จีนซัดกลับ G-7: พวกคุณ กำหนดทิศทางโลกไม่ได้อีกต่อไป


เพิ่มเพื่อน    

พอกลุ่มประเทศ G-7 รวมตัวกันเพื่อประกาศสกัดอิทธิพลของจีนและรัสเซียอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ มีหรือที่ปักกิ่งจะยอมตั้งรับเฉยๆ

            จีนโต้ด้วยการฟาดกลับทำนองว่า "เด็กๆ 7 คนนี้เล่นเกมอะไรกันอยู่?"

            ท่าทีตอกกลับของจีนต้องถือว่า "กร้าว" ไม่น้อยไปกว่าน้ำเสียงของผู้นำ G-7 ที่ตีเส้นระหว่าง "ชาติประชาธิปไตย" กับ "ระบอบรวบอำนาจ"

            เสมือนกำลังประกาศสงครามเย็นรอบใหม่

            ปักกิ่งบอกว่าการประชุมของผู้นำ 7 ประเทศนี้เหมือนเป็นการรวมตัวกันด้วยเป้าหมายเดียวกันคือเล่นงานจีนเท่านั้น นอกนั้นเป็นข้ออ้างทั้งสิ้น

            จีนบอกว่าวันเวลาที่ประเทศ "เล็กๆ" กลุ่มหนึ่งคิดว่าจะสามารถบงการโลกให้เป็นไปตามทิศทางและชะตากรรมของโลกที่ตนต้องการนั้นได้ "ผ่านพ้นไปนานแล้ว"

            เท่ากับเป็นการการเอาคืนบรรดาชาติประชาธิปไตยตะวันตก 7 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกกลุ่มนี้ ที่พยายามหาทางสร้างจุดยืนร่วมเพื่อกดดันไม่ให้จีนสามารถวิ่งไล่แซงประเทศตะวันตกที่ครองอำนาจเหนือกลุ่มอื่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

            คนที่ออกมาใช้วาทะตอบโต้อย่างฉับพลันและหนักหน่วง คือโฆษกสถานทูตจีนประจำลอนดอน

            เพราะผู้นำ G-7 นัดเจอกันที่สหราชอาณาจักร

            "วันเวลาซึ่งการตัดสินใจต่างๆ ในระดับโลกถูกบงการโดยประเทศกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งนั้น มันผ่านไปตั้งนานแล้ว"

            และสำทับว่า "เราเชื่อเสมอว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แข็งแรงหรืออ่อนแอ ยากจนหรือร่ำรวย ล้วนแล้วแต่เสมอภาคกัน ดังนั้นกิจการของโลกจึงควรที่จะจัดการโดยผ่านการปรึกษาหารือของประเทศต่างๆ ทั้งหมด"

            ชัดเจนว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการจะดึงเอาพันธมิตรเก่าของสหรัฐฯ กลับมาตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อระงับยับยั้งการเติบใหญ่ของจีนในทุกๆ ด้าน

            เพราะโลกตะวันตกจะไม่ยอมให้จีนและรัสเซียจับมือกันเพื่อขยายอิทธิพลในส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งมีผลทำให้ความยิ่งใหญ่ของ "โลกประชาธิปไตยตะวันตก" ต้องมีอันหดหายไป

            ผู้นำของกลุ่ม Group of Seven มีสหรัฐฯ,  แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, อิตาลี และญี่ปุ่น

            เป็นการประชุมครั้งสำคัญของสหรัฐฯ กับพันธมิตรร่ำรวยอีก 6 ประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากสหรัฐฯ เปลี่ยนผู้นำจากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นโจ ไบเดน

            เป็นการประชุมที่รีสอร์ตริมทะเลในอ่าวคาร์บิสเบย์ ของอังกฤษ ที่ตอกย้ำถึงการตีเส้นแบ่งระหว่างสองกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่คนละขั้ว

            วันนี้ที่สำคัญกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองอาจจะเป็นอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ, ความมั่นคง และวัฒนธรรม

            ยิ่งเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบว่าระบบไหนกันแน่ที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความคาดหวังของประชาชนมากกว่ากัน

            ในกรณีนี้จีนกลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการบริหารวิกฤติโควิดมากกว่าหลายๆ ประเทศในโลก G-7  โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

            ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทั้ง 7 ผู้นำต้องออกแผนบริจาควัคซีนกว่า 1,000 ล้านโดส

            และเสนอแผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า  Build Back Better World (B3W) มาแข่งกับ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนที่เดินหน้ามาก่อนหน้านี้หลายปีดีดักแล้ว

            นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา รับหน้าที่เป็นประธานในการระดมความคิดของเหล่าผู้นำ G-7 ในหัวข้อว่าด้วยเรื่องจีน

            โดยเรียกร้องให้บรรดาผู้นำใช้แบบแผนวิธีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือมีการ "บูรณาการ" ในการตอบโต้ความท้าทายจากจีน

            ผู้นำจีนมองว่า ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของโลกตะวันตกที่จะ "ปิดล้อม" จีน ซึ่งเป็นการ "ฉายซ้ำ" หนังเก่ายุคสงครามเย็นที่มีคำว่า Containment  Policy ต่อจีน

            จีนมองว่าประเทศตะวันตกเหล่านี้ยังมองจีนแบบเก่าคือแบบล่าอาณานิคม

            จีนยุคนี้จะไม่ยอมให้ตะวันตกรังแกหรือคุกคามเหมือนสมัยก่อนอีกเป็นอันขาด

            แต่ที่ประชุม G-7 เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องแสดงให้โลกเห็นว่ากลุ่มตนเป็นทางเลือกที่จะคานการแผ่ขยายอำนาจของจีนได้

            ข้อมูลเหล่านี้คือวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและอาเซียน ที่จะนำมาประเมินและทบทวนยุทธศาสตร์ของตนในการมีปฏิสัมพันธ์กับทั้ง G-7 และจีนอย่างรู้เท่าทัน

            เพราะโลกหลังโควิด-19 จะเพิ่มความท้าทายและความซับซ้อนในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเราอีกหลายเท่าทีเดียว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"