'ก้าวไกล' จนไร้มิตร


เพิ่มเพื่อน    

ตีปี๊บกันมาหลายวัน

            สัปดาห์หน้า สัปดาห์โน้น ถึงมหกรรมชำเรารัฐธรรมนูญกันอีกรอบแล้ว

            ดูเหมือนนักการเมืองไทยกับรัฐธรรมนูญ เป็นไม้เบื่อไม้เมา จองล้างจองผลาญกันมาตลอด หลายสิบปีแล้ว

            โดยเฉพาะ ๒๐ ปีหลังๆ มานี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหน สภาชุดไหน กระเหี้ยนกระหือรือจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั่วหน้า

            ทำราวกับว่า ส.ส.ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญถือว่าเสียชาติเกิด

            เอาล่ะ บางเรื่องพอเข้าใจได้ว่าต้องแก้ เพราะลองใช้ดูแล้วมันไม่เวิร์ก ยุ่งยาก สร้างความสับสน

            เช่น ระบบเลือกตั้ง การกาบัตร การนับคะแนน เมื่อมีปัญหาในทางปฏิบัติ จะต้องแก้ก็ว่ากันไป

            แต่บางพรรคเล่นใหญ่ จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสนองตัณหามวลชนตัวเอง ไม่นึกถึงประชาชนทั่วๆ ไปว่าเขาต้องการอะไร

            เห็นพรรคก้าวไกล ตั้งหน้าตั้งตาจะปิดสวิตช์ ส.ว.  เพื่อไม่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ด้วยท่าทีคับแค้น ฟาดงวงฟาดงา ไม่เอากระทั่งข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ทำให้นึกถึงเด็กอยากได้ของเล่นแล้วพ่อแม่ไม่ซื้อให้ อย่างไรอย่างนั้นเลยครับ

            ประชาธิปไตยไม่ฟังใคร มันก็คือเผด็จการนั่นล่ะ

            มันเริ่มเห็นสันดานว่า พรรคก้าวไกลแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง

            ยกตัวอย่างระบบเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ  ตามนี้ครับ

               ...เสนอระบบการเลือกตั้งเป็น 'ระบบจัดสรรปันส่วนผสม' ที่ใช้ 'บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ'

               กล่าวคือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๑ ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก ๑ ใบ

               โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด

               ซึ่งหมายถึงว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ต้องการต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทุกเสียงต้องถูกนับ

               การเลือกตั้งแบบจำนวนบัตรสองใบเราเห็นด้วย แต่ระบบบัตรสองใบก็มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบปี  ๒๕๔๐ เท่านั้น

               ซึ่งเราต้องการระบบการเลือกตั้งที่ตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่สุด เสียงต้องไม่ตกน้ำหรือไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผลออกมาแล้วไม่เป็นพรรคใหญ่ก็มีแค่พรรคเล็กไปเลย

               ระบบบัตรสองใบเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบได้ แต่วิธีการคำนวณจัดสรร  ส.ส.แบบเขตกับบัญชีรายชื่อมีหลายแบบ ซึ่งระบบ  MMP แบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ

               เราจึงเชื่อว่าเป็นระบบที่เหมาะสมและตอบสนองเจตจำนงประชาชนมากที่สุด....

            ครับ...ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล มันคือฝาแฝดกับระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั่นเอง แค่ดัดแปลงให้แตกต่างนิดหน่อย

            แต่สาระสำคัญยังเหมือนเดิม

            การเน้นไปที่ "เสียงไม่ตกน้ำ" เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ได้ประโยชน์จากเสียงไม่ตกน้ำนี้มากที่สุด

            และคราวนี้จะเขียนเพิ่ม เพื่อให้ "เสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์" ทุกเสียงสร้างความแตกต่างทางการเมือง โดยไปเพิ่มให้พรรคก้าวไกล 

            ก็คล้ายๆ ที่สาวกทักษิณ เคยโจมตีว่า รัฐธรรมนูญปี  ๒๕๕๐, ๒๕๖๐ เขียนขึ้นมาเพื่อกีดกัน ทักษิณ ไม่ให้กลับเข้าสู่การเมืองนั่นล่ะ

            แต่พรรคก้าวไกลมิได้มองปัจจัยอื่นๆ ในการเลือกตั้งคราวที่แล้วเพิ่มเติม

            อาทิ พรรคเพื่อไทย ส่งไม่ครบ พรรคไทยรักษาชาติ  ถูกตัดสิทธิ์ ทำให้คะแนนไหลไปยังพรรคอนาคตใหม่

            ฉะนั้นโจทย์ใหม่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่จะต่างไปจากเดิม ต่อให้มี "เสียงไม่ตกน้ำ" แต่ไม่ใช่เสียงของพรรคก้าวไกลอีกต่อไป 

            และนี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลกลัวว่าตัวเอง อาจสูญพันธุ์

            "รังสิมันต์ โรม" ถึงพยายามขัดขวาง แนวทางการแก้ไขระบบการเลือกตั้งของพรรคอื่นๆ ไม่เว้นกระทั่ง พรรคเพื่อไทย

               "...ผมและพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้นมีปัญหาแน่ๆ การใช้บัตร ๒ ใบดีกว่าแน่ๆ

               แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าหากไม่เอาระบบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ แล้วจะต้องหันไปเอาระบบตามที่พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ  เสนอมาเท่านั้น

               ยังมีระบบการเลือกตั้งอื่นที่สะท้อนเจตจำนง ซื่อตรงต่อเสียงของประชาชนได้มากยิ่งกว่า ๒ ระบบนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองในระยะยาวรวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วย

               ผมหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทบทวนการตัดสินใจของตัวเอง อย่าได้คล้อยตามสิ่งล่อใจเพียงชั่วครู่ชั่วคราวจนยอมรับในระบบที่ยังมีปัญหาเชิงหลักการ แล้วเอาชะตากรรมของประชาชนไปแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนเลยครับ..."

            ยากครับที่พรรคเพื่อไทยจะทบทวน เพราะก้าวไกลเองไม่เคยเห็นหัวใคร

            อยากได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ไม่หยิบยื่นให้ผู้อื่น

            การที่พรรคก้าวไกลแสดงความไม่พอใจข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ด้วยการไม่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข มาตรา  ๒๕๖ กับพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่าเป็นการไปจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด ๑ และหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นว่าธงของพรรคก้าวไกล ยังคงเหมือนเดิม

            คือต้องการรื้อหมวดพระมหากษัตริย์

            เมื่อมองย้อนไปดูบทบาทของ ส.ส.พรรคก้าวไกลในสภา จะพบว่าพรรคก้าวไกลจงใจโจมตีไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง

            โดยเฉพาะในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ที่อ้างว่ามีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างน้อย ๓๓,๗๑๒ ล้านบาท

            พยายามรวมตัวเลขให้ดูเยอะเข้าไว้

            และพยายามบอกว่า งบประมาณก้อนนี้ เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์

            งบโครงการพระราชดำริ

            งบโครงการหลวง

            รวมกันเกือบ ๒ หมื่นล้านบาท ถูก ส.ส.ก้าวไกลลักไก่มาอ้างให้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คือผู้ใช้งบประมาณ

            คนที่รู้จักโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง ต่างก็รู้ดีว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์ หรือโครงการเหล่านี้ผลิดอกออกผลเพื่อใคร

            ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ พรรคก้าวไกล จะใช้วิธีเดียวกัน เพื่ออ้างว่าเป็นข้อบกพร่องต้องแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

            ครับ...นี่อาจเป็นปมนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่

            โดยพรรคก้าวไกล.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"