16 มิ.ย.64 - ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธานกมธ.ได้เชิญ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำราษฎร และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มวีโว่ เข้าชี้แจงกรณีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทางการเมือง 7 คนจากเรือนจำธนบุรีสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจหาโควิด-19 จำนวน 4 ครั้ง โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. ได้ให้ทั้ง 4 คนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กมธ.ฟัง
โดยนายพริษฐ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากเข้าเรือนจำและกักตัวประมาณ 1 เดือนก็ถูกจำแนกแดน ไปที่แดน 5 นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปอยู่ที่แดน 6 นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ไปอยู่ที่แดน 8 ซึ่งกรณีของตนและนายสมยศเป็นแดนของนักโทษเด็ดขาด ตอนจะออกไปที่ศาล ตนได้เตรียมเอกสารเพื่อไปแถลงเปิดคดีต่อศาล ตอนแรกเรือนจำจะไม่อนุญาตให้ตนนำเอกสารออกจากเรือนจำ โดยในวันที่ 15 มี.ค.หลังกลับมาจากศาลแล้วก็มีการวัดอุณหภูมิ ทำประวัติเข้าออกตามปกติและเข้าไปในห้องกักตัวเหมือนเดิม ซึ่งได้รับแจ้งว่านายภาณุพงศ์ นายปิยรัฐและนายจตุภัทร์จะย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งเวลา 21.00 น.ก็มีสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่อยากแยกพวกตนออกไป
นายธีรัจชัย ได้ถามว่า ทัณฑสถานหญิงกลางมีการเร่งรัดตรวจโควิด-19 กลางดึกหรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนั้น การตรวจโควิด-19 ตามปกติจะตรวจกลางวัน ซึ่งเมื่อถึงเวลาพักผ่อน เจ้าหน้าที่จะเดินตรวจตราตามปกติแต่จะไม่มายุ่งกับผู้ต้องขังและไม่เคยมีการมาแยกตัวจากผู้ต้องขังอื่นในยามวิกาล
นายธีรัจชัย ถามต่อว่า ข้อกฎหมายตามสิทธิมนุษยชนการที่ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในฐานะผู้ต้องขังคดีการเมือง การให้ไปอยู่กับนักโทษเด็ดขาดเช่นกรณีของนายพริษฐ์และนายสมยศถือเป็นการปฏิบัติกับผู้ต้องหาเหมือนผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า จะกระทำเช่นนั้นไม่ได้ ผู้ที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินโทษ ถือว่ายังบริสุทธิ์อยู่ ฉะนั้นถือว่าผิดตั้งแต่นำพวกเราเข้าไปในเรือนจำแล้วและยังผิดอีกที่พานายพริษฐ์ นายสมยศ นายปติวัฒน์ไปอยู่ที่แดนเด็ดขาด ไม่ใช่แดนที่ผู้ต้องหาอยู่
นายธีรัจชัย ถามอีกว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ การที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิดแต่ถูกนำไปขังเหมือนผู้ต้องขังคดีแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรามีสิทธิที่จะได้รับการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เหมือนผู้ที่ยังไม่ถูกตัดสินใช่หรือไม่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า การต่อสู้คดีจากข้างในเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับทุกคนการคุยกับทนายผ่านห้องกระจกที่ใช้โทรศัพท์คุยกัน ถูกดักฟัง ตนสังเกตได้เลยว่าจะมีเสียงซ่าแทรกขึ้นตลอดและการคุยกับทนายบางครั้ง ผู้คุมรู้ได้อย่างไรก็ไม่ทราบเรื่องเอกสารที่เข้าออกเรือนจำก็ถูกตรวจสอบทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งตนเขียนแถลงต่อศาลตั้งแต่ข้างในและนำออกไปข้างนอก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผ่านคนอื่น แต่เจ้าหน้าที่มีแถลงการณ์ฉบับคัดลอกได้อย่างไรก็ไม่ทราบ
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบเอกสาร เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คล้ายกับทัณฑสถานหญิงกลาง ตนจึงอากให้กมธ.เข้าไปตรวจสอบว่ามีการดักฟังจริงหรือไม่ เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่
นายธีรัจชัย กล่าวว่า ตนขอฝากไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้ต้องหาให้สามารถแยกควบคุมตัวได้หรือไม่และขอฝากไปที่กระบวนการยุติธรรมโดยรวมให้พิจารณาหลักกฎหมายในเรื่องนี้ และกมธ.จะส่งหนังสือไปยังกระทรวงยุติธรรมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ด้วยซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าจะมีการลงไปตรวจสอบอีกครั้ง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |