เสือผจญสิงห์!


เพิ่มเพื่อน    

 

      โจ ไบเดน นัด “ดวล” กับวลาดิมีร์ ปูติน ที่เจนีวา วันที่ 16 มิถุนายนนี้

            เป็นการนัดพบท่ามกลางความตึงเครียดของผู้นำสหรัฐฯ กับรัสเซียที่เหมือนจะขีดเส้นแบ่งโลกเป็นสองซีกอีกครั้งอย่างชัดเจน

            ด้านหนึ่ง ไบเดนไปเยือนยุโรปที่ถือเป็นการออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่งเบอร์หนึ่งของมหาอำนาจโลก

            ไบเดนต้องการส่งสัญญาณชัดๆ ว่าเขากลับมากระชับความสัมพันธ์ของเครือข่ายโลกเสรีตะวันตก เพื่อสกัดอิทธิพลของอีกค่ายหนึ่งที่มีจีนและรัสเซียเป็นแกนสำคัญ

            ไบเดนตีวงชัดเจน สหรัฐฯ คือผู้นำของโลกตะวันตก ที่มีอเมริกา, สหภาพยุโรป, อังกฤษ บวกกับปีกด้านความมั่นคงคือ NATO

            ไบเดนจะประชุมสุดยอดกับผู้นำ G7 เพื่อตอกย้ำความร่วมมือของประเทศร่ำรวยที่สุดของโลกในการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และแผนการกู้เศรษฐกิจที่ถูกโรคระบาดส่งผลกระทบรุนแรงในปีที่ผ่านมา

            โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความคลอนแคลนกับเครือข่ายโลกตะวันตกด้วยนโยบาย America First

            แต่ไบเดนกลับมาสานสัมพันธ์ใหม่ เพราะรู้ดีว่าสถานภาพของสหรัฐฯ ในโลกได้ถูกความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและเทคโยโลยีของจีนไล่กวดมาอย่างกระชั้นชิด

            ไบเดนมาเจอผู้นำอังกฤษ, เข้าเฝ้าพระราชินีอังกฤษ, ประชุมผู้นำ NATO ที่บรัสเซลส์และจบลงด้วยการเจอกันสองต่อสองกับปูตินที่เจนีวา

            แถลงการณ์ร่วมของไบเดนกับผู้นำ G7 ระบุชัดแจ้งถึงความสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างตะวันตก เพื่อแยกออกจากระบอบ “รวบอำนาจ” แบบของจีนและรัสเซีย

            แถลงการณ์จะมีการกล่าวถึงความพร้อมของ G7 ที่จะบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสให้กับ 100 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐฯ จะรับผิดชอบ 500 ล้านโดส

            ไบเดนประกาศว่า โลกตะวันตกจะต้องหาทางต้านโครงการ “One Belt One Road” หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ด้วยการสนับสนุนธุรกิจระดับกลางและเล็กในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

            เขาบอกว่าจะให้นโยบาย Build Back Better World (B3W) ของเขาเป็นทางเลือกที่มีคุณภาพสูงกว่าที่จีนส่งเสริมให้ชาติต่างๆ สร้างรถไฟ, ถนน และท่าเรือ

            จีนถูกวิพากษ์ว่าโครงการที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นทำให้ก่อหนี้สินจนกลายเป็น Debt Trap หรือ “กับดักหนี้” ที่ทำให้ประเทศต่างๆ เหล่านี้ต้องพึ่งพาปักกิ่งมากขึ้น

            บางทีก็เรียกมันว่า Debt Diplomacy หรือ “การทูตแบบสร้างหนี้”

            ในแถลงการณ์ของ G7 จึงมีประโยคหนึ่งที่บอกว่าจะเสนอให้ประเทศต่างๆ เป็นหุ้นส่วนในการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในลักษณะที่ “มีคุณค่า, ได้มาตรฐานและโปร่งใส”

            ตีความได้ว่าโครงการต่างๆ ที่จีนสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นั้นไม่มีคุณค่า, ไม่ได้มาตรฐานและไม่โปร่งใส

            แต่ผมพยายามอ่านรายละเอียดแล้วก็ยังไม่เห็นว่าอเมริกาและโลกตะวันตกจะใช้วิธีการสนับสนุนการเงินให้กับธุรกิจของตนอย่างไรจึงจะสามารถแข่งกับจีนได้

            จึงพอจะเห็นได้ว่าการมารวมตัวของผู้นำ G-7 ปีนี้ทิ้ง “ร่องรอยของทรัมป์” ไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างแนวร่วมใหม่ที่มีเป้าหลักคือจีนและรัสเซียอย่างไม่ต้องสงสัย

            การพบปะระหว่างไบเดนกับปูตินรอบนี้จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

            ไบเดนเคยเรียกปูตินว่าเป็น “มือสังหาร” เพราะประวัติการปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองอย่างไร้ความปรานี

            ปูตินเคยโต้ว่าอเมริกาก็ฆ่าฟันคนพื้นถิ่นอย่างโหดเหี้ยมและรังแกกลั่นแกล้งชนกลุ่มน้อยมาตลอดเช่นกัน

            แม้ว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ปูตินให้ความเป็นธรรมกับผู้นำฝ่ายค้านอย่าง Aleksei Navalny ที่ถูกยาพิษและจำคุกอย่างต่อเนื่อง

            แต่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ไบเดนจะเจอกับปูติน ก็มีคำสั่งศาลให้ยุบพรรคการเมืองของฝ่ายค้านคนนี้ เพราะถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มการเมืองแนวสุดโต่ง

            แสดงว่าแรงกดดันใดๆ ของอเมริกาต่อการเมืองภายในของรัสเซียไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

            เมื่อเสือเจอสิงห์...ก็ต้องพิสูจน์กันว่าใครจะมีลูกเล่นและกลยุทธ์เหนือกว่ากัน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"