่นงานบวช งานมงคลสมรส งานบายศรีสู่ขวัญ งานขึ้นบ้านใหม่ด้วย” ครูรุจาภา กล่าว


         อย่างไรก็ตาม ผ้ามัดหมี่ทั้งสองแบบถือได้ว่ามีเสน่ห์ที่ต่างกัน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวอีสานใต้ ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ และอนุรักษ์ อีกทั้งความสวยงามของผืนผ้าสองแบบน่าจะเป็นที่ถูกใจของคนรักผ้าไทยไม่น้อย

ตัวอย่างการสวมผ้าซิ่นตีนแดงให้สวยงาม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"