พ.ศ. 2408: มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์


เพิ่มเพื่อน    

ข้อเขียนนี้เป็นตอนสองต่อจากตอนที่หนึ่ง “การซุบซิบ ข่าวลือ ข่าวลวงและเสรีภาพ” ที่เผยแพร่ไปเมื่อสักสองสัปดาห์ก่อน

ที่จริง สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน การปล่อยข่าวในปี พ.ศ. 2408 ว่า พระมหากษัตริย์ในเวลานั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันน่าจะคิดว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การปกครองของไทยเราเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์  แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเข้าสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระราชอำนาจถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ         

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2408  ผู้ที่ปล่อยข่าวลือแบบนั้นก็คือผู้ที่เพียงแต่ยืนยันในสิ่งที่เป็นอยู่และรับรู้กันเป็นปกติอยู่แล้ว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ไม่น่าจะต้องทรงเดือดร้อนพระราชหฤทัยแต่อย่างใด     ไม่ต่างกับว่า หากสมัยนี้ มีคนปล่อยข่าวลือในอังกฤษว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงปกครองอังกฤษในแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  คนอังกฤษหรือคนทั่วไปก็คงงงๆว่า จะปล่อยข่าวลือที่เป็นข่าวจริง (ไม่ลวง) นี้ออกมาทำไม  และสมเด็จพระราชินีฯก็ทรงไม่สนพระทัยอะไรกับข่าวปล่อยที่ว่านี้         

พูดง่ายๆก็คือ ไม่รู้จะปล่อยมาทำไม !

แต่ใน พ.ศ. 2408 มีคนปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่สี่ที่แพร่สะพัด (แต่ก็ไม่สะพัดมาก เพราะปล่อยเป็นภาษาอังกฤษ) โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯดังนี้คือ         

หนึ่ง กรุงสยามอยู่ภายใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ (หมายถึงรัชกาลที่สี่ เพราะสมัยนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่สี่) จะมีพระบรมราชโองการมากประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม         

สอง ในท้องพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามนั้น เต็มไปด้วยเงิน ประหนึ่งภูเขาทองและเงิน และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุด                                    

สาม พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองกรุงสยามองค์ปัจจุบัน มีพระทัยคับแคบและทรงนิยมสิ่งของทั้งหลายที่แปลกๆ ทรงโปรดธรรมเนียม ประเพณี วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวรรณคดี ฯลฯ ของชาวยุโรปโดยไม่มีขอบเขต พระองค์ยังทรงพอพระราชหฤทัยถ้อยคำประจบ และทะเยอทะยานในพระเกียรติ ดังนั้น ในขณะนี้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะทำการกอบโกยเอาเงินเอาทองจำนวนมากจากท้องพระคลังของกรุงสยาม ฯลฯ     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรกับปมประเด็นทั้งสามนี้ ?            

คำตอบคือ  พระองค์ทรงเดือดร้อนไม่สบายพระทัยต่อประเด็นทั้งสาม และมีพระราชหัตถเลขาตอบเป็นภาษาอังกฤษ                                         
คำถามคือ ทำไมพระองค์ท่านต้องไม่สบายพระทัยในทุกประเด็น ?                      

ประเด็นที่สองและสาม เข้าใจได้เพราะมาหาว่าท่านมีพระราชทรัพย์มากมายท่วมดุจภูเขาเลากา แต่พระราชหฤทัยคับแคบ แต่อยากเด่นอยากดัง ชอบคนสอพลอ และหลอกเอาทรัพย์ง่าย               

แต่ประเด็นที่ว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี่สิ ทำไมพระองค์ต้องทรงเดือดร้อน น่าจะยินดีมิใช่หรือที่เป็นพระมหากษัตริย์มีทรงพระราชอำนาจอันล้นพ้น เพราะสมัยก่อนโน้นๆ พระมหากษัตริย์ในยุโรปก็อยากจะมีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์กันทั้งนั้น และภาคภูมิใจที่สามารถสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นได้                                 

ในการตอบประเด็นต่างๆเหล่านี้  ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของข่าวลือนี้  ประการแรก เขียนเป็นภาษาอังกฤษ สอง แพร่กระจายในหมู่ชาวต่างชาติในสยาม  ซึ่งชาวต่างชาติส่วนใหญ่ในขณะนั้นคือ ชาวยุโรปและชาวจีนที่สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้ และแน่นอนว่า ย่อมรวมถึงชาวสยามที่รู้ภาษาอังกฤษด้วย และแน่นอนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพราะพระองค์ทรงรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และแน่นอนอีกด้วยว่า พระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวนหนึ่งก็น่าจะรู้

ภาษาอังกฤษ แต่พระองค์ที่ได้รับการยอมรับจากชาวตะวันตกว่าภาษาอังกฤษดีจนโดดเด่นคือ พระราชอนุชาของรัชกาลที่สี่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  รวมทั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  และยังมีขุนนางจำนวนหนึ่งที่รู้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะขุนนางตระกูลบุนนาค        

                           
 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว          

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว       
                      
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

และแน่นอนด้วยว่า คนปล่อยข่าวลือนี้ย่อมรู้ภาษาอังกฤษเป็นอยางดีถึงเขียนอะไรได้ขนาดนั้น ดังนั้น คนปล่อยข่าวลือน่าจะอยู่ในกลุ่มชาวยุโรป ชาวจีนและชาวสยามที่รู้ภาษาอังกฤษดี              

ประเด็นแรกในข่าวลือ กรุงสยามอยู่ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Siam is under quite absolute Monarchy.”  และมีข้อความต่อว่า “ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ (หมายถึงรัชกาลที่สี่) จะมีพระบรมราชโองการมาประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม”         

คำถามคือ ข้อความดังกล่าวนี้มีปัญหาอย่างไรต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ?            

ก่อนอื่น ต้องขออธิบายว่าในสมัยนั้น ยังไม่มีการแปลคำว่า “absolute monarchy” เป็นภาษาไทยว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”  เพราะมีหลักฐานว่า แม้เวลาผ่านไปในสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ. 2428 ที่มีเจ้านายและข้าราชการ 11 พระองค์/คนกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงความปรารถนาของคณะผู้กราบบังคมทูลฯที่จะให้เปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครอง โดยกล่าวว่า “ต้องเปลี่ยนแปลงประเพณีปัจจุบันนี้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงพระราชวินิจฉัยราชการบ้านเมืองทุกสิ่งไปในพระองค์ ซึ่งมีประเพณีที่อังกฤษเรียกว่า

แอบโสลูดโมนากี ให้เป็นประเพณีซึ่งเรียกว่า คอนสติติวชั่นแนลโมนากี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นมหาประธานของบ้านเมือง ที่จะทรงพระราชวินิจฉัย มีพระบรมราชโองการเป็นสิทธิ์ขาด แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกๆพระองค์ในยุโรป ที่มิต้องทรงราชการด้วยพระองค์เองทั่วไปทุกอย่าง”            
นอกจากข้อความข้างต้นจะสื่อว่า ยังไม่มีการแปล absolute monarchy เป็นภาษาไทยแล้ว ยังสื่ออีกด้วยว่า ในความคิดของคณะผู้กราบบังคมทูลฯเห็นว่า ขณะนั้น (พ.ศ. 2428) สยามปกครองในระบอบ absolute monarchy และพวกเขาต้องการให้เปลี่ยนเป็น constitutional monarchy                 

อย่าเพิ่งงงๆนะครับ ผมใช้ทับศัพท์ตามที่พวกคณะบุคคลนั้นใช้ แต่ถ้าพูดภาษาปัจจุบันก็คือ คณะบุคคลในปี พ.ศ. 2428 เห็นว่าสยามเราขณะนั้นปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พวกเขาต้องการให้เปลี่ยนเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  หมายความว่า คณะบุคคลที่ว่านี้มาก่อนคณะราษฎรเป็นเวลาถึง 47 ปี  แต่จริงๆแล้ว ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของคณะบุคคลในปี พ.ศ. 2428 ก็ไม่เหมือนกับระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 เสียทีเดียว (ที่จริงไม่ใช่แค่เสียทีเดียว แต่แตกต่างกันมากเลย)                

เมื่อยังไม่มีคำแปล “absolute Monarchy” เป็นภาษาไทยว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ก็หมายความว่า ชาวสยามที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ก็จะไม่เข้าใจว่า “absolute Monarchy” คืออะไร ?            

อาจมีผู้อ่านสงสัยว่า แม้แต่คำว่า Monarchy ชาวสยามสมัยนั้นไม่รู้จักหรืออย่างไร  ?  คำตอบคือ ไม่รู้ เพราะยังไม่มีคำแปล “ราชาธิปไตย” ในภาษาไทยที่คนไทยส่วนใหญ่สมัยนี้รู้จักกันดี  ที่ว่าไม่รู้  ก็เพราะมีผู้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้และพบว่า คำว่า ราชาธิปไตย ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อ “คัมภีร์สรรพพจนานุโยค”      ฟังชื่อแล้วน่าพิศวงงงวย แต่จริงๆก็คือหนังสือพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-สยามที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า  “The Comprehensive Anglo-Siamese Dictionary” ซึ่งมีทั้งหมดห้าเล่มใหญ่  และแปลคำว่า Monarchy ไว้ดังนี้                                        
“Monarchy, n. มอนอาร๎กี, บ้านเมือง ฤๅคอเวอร๎เมนต๎อันให้มีราชาธิปตัยเปนเจ้าแผ่นดิน; แผ่นดินบ้านเมืองอันมีเจ้าครอง. Monarchian/Monarchic/Monarchical, a. มอนอาร๎ก๎อิแอน, มอนอาร๎กอิก, มอนอาร๎กิแกล๎, อยู่ในราชาธิปตัยองค์เดียว; แห่งราชาธิปตัย

          
ประธานาบธิบดีแฟรงคลิน เพียซ     

      ดอกเตอร์แซมมวล สมิธ

และผู้ที่ทำหน้าที่จัดทำ “คัมภีร์สรรพพจนานุโยค”  คือ แซมมวล สมิธ (Samuel J. Smith) หรือ “หมอสมิธ”  มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ความเป็นมาของการจัดทำหนังสือพจนานกรมนี้คือ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซได้ส่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษตามแบบอเมริกันของโนอาฮ์ เวบสเตอร์ (Noah Webster) มาถวายเป็นของกำนัลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดให้หมอสมิธเป็นผู้จัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-สยามขึ้นโดยใช้พจนานุกรมเวบสเตอร์เล่มดังกล่าวเป็นมาตรฐาน โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2427 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2442 

          

คัมภีร์สรรพพจนานุโยค        

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น ชาวสยามสมัยก่อนจะเริ่มรู้จักคำว่า “ราชาธิปไตย” ก็น่าจะตั้งแต่ พ.ศ. 2427 เป็นอย่างเก่ง        ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2408 ที่มีข่าวลือดังกล่าว   ผู้รู้ความหมายที่เป็นชาวสยามจะต้องเป็นผู้ที่ไม่เพียงแต่รู้ภาษาอังกฤษ แต่จะต้องเข้าใจด้วยว่า absolute Monarchy หมายถึงการปกครองแบบไหน  ?  ซึ่งน่าจะมีไม่มากนัก หรือจะว่าค่อนข้างน้อยด้วยซ้ำเลยก็ว่าได้                                  

แต่แน่นอนว่า ชาวยุโรปย่อมเข้าใจว่าคำๆนี้สื่อถึงรูปแบบการปกครองอะไร และมีนัยในแง่ดีหรือร้ายอย่างไร  เพราะในปี พ.ศ. 2408 หรือ ค.ศ. 1865 ในยุโรป การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์น่าจะไม่เหลือแล้ว เหลือก็แต่รัสเซีย  ! และคำว่า absolute monarchy ได้มีความหมายในแง่ลบไปเรียบร้อยแล้ว ดีไม่ดีจะมีความหมายเท่ากับทรราช (tyrant) ด้วยซ้ำ                    

ดังนั้น การปล่อยข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระจอมแกล้าเจ้าอยู่หัวปกครองสยามในแบบ absolute monarchy ที่ “มีพระบรมราชโองการมาประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม” จึงมีความหมายในแง่ลบและเป็นการโจมตีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโดยตรง            

ข่าวลือนี้เผยแพร่ไปในรูปของจดหมาย และ “จดหมายที่เขียนกล่าวโทษผู้อื่น โดยไม่ลงชื่อ หรือไม่ลงชื่อจริงของผู้เขียน” นี้ เขามีศัพท์เฉพาะใช้ นั่นคือ “บัตรสนเท่ห์”   พูดง่ายๆก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯต้องทรงเผชิญกับบัตรสนเท่ห์ที่กล่าวว่า พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองอย่าง “absolute Monarchy” ที่เวลาพระองค์ทรง “มีพระบรมราชโองการมาประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม”             

แล้วการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ในสยามสมัยนั้นเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ?  เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดต่างเห็นตรงกันว่า สมบูรณาญาสิทธิราช์ของไทยนั้นเริ่มเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า และไม่ใช่ในปี พ.ศ. 2428 ตามที่คณะบุคคลได้กล่าวไว้                     

ในตอนหน้า จะพาผู้อ่านกลับไปดูการปกครองสยามในสมัยรัชกาลที่สี่ว่า ตกลงแล้วเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริงหรือไม่ ? รวมทั้งดูปมประเด็นเรื่องพระราชทรัพย์ว่ามีมากมายเป็นภูเขาเลากาจริงหรือไม่     ? และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงอธิบายแก้ข่าวลือไว้อย่างไร ? และพระราชทานพระราชหัตถเลขานั้นไปถึงผู้ใด ?                                     
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"