4มิ.ย.61-อย.ลุยตรวจมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศให้เสร็จภายใน 3เดือน หรือภายในเดือนส.ค.เบื้องต้น พบ194 ราย ที่ได้มาตรฐาน GMP ประเดิมแห่งแรกปทุมธานี มีบริษัทยื่นตรวจสอบและได้มาตรฐาน 21 ราย จากทั้งหมด 1,619 แห่งเท่านั้น เผยปี 60 ได้ค่าปรับ 70ล้าน มากสุดเป็นเครื่องสำอาง รองลงมาเป็นอาหารเสริม
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัด สธ. นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.ณรงค์ ตั้งตรงไพโรจน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ปทุมธานี เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตเครื่องสำอาง บริษัท ปฐวิน จำกัด อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อดำเนินการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ.2561 ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 ภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2561
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบพบว่า เป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน มีการผลิตมายาวนานกว่า 28 ปี สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานสถานที่ผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น หากเป็นบริษัทรายใหม่ อย.และ สสจ.ทั่วประเทศ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ส่วนบริษัทรายเก่าจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายใน ส.ค.นี้ ซึ่งขอเตือนโรงงานผลิตเครื่องสำอางทุกรายให้ปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผลิตตามมาตรฐาน เพราะกฎหมายฉบับใหม่มีโทษสูงคือ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
นพ.วันชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตเครื่องสำอางว่าได้มาตรฐานหรือไม่ จะเป็นแบบสมัครใจ เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนด ทำให้มีโรงงานเพียงแค่ 194 รายที่ยื่นตรวจสอบมาตรฐานและได้มาตรฐาน GMP ส่วน จ.ปทุมธานีมีผู้ยื่นตรวจสอบและได้มาตรฐาน 21 ราย จากทั้งหมด 1,619 แห่งเท่านั้น ประกอบกับการให้ขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์หรือ E-Submission ทำให้จดแจ้งเครื่องสำอางได้ง่าย และนำไปผลิตเครื่องสำอางปลอมหรือใส่สารอันตราย ซึ่ง อย.ได้ปรับแก้ไขแล้ว โดยการออกประกาศวิธีการผลิตเครื่องสำอาง โดยการยื่นจดแจ้งจะต้องระบุสถานที่ผลิตที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระบบของ อย.แล้วเท่านั้น จึงต้องเร่งตรวจสอบาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เชื่อว่าภายหลัง ส.ค.2561 สถานการณ์เครื่องสำอางปลอมน่าจะดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการที่ดีเองก็ทำอย่างถูกต้อง
นพ.วันชัย กล่าวว่า การตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางถือเป็นเรื่องที่ดี หากตรวจสอบพบว่ามีการแอบใส่สารอันตรายลงไป อย่างพวกสารที่ทำให้ขาว เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน วิตามินเอแอซิด เป็นต้น ก็จะสั่งปิดโรงงานทันที สำหรับการตรวจสอบขึ้นทะเบียนมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่ามีกี่แห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ จะมีการรายงานผลให้ทราบเป็นระยะ และหลังจากตรวจสอบเสร็จจะมีการทำเป็นคลังข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้
ทั้งนี้สำหรับการจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมายในปี 2560 สามารถจับกุมได้หลายร้อยรายการ ส่วนค่าปรับ ใน ปี 2560 ที่ได้จากผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีมากถึง 70 ล้านบาท มากที่สุดคือกลุ่มเครื่องสำอาง รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับมาตรฐานโรงงานผลิตอาหารนั้น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมตรงนี้มานาน ส่งผลให้ต้องมีการตรวสอบมาตรฐานโรงงานผลิตก่อน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารที่ผ่านมาตรฐานทั้งสิ้น 51,744 แห่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |