ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอีสานกับนโยบายชาวเวียดนามโพ้นทะเลของรัฐบาลเวียดนาม


เพิ่มเพื่อน    

 

ในช่วงต้นปี 2564 เป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในเวียดนามเนื่องจากเป็นฤดูแห่งการผลัดใบของผู้นำทางการเมืองทั้งในระดับพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเวียดนาม  การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ที่จัดขึ้นในรอบ 5 ปี ในปลายเดือนมกราคม 2564 มีมติให้ นายเหงียน ฝู จ่อง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ ต่อไปอีกหนึ่งวาระ โดยเขาได้กล่าวอย่างมั่นใจในพิธีเปิดการประชุมว่า “ประเทศของเรากำลังยืนอยู่ในจุดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ความเชื่อมัน และความน่าเชื่อถือในระดับสากลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”  ในขณะที่การประชุมสภาแห่งชาติสมัยที่ 14 ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม - 5 เมษายน 2564 มีมติให้นายฝ่าม มิง จิ๋ง ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่นายเหงียน ซวน ฟุ๊ก ที่ก้าวขื้นสู่ตำแหน่งประธานประเทศ ท่ามกลางปัญหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่กำลังโจมตีอย่างหนักหน่วงทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ถือโอกาสนี้ประกาศความสำเร็จในสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า “เป้าหมายคู่” อันหมายถึงความสำเร็จในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 ไปพร้อมๆ กับความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะปกติใหม่  ทั้งนี้ ในปี 2563 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 2.9% ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่ระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบกันอย่างถ้วนหน้า 

           หากย้อนกลับไปทบทวนถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามนับตั้งแต่การประกาศนโยบายการปฏิรูป “โด่ยเหมย” ในปี 2529 เป็นต้นมาจะพบว่า เวียดนามมิเพียงแต่จะให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์จำนวนกว่า 90 ล้านคนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเพียงเท่านั้น หากแต่กลุ่มประชากรเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศหรือที่ในภาษาเวียดนามเรียกว่า “เกี่ยวบ่าว” จำนวนกว่า 4.5 ล้านคนในกว่า 110 ประเทศ ยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ให้พวกเขาได้หวนกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับแผ่นดินแม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ  ทั้งนี้ นโยบายเกี่ยวกับชาวเวียดนามโพ้นทะเลได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม 2529 เป็นต้นมา  อย่างไรก็ตาม การที่จะดึงเกี่ยวบ่าวในต่างแดนกลับไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศนั้นอาจจะต้องประสบปัญหาบางประการ โดยเฉพาะปัญหาด้านความแตกต่างทางการเมืองที่เกิดจากสงครามเวียดนามจนส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่นับตั้งแต่ปี 2518  ด้วยเหตุนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2536 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงได้เผยให้เห็นความพยายามในการสร้างความสมานฉันท์ทางชาติพันธุ์ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อมวลชนเกี่ยวบ่าวในต่างแดนผ่านคำขวัญเชิงวาทกรรมว่า “ชาวเวียดนามในต่างแดนถือเป็นองคาพยพที่ไม่สามารถแยกออกไปจากชุมชนชาติพันธุ์เวียดนามได้”  จากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2538 ก็ได้มีการจัดตั้งให้ “คณะกรรมการกิจการชาวเวียดนามโพ้นทะเล” ให้เป็นองค์กรในกำกับของกระทรวงการต่างประเทศ  อีกทั้งยังได้กำหนดให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนชาวเวียดนามโพ้นทะเลเป็น 1 ใน 4 พันธกิจหลักทางด้านการต่างประเทศ

           กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและนโยบายที่มีต่อชาวเวียดนามโพ้นทะเลได้ส่งผลลัพธ์ในแง่บวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายในประเทศเวียดนามอยู่ไม่น้อย  ข้อมูลจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามระบุว่า เกี่ยวบ่าวในต่างแดนกว่า 500,000 คน จาก 4.5 ล้านคน เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก  หลายคนยังเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  เศรษฐกิจ และการเงินในระดับโลก  ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้แต่งตั้งเกี่ยวบ่าวในต่างแดนจำนวน 5 คน ให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีเหงียน ซวน ฟุ๊ก  นอกจากนั้น การที่รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายการลงทุนและหยิบยื่นสิทธิพิเศษให้แก่นักธุรกิจเชื้อสายเวียดนามยังส่งผลให้เกี่ยวบ่าวจำนวนมากหันกลับไปลงทุนในเวียดนามจนเกิดแบรนด์ธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น Techcombank และ Vpbank บริษัท Eurowindow ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ บริษัท Masan Consumer ผู้ประกอบการทางด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค บริษัท Sun Group Vietnam ผู้ลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยโครงการที่มีชื่อเสียง เช่น InterContinental Danang Sun Peninsula Resort, Novotel Danang Premier Han River หรือ Ba Na Hills Mountain Resort ฯลฯ บริษัท Vingroup Joint Stock Company ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนามรายแรกภายใต้แบรนด์ Vinfast  ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากไข้หวัดโควิด 19 แต่มูลค่าโดยรวมของเงินที่ถูกส่งกลับสู่ประเทศเวียดนาม (remittance) โดยเกี่ยวบ่าวในต่างแดนในปีที่ผ่านมายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอยู่ในอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากจีน และฟิลิปปินส์

           สำหรับในประเทศไทย ในปัจจุบันคาดว่าจะมีประชากรเชื้อสายเวียดนาม หรือ “เกี่ยวบ่าวถายลาน” จำนวนประมาณ 100,000 คน อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวในภาคอีสาน  ในอดีต หน่วยงานของรัฐมักจะแบ่งชาวเวียดนามออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาวเวียดนามเก่า และ กลุ่มชาวเวียดนามใหม่  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชากรเชื้อสายเวียดนามส่วนใหญ่ต่างก็ได้รับสัญชาติและเป็นพลเมืองไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย  แต่เดิมชาวไทยเชื้อสายเวียดนามส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจขนาดย่อม เช่น ค้าขาย เปิดอู่ซ่อมรถ รับจ้างทั่วไป รับเหมาก่อสร้าง หรือ เปิดร้านอาหาร  จากนั้น เมื่อได้รับสัญชาติไทยแล้ว เกี่ยวบ่าวถายลานก็ได้ประกอบอาชีพที่หลากหลายยิ่งขึ้น  หลายคนยังได้พัฒนากิจการของตนให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และกลายเป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่  ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามมองว่า กลุ่มชาวไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นมวลชนที่มีความใกล้ชิดกับแผ่นดินมาตุภูมิและยังเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เวียดนาม  ในปี 2550 ประธานประเทศเวียดนามได้มอบเหรียญเชิดชูเกียรติเอกราชชั้นสูงสุดให้แก่ประชาคมเกี่ยวบ่าวในเมืองไทยเพื่อยืนยันถึงสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเกี่ยวบ่าวในเมืองไทยและประเทศเวียดนาม  กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทูตภาคประชาชน โดยการมีส่วนร่วมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดชายแดนของไทยกับจังหวัดในภาคกลางของเวียดนามจนเกิดการจัดตั้งกรอบความร่วมมือในระดับท้องถิ่นข้ามพรมแดนขึ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม 9 จังหวัด 3 ประเทศ (ไทย-ลาว-เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และ 12  นอกจากนั้น พวกเขายังมีส่วนร่วมในการกระชับความร่วมมือในระดับพหุภาคีกับจังหวัดต่างๆ ของเวียดนาม เช่น เหงะอาน ห่าติ๋ง และกว่างบิ่ง       

           ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจหลายคนยังได้มีส่วนร่วมทางการค้า การลงทุน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการสร้างความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างไทยและเวียดนาม โดยในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสมาคมนักธุรกิจไทย-เวียดนามขึ้นในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานรวม 13 แห่ง  ทั้งนี้ นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายเวียดนามยังได้มีโอกาสพบปะกับนักธุรกิจเชื้อสายเวียดนามจากทั่วโลกในเวทีการสัมมนาเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการกิจการชาวเวียดนามโพ้นทะเล  ในปี 2562 สมาคมนักธุรกิจไทย-เวียดนามแห่งประเทศไทยยังได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมส่งเสริมการค้าไทย-เวียดนาม และนานาชาติที่ศูนย์ประชุมวีทีแหนมเนืองคอมมูนิตี้ อันเป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่บริหารงานโดยนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุดรธานี  การประชุมครั้งนี้มีนักธุรกิจชาวไทย-เวียดนามเข้าร่วมประชุมถึงกว่า 600 คน โดยมีตัวแทนจากแนวร่วมปิตุภูมิแห่งชาติเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก  ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายเวียดนามหลายคนยังได้หวนกลับไปลงทุนในประเทศเวียดนาม อาทิ บริษัทบุญทะพานฟาร์มจำกัด จังหวัดนครพนมที่ได้รับการเชิญชวนให้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงสุกรในจังหวัดห่าติ๋ง และยังได้เข้าไปลงทุนจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่อีกหลายแห่งในประเทศเวียดนาม  นอกจากนั้น ยังมีนักธุรกิจเชื้อสายเวียดนามจากภาคอีสานอีกหลายคนที่ได้กลับไปทำการค้าการลงทุนในประเทศเวียดนามโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจทางด้านภาษา วัฒนธรรม สิทธิประโยชน์ของการมีเชื้อสายเวียดนาม และศักยภาพของการเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

           กล่าวโดยสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลเวียดนามที่มีต่อชาวเวียดนามโพ้นทะเลจากการให้ความสำคัญทางด้านการเมือง และความมั่นคง ไปสู่การให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจได้ส่งผลในแง่บวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นอย่างสูง  สำหรับในเมืองไทย กลุ่มชาวไทยเชื้อสายเวียดนามโดยเฉพาะในภาคอีสานที่นับวันจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็ได้กลายเป็นขุมกำลังสำคัญในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ตนอาศัย  นอกจากนั้น กลุ่มชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีความรู้ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม อุปนิสัย รวมถึงรสนิยมในการบริโภคของชาวเวียดนามอาจจะเป็นหนึ่งในสะพานที่เชื่อมโยงไปสู่ตลาดการค้าการลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งยังเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ที่มีประชาการกว่า 90 ล้านคน  สำหรับประเทศไทยนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรชาวไทยในต่างแดนซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน รวมถึงการให้ความสำคัญกับพลเมืองไทยที่มีเชื้อสายจากประเทศต่างๆ ให้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการทูตภาคประชาชน และการทูตเชิงเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

บทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร.สุริยา คำหว่าน อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"