หลังกรณีดรามาการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งทำให้หลายโรงพยาบาลต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป ทำให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องออกโรงเองในการพูดคุยกับผู้ว่าฯ กทม.และฝ่ายสาธารณสุข พร้อมสั่งให้ สธ.กับ กทม.จับมือแถลงข่าวสยบรอยร้าวทันทีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และให้การเดินหน้าฉีดวัคซีนที่เป็นวาระแห่งชาติเดินต่อไปได้อย่างราบรื่น
นอกจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนให้เพียงพอกับประชาชนที่ลงทะเบียนในหลายช่องทางแล้ว รัฐบาลยังต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ควบคู่กับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และการสกัดข่าวปลอมในเรื่องวัคซีนที่ระบาดหนักด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ลุยเก็บผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา ในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 และได้มีการรายงานให้นายกฯ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเป็นระยะ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลฯ นำไปใช้ในการติดตามประเมินผล และวางแผนบริหารจัดการวัคซีนให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ลดความสับสนของข้อมูลข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีน
รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 1 คน ได้จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 46,000 คน มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเสียงสะท้อนของประชาชนในเรื่องวัคซีนคือ
ประชาชนร้อยละ 75.2 ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ต้องการฉีดและพร้อมที่จะฉีดวัคซีนร้อยละ 47.7 และผู้ต้องการฉีดแต่ขณะนี้ยังไม่พร้อมฉีดวัคซีนร้อยละ 27.5 ส่วนร้อยละ 5.5 ฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผล 5 อันดับแรก คือ กลัวผลข้างเคียง ไม่เชื่อมั่นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันได้ มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น โรคประจำตัว สามารถป้องกันตัวเองได้ และไม่มีข้อมูลหรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ
สำหรับวัคซีนที่ประชาชนต้องการฉีดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วัคซีนตามที่รัฐบาลจัดหาให้ ร้อยละ 54.6 ได้แก่ วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ ร้อยละ 12.5 วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา ร้อยละ 3.0 วัคซีนยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 2.5 และวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค ร้อยละ 0.9 เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่ามี 6 จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว และผู้ที่พร้อมจะฉีดวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ภูเก็ต ตรัง ระนอง บุรีรัมย์ ชลบุรี และนนทบุรี ขณะที่กรุงเทพมหานคร และอีก 70 จังหวัด ที่รัฐควรกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน และไม่พร้อมที่จะฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ส่วนประชาชนร้อยละ 45.3 มีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลให้บริการแก่ประชาชน ขณะที่ร้อยละ 54.7 ไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า กลัวผลข้างเคียงร้อยละ 41.3 วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหาให้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าวัคซีนที่จะเลือกใช้เองร้อยละ 7.0 ได้รับข้อมูลข่าวสารของวัคซีนที่มีความขัดแย้งกันร้อยละ 5.7
ในส่วนการให้เงินชดเชยเป็นหลักประกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ถือว่ามีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีน โดยประชาชนให้เหตุผลที่สำคัญว่า ไม่คุ้มกับการสูญเสีย ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยดังกล่าว และค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ เป็นต้น ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และลดความสับสนของข่าวสารการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้นำเสนอประโยชน์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง
และจากการสำรวจดังกล่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ควรประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ด้วยพรีเซนเตอร์ที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ประชาชน รวมทั้งผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน ทั้งผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนและผู้ที่ยังไม่พร้อมฉีด เนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยของวัคซีนเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกันควรตรวจสอบและสกัดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือบิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างรวดเร็ว ควรมีหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงขั้นตอนการเข้าถึงวัคซีนที่ชัดเจนเพื่อลดความสับสนของประชาชน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่สำรวจนี้ทำให้ “บิ๊กตู่” ได้รับทราบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับไปดำเนินการ เพื่อให้แผนการบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพื่อลดความสับสนของข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นมากในช่วงนี้ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |