บิ๊กตู่" ตีปี๊บลุยแก้หนี้ทั้งระบบ หลังพบวัยทำงานหนี้ท่วม เดดไลน์ 6 เดือนต้องเห็นผล ครม.ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 เหลือ 60% นาน 6 เดือน คลังยันยังไม่ขยับเงิน "คนละครึ่งเฟส 3" เป็น 6 พัน เต้นแจงมาตรการเยียวยา ปชช.ตามกลุ่มเหมาะสม ชี้ช่วงโควิดช่วยคนจนรายละ 11,800 บาท
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้นำเรื่องปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้ได้รับทราบ หากประชาชนมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก มีหนี้ตั้งแต่อายุน้อยจะมีผลต่อทั้งชีวิตของเขา วันนี้เราต้องแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งหนี้สินกลุ่มต่างๆ ตอนนี้ที่ร้อนใจมากที่สุดคือหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี ปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี โดยเราได้กำหนดมาตรการออกมาทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะต่อไป
"มาตรการระยะสั้นเราจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน ทั้งเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการรวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นอกจากนี้ ยังพิจารณาการไกล่เกลี่ยหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ., หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, หนี้สหกรณ์ และให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยเอสเอ็มอี จัดให้มีซอฟต์โลน (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนองเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดเพื่อจะเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้
สำหรับมาตรการระยะต่อไปคือ การเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพิ่มการดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น ส่วนหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนั้นมีข้อมูลว่า ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 8.8 หมื่นล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม คือกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจะยังทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้รายงานว่า ยอดหนี้ครัวเรือนที่มีถึง 89% ต่อจีดีพี เนื่องจากอยู่ในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจากพบว่าช่วงวัยเริ่มต้นทำงานที่อายุระหว่าง 25-35 ปี เป็นหนี้กันถึง 60% และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถึง 23% จึงสั่งให้หน่วยงานต่างๆ เสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อเร่งแก้ไข นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าอยากให้นำข้อมูลหนี้ในส่วนต่างๆ เช่น หนี้ กยศ., หนี้ครู, หนี้สถาบันการเงิน, หนี้บัตรเครดิตมารวมกันไว้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับย้ำว่าขอให้เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 เดือน เพราะถ้าคนที่ยังเป็นหนี้อยู่จะไม่มีสมาธิในการทำงาน
ที่กระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการหารือกัน เนื่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทเพิ่งผ่านวุฒิสภา และการช่วยเหลือนั้นจะต้องครอบคลุมรวมถึงผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการนี้ประมาณ 31 ล้านคน โดยขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 20 ล้านคนแล้ว
ส่วนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยรักษาระดับการจ้างงานนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังรวมรวบข้อมูลเพื่อพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งในระบบและนอกระบบที่ได้รับผลกระทบอยู่ ซึ่งขณะนี้มีการร่วมมือกันจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาวางแนวทางช่วยเหลือ
สำหรับการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลนั้น ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานปลัดกำลังกำหนดรูปแบบและหลักเกณฑ์ผู้ที่เข้าร่วมอยู่ ส่วนจะมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ตอนไหนจะต้องรอดูเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นหลังจากโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ เช่น เราชนะ, คนละครึ่ง เป็นต้น ในช่วงโควิด-19 เสร็จสิ้นเสียก่อน
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาประชาชน ว่าคนที่เดือดร้อนมากหรือคนยากจนได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าคนที่ไม่ยากจนว่า โครงการของรัฐบาลถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งเพื่อการบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย และวิธีการสนับสนุนมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการให้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมประชากร จำนวนกว่า 13.65 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการหลักกว่า 2,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดโควิด-19 รัฐได้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมรวมเป็นเงินกว่า 11,600/11,800 บาทต่อคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |