ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์จะไม่ให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในการสอบสวนสงครามยาเสพติดของเขา ที่ถูกระบุว่าคร่าชีวิตคนหลายพันหรืออาจถึงหลายหมื่น โดยยืนกรานเมื่อวันอังคารว่าไอซีซีไม่มีอำนาจศาลในฟิลิปปินส์ ซึ่งถอนตัวออกมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน กล่าวว่า คำประกาศเปิดการสอบสวนการทำสงครามยาเสพติดของฟิลิปปินส์โดยฟาตู เบนซูดา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หรือ 1 วันก่อนหน้าที่เธอจะพ้นจากตำแหน่ง ระบุว่าอัยการไอซีซีได้ร้องขอต่อศาลอาชญากรรมสงครามถาวรเพียงแห่งเดียวของโลกแห่งนี้ ให้อำนาจการสอบสวนคำกล่าวหาว่าตำรวจฟิลิปปินส์ฆ่าพลเรือนหลายพันหรืออาจหลายหมื่นคนอย่างผิดกฎหมาย ระหว่างปี 2559-2562
ดูเตร์เตชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2559 ด้วยคำมั่นสัญญาระหว่างการหาเสียงว่าจะกำจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ เขาออกคำสั่งอย่างเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดได้หากชีวิตของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ตกอยู่ในอันตราย
ในคำแถลงเมื่อวันอังคาร แฮร์รี โรเก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีดูเตร์เตจะไม่ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของไอซีซีจนกว่าเขาจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เขายังย้ำเหตุผลเดิมด้วยว่า ไอซีซีไม่มีอำนาจตัดสินคดีในฟิลิปปินส์เพราะฟิลิปปินส์ถอนตัวจากตุลาการระหว่างประเทศแห่งนี้แล้ว
เอเอฟพีกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ถอนตัวจากไอซีซีเมื่อปี 2562 ภายหลังศาลแห่งนี้เปิดการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดของฟิลิปปินส์ แต่เบนซูดากล่าวว่า ไอซีซียังคงสามารถสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างที่ฟิลิปปินส์ยังเป็นสมาชิกของไอซีซีได้
เบนซูดากล่าวว่า ข้อมูลที่มีบ่งชี้ว่า สมาชิกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมการกระทำกับพวกเขา ได้สังหารพลเรือนหลายพันคนถึงหลายหมื่นคนอย่างผิดกฎหมายภายในช่วงเวลาที่สอบสวน
โรเกปฏิเสธคำกล่าวของอัยการผู้นี้ โดยบอกว่า การกล่าวว่าระบบยุติธรรมของประเทศนี้ใช้การไม่ได้นั้นถือเป็นการดูถูกชาวฟิลิปปินส์ทุกคน "เราจะถูกเปรียบเทียบกับประเทศอย่างดาร์ฟูร์ พื้นที่ที่ไม่มีรัฐบาลทำงานอยู่ ซึ่งไม่ถูกต้อง" เขาย้อน "หากมีการฆ่าเกิดขึ้น ก็เป็นการใช้ความรุนแรงและใช้กำลังอย่างเหมาะสม"
การปราบปรามยาเสพติดเป็นความริเริ่มด้านนโยบายสร้างชื่อของดูเตร์เต เขาปกป้องนโยบายนี้อย่างดุดัน โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์จากพวกผู้นำและสถาบันตะวันตกที่เขาบอกว่าไม่มีความใส่ใจฟิลิปปินส์
ข้อมูลของทางการระบุว่า มีคนโดนฆ่าตายมากกว่า 6,000 คนในปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดมากกว่า 200,000 ครั้งนับแต่เดือนกรกฎาคม 2559 แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประเมินกันว่าจำนวนผู้ที่โดนฆ่าตายมากกว่าตัวเลขนี้หลายเท่า ผู้ต้องสงสัยหลายรายถูกขึ้นบัญชีเฝ้าจับตายาเสพติดของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และถูกตำรวจบุกตรวจค้นบ้าน อันนำไปสู่สถานการณ์ที่บางครั้งจบลงด้วยการโดนเจ้าหน้าที่ยิงตายโดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตัว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |