22มิ.ย.ถกรื้อรธน. ก้าวไกลหักเพื่อไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

“วิษณุ” ชี้ฝ่ายค้านยื่นแก้ รธน.มาตรา 256 ไม่แย้งคำวินิจฉัยศาล รธน. “ชวน” เผยประชุมร่วมรัฐสภา 22-24 มิ.ย. ถก พ.ร.บ.ประชามติก่อนต่อด้วยแก้ รธน. "ไพบูลย์" เชื่อร่าง พปชร.ผ่านแน่ฟันธงแก้ ม.256 ไปไม่รอด ขณะที่ 3 พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน นัดยื่นร่างแก้ไข รธน. 16 มิ.ย.นี้ "พท.ชู 5 ประเด็นขอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ "ก้าวไกล" เมินลงชื่อร่วม พท.ปมแก้ ม.256 จ้องแก้หมวด 1-2 ปิดสวิตช์ ส.ว.หนุนบัตร 2 ใบแบบเยอรมัน

    เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี? ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้มาตราดังกล่าวเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้นต้องทำประชามติก่อน แต่ขณะนี้กฎหมายประชามติยังค้างอยู่ในสภาฯ ?ยังสามารถทำได้หรือไม่ ว่า? ทำได้? ไม่มีปัญหาอะไร? เพราะเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากกระบวนการแก้ไขมาตรา 256 ยาว มี 3 วาระ และต้องมีการทิ้งระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้กฎหมายประชามติก็เหลืออีกไม่กี่มาตราก็จะเสร็จในขั้นตอนรัฐสภา และต้องมีขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ กว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถึงขั้นตอนการทำประชามติก็ต้องใช้เวลา คาดว่าจะไปบรรจบกันพอดีที่ฝ่ายค้านจะยื่นมาตราดังกล่าวถึงไม่ถือว่าขัดแย้งกับคำพิพากษา
    นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรัฐสภาว่า จะกำหนดการประชุม 3 วัน 22-24 มิ.ย.นี้ โดยในวันที่ 22 มิ.ย. กำหนดให้พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ พ.ร.บ.ยาเสพติด จากนั้นวันที่ 23 มิ.ย. จะพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่นำเรื่องนี้มาไว้ช่วงหลังของการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมความพร้อม และตรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องทำให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จก็ยังสามารถพิจารณาต่อในวันที่ 24 มิ.ย.ได้ 
    ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลพยายามที่จะเสนอให้พิจารณาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญก่อน นายชวนกล่าวว่า ประธานจะเป็นผู้จัดวาระการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัว จึงจะนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไว้ทีหลัง ยืนยันว่ากฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ไปเตะถ่วงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นกฎหมายอื่นก็จะเข้ามาพิจารณาไม่ได้ หากยังมีกฎหมายค้างอยู่ 
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์มีด้วยกัน 6 ร่าง และมีร่างของพรรคภูมิใจไทยอีก 1 ร่าง รวมทั้งหมด 7 ร่าง ซึ่งเราหารือร่วมกันเบื้องต้นแล้ว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค ได้แจ้งมายังตนแล้วว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงชื่อเพื่อให้ครบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนั้นจะยื่นต่อประธานรัฐสภาอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้ เราประสงค์ที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยถือหลักว่าต้องนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น แม้พรรคจะมีข้อจำกัดในเรื่องเสียงที่เรามีแค่ประมาณ 50 เสียงก็ตาม แต่ก็จะจับมือกับพรรคการเมืองอื่นที่มีแนวทางอย่างเดียวกัน จะเดินหน้าทำหน้าที่จนนาทีสุดท้าย ในของแต่ละกรณีแต่ละประเด็นจนสุดทาง
    ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคใน 3 ประเด็น โดยจะเน้นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นหลัก ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สุดท้ายจะสะดุดในการลงมติวาระ 3 หรือไม่ว่า เราไม่มีการต่อรอง ประโยชน์ต้องตกอยู่กับประเทศและประชาชน 
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 16 มิ.ย. เวลา 09.00 น. ส.ส.ของพรรคทั้ง 12 คนจะนัดหารือต่อประเด็นการสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นเวลา 10.00 น. ตัวแทนของ 3 พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือร่วมกัน เพื่อนำเนื้อหามาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ก่อนจะให้ ส.ส.ของแต่ละพรรคร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ เบื้องต้นเชื่อว่าหาก ส.ส.ลงชื่อสนับสนุนญัตติครบจำนวนในวันที่ 16 มิ.ย. จะสามารถยื่นต่อประธานรัฐสภาได้
ฟันธงแก้ ม.256 ไม่ผ่าน
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ว่า ไม่เป็นความจริง การแก้ไขเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงแก้ไขอำนาจของ ส.ส.ในการประสานกับหน่วยงานราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เป็นประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าพรรคตัวเองจะสูญพันธุ์ เป็นความเห็นแตกแยกขัดแย้งกันเองระหว่างฝ่ายค้าน  
     นายไพบูลย์กล่าวว่า มั่นใจว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร.จะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ด้วย โดยอ้าง ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างของ พปชร. ยืนยันว่า พปชร.จะไม่โหวตให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่เป็นประเด็นหลักของพรรค 5 ประเด็น เช่น การเสนอให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ประเด็นการแก้มาตรา 272 ของพรรคเพื่อไทยนั้น เชื่อว่าจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์วาระรับหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง พปชร.และวุฒิสภาจะไม่ยกมือให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคนละเรื่องเดียวกันกับการยุบสภา ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถที่จะทำโดยตั้ง ส.ส.ร.ได้ แต่ต้องเป็นการดำเนินการสมาชิกรัฐสภามาตรา 156 ซึ่งไม่แตกต่างกับการแก้ไขแบบรายมาตรา และเชื่อมั่นว่าญัตติการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านไปไม่รอด  
    ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเผยภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมที่จะยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้วในวันที่ 16 มิ.ย. มีทั้งหมด 5 ร่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือร่างที่ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าจะเสนอ คือร่างแก้ไขที่มานายกฯ และตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ส่วนร่างที่เหลือเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย หากพรรคใดเห็นชอบก็สามารถร่วมลงชื่อได้    ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยไม่ติดใจกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขประเด็นอื่น เพราะต้องแล้วแต่วิธีคิดและการดำเนินการของแต่ละพรรค ไม่ถือเป็นความแตกแยกในพรรคร่วมฝ่ายค้าน      
    "มุมการต่อสู้ขณะนี้ เสียงในสภาเราไม่ชนะอยู่แล้ว จะอาศัยกระแสกดดันจากภายนอกก็ทำได้ยากมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้มีโอกาส เช่นในสภามีโอกาสก็ควรจะทำ ไม่ใช่ไปปิดกั้นตนเองทั้งหมด อย่างรอกฎหมายประชามติก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่น่าจะผ่าน ส.ว.ที่จะมีมติว่าให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 ไปจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่  ซึ่งพรรคก้าวไกลบอกว่าถ้าสอบไม่ผ่านจะอาศัยกระแสข้างนอกกดดัน ซึ่งเป็นเรื่องที่หวังมาตลอด แต่โอกาสประสบความสำเร็จมันยาก ดังนั้นควรทำในส่วนที่เห็นทางจะทำได้ดีกว่า" นพ.ชลน่านกล่าว
    ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมหารือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังการประชุม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค อ่านแถลงการณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สรุปว่า 1.เตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 2.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราควบคู่กันไปด้วยหลายเรื่องได้ ซึ่งเคยนำเสนอไปแล้ว เมื่อสิงหาคม 2563 โดยเลือกเอาประเด็นสำคัญที่เห็นว่าเป็นปัญหาต่อชาติบ้านเมือง และขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง เช่น ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ ยกเลิกบทบัญญัติบางเรื่อง อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ อำนาจ ส.ว.บางเรื่อง ตามบทเฉพาะกาล และการนิรโทษกรรมแก่คณะ คสช. 
ก้าวไกลฝันทำ รธน.ใหม่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพุธที่ 16 มิ.ย. เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสถา 
    ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงจุดยืนพรรคก้าวไกลในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยนายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตยคือ การจัดทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่น
    การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐในหลายมาตรานั้น เป็นความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ คนต่อไปอีก พรรคก้าวไกลจึงเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช.ไม่ร่วมลงชื่อกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เนื่องจากเราไม่เห็นด้วยกับการไปจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ระบบการเลือกตั้งที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือกส .ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ และเลือกพรรคการเมืองอีก 1 ใบ โดยนำคะแนนเลือกพรรคการเมืองมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรคตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด แต่วิธีการคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีหลายสูตร ซึ่งระบบปันส่วนผสมแบบเยอรมันเป็นระบบที่ไม่มีเสียงตกน้ำ. 
    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"