15 มิ.ย.64- นพ.จรุง เมืองชนะ อดีต ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Charung Muangchana ถึงสาเหตุวัคซีนโควิดไม่มาตามนัดว่าในฐานะ ผอก.สถาบันวัคซีนคนเก่า ผมไม่แน่ใจว่าควรแสดงความเห็น กรณีวัคซีนโควิดไม่มาตามนัด ทั้งใน กทม. และอีกหลายจังหวัด, ตามคำเชิญของทีวีช่องใหญ่แห่งหนึ่งดีหรือไม่, ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะเห็นใจทุกฝ่าย การบริหารวัคซีนระดับชาติมันซับซ้อนกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน.
การบริหารยาและเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอกับความต้องการในภาวะระบาดหนักหน่วงว่ายากแล้ว แต่วัคซีนยากกว่าหลายเท่าครับ. เพราะวัคซีนเป็นสิ่งมีชีวิต หรือผลิตจากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต, มีความผันแปรได้สูงยิ่ง ต้องควบคุมคุณภาพกันอย่างเคร่งครัด ทุกขั้นทุกตอน, ต้องทำการเพาะเชื้อ, การเร่งผลิตเพิ่มปริมาณตามความต้องการในเวลาสั้นทำได้ยาก ถึงยากที่สุด, แม้กำไรมหาศาลล่อตาล่อใจบริษัทผู้ผลิตอยู่ทนโท่ก็ตาม. ความขาดแคลนและภาวะการแย่งวัคซีนในสถานการณ์ระบาดแบบแพนเดมิค(Pandemic)ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงพบได้ เป็นปัญหาในทุกหัวระแหง ทุกระดับ ทั่วโลก, เกิดกับทุกโรคที่มีการระบาดวงกว้าง ไม่เฉพาะโควิดวัคซีน.
ผมตั้งข้อสงสัยหรือสร้างสมมุติฐาน ว่าปัญหาสำคัญของวัคซีนไม่มาตามนัด มีเพียง 3 ประการหลัก
ประการแรก คือ วัคซีนมีน้อย และถูกใช้จนหมด ใช้แบบไม่เหมาะสม คลาดเคลื่อน ไปจากมาตรการและนโยบายที่วางไว้ ใช่หรือไม่?
แม้ข้อมูลผลการกระจายและฉีดวัคซีน กว่า 7 ล้านโด๊ส ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึงเมื่อวาน 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้ว 100.9% จากเป้าหมาย 712,000 คน
ข้อมูลนี้ทำให้ชื่นใจ สะท้อนว่าเราทำได้ นั่นคือระบบการบริหารและการให้บริการวัคซีนของรัฐบาลที่มีอยู่มีประสิทธิภาพพอสมควร และประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง, เป็นไปตามวัคซีนโรดแมป(Vaccine roadmap) ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่กำหนดไว้ว่า เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขเอาไว้ ปล่อยให้ล่มไม่ได้เด็ดขาด.
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขมันฟ้อง ว่าเปอร์เซ็นต์การได้รับวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายอื่นในโรดแมปดังกล่าว มันผิดเพี้ยนไป. เพื่อลดการป่วยรุนแรงและการป่วยตายให้ได้มากที่สุด นี่คือคำตอบว่าทำไมผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จึงถูก WHO จัดไว้ให้อยู่แถวหน้า เป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนใคร, รองลงมา. แต่ผลการให้วัคซีนกลับตาลปัตร คือ ผู้สูงอายุ ได้รับเพียง 0.3% และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับ 1.5% ถูกแซงนำหน้าโดยประชาชนคนทั่วไป ซึ่งได้รับ 2.0% อย่างไม่น่าเชื่อ. ดูตัวเลขเปอร์เซ็นต์เหมือนไม่มาก แต่คิดเป็นจำนวนวัคซีนกว่าสองล้านโด๊สเลยทีเดียว
ข้อมูลผลการฉีดวัคซีนดังกล่าว สะท้อนว่าการปฏิบัติการไม่เป็นไปตามแผนและนโยบายเสียแล้ว, ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัคซีนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะต้องสูญเสียวัคซีนไปให้กลุ่มที่ยังไม่ถึงเวลา (ประชาชนทั่วไป) กว่า 2.5 ล้านโด๊ส หรือ 40.8% ของวัคซีนที่ได้รับ*
ในสถานการณ์วัคซีนยังมีน้อยถึงน้อยมาก, WHO แนะนำ เน้นแล้วเน้นอีกให้ใช้เฉพาะกับพื้นที่ระบาด สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ดังกล่าวแล้ว ตามลำดับ เท่านั้น. ขัดกับข่าวคราวที่ได้ยินหนาหู, คงเป็นที่มาของปัญหาวัคซีนเดินไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่น นำวัคซีนจำนวนมากไปปูพรมให้ประชาชนคนทั่วไปในบางแห่ง หรือแม้แต่การดึงไปให้กลุ่มอื่น ๆ ตามแต่จะสรรหาเหตุผล ดังที่หลายคนให้คำนิยามจนมองเห็นภาพ ว่า "วัคซีนการเมือง". ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ว่าเป็นการใช้อำนาจบารมีเพราะหวังดีหรือหวังเสียงกันแน่ แต่ที่ชัดเจน คือ กลุ่มที่เสี่ยงกว่าได้รับวัคซีนช้าลงอีกโข.
ขอย้ำว่า คำแนะนำของ WHO มีการทดสอบผลกระทบหรือผลได้ทางคณิตศาสตร์และสถิติ หรือที่เรียกกันว่าการทำโมเดล (Modeling) ในภาพกว้างระดับประเทศมาก่อนแล้ว สำหรับการเลือกให้วัคซีนในกลุ่มต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด, มันยากมากที่จะมโน จินตนาการในสมองมนุษย์ เพราะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย พร้อม ๆ กัน เกือบทุกด้าน ที่ส่งผลถึงประโยชน์สูงสุดในภาพรวมที่ประเทศและนานาชาติจะได้รับจากแต่ละมาตรการ.
ประการที่สอง การประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานแต่ละระดับไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอในการดำเนินงานให้สอดรับกัน ใช่หรือไม่?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงรุก การคาดการณ์ที่ใกล้เคียง ทั้งปริมาณวัคซีนภาพรวมระดับประเทศ และการแบ่งสันปันส่วนให้พื้นที่เป็นการล่วงหน้า เป็นรายสัปดาห์ ตามสถานการณ์ระบาดและประชากรกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่, ผมยังค้นเอกสารเหล่านี้ไม่เจอเลย, หรือมันเป็นความลับดับมืด ที่เปิดเผยไม่ได้ หรือถูกตัดหน้าแย่งวัคซีนไปใช้นอกแผน หรือต้องเกรงใจใครบางคนมากกว่ากลัวการสูญเสียชีวิตของประชาชนหรือไม่. เท่าที่ค้นพบ คือ การแถลงข่าว ว่ากรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนตามเกณฑ์และนโยบายของ ศบค. แล้ว, ส่วนการนำวัคซีนไปใช้หรือกระจายต่อ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลน หรือวัคซีนมาไม่ทันเวลา เป็นหน้าที่ของพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเอง.
เรื่องนี้ พรบ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 วางแนวทางการดำเนินการไว้แล้ว โดยให้อำนาจคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ในการจำกัดสิทธิประชาชนและนิติบุคคล เพื่อบริหารจัดการวัคซีนให้มีใช้อย่างเพียงพอภายในประเทศ ทั้งการสนับสนุนการนำเข้า ควบคุมการผลิต และการส่งออกวัคซีน รวมถึงการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูล, จึงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่มีข้อมูลประมาณการปริมาณวัคซีนรายสัปดาห์ ที่ควรแจ้งให้หน่วยล่างรับทราบล่วงหน้า เพื่อการวางแผนจัดบริการวัคซีนอย่างเหมาะสมต่อไปได้.
ประการที่สาม การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามประเมินผลเชิงนโยบายยังไม่เพียงพอ ยังตื้นเกินไปหรือไม่. ใครได้รับวัคซีนครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์เสนอกันแต่ภาพรวมทั้งประเทศ ผิวเผิน มิอาจใช้สะท้อนว่าการดำเนินการให้วัคซีนสอดรับกับมาตรการและนโยบายดีเพียงไร ในแต่ละพื้นที่ และหน่วยงาน?
ควรนำข้อมูลการได้รับวัคซีนมาจำแนกแยกแยะ ว่ากลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนในแต่ละพื้นที่เป็นสัดส่วนตามสถานการณ์การระบาดหรือไม่ เช่น มีข่าวว่าบางจังหวัดมีผู้ป่วยน้อยแต่ได้วัคซีนมากกว่าใครเขา บางข่าวแจ้งว่าคุณหญิงคุณนายจากต่างจังหวัดใช้เส้นสายมารับวัคซีนถึงเมืองกรุง บอกแต่เพียงโค้ดลับก็ได้รับวัคซีนสมใจ ฯลฯ
นอกจากการสอบสวนความผิดปกติเฉพาะเหตุการณ์แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จำแนกรายพื้นที่ และหน่วยงาน จะช่วยตอบคำถามได้เช่นกันว่าระดับปฏิบัติการสอดรับกับนโยบายและมาตรการที่วางไว้หรือไม่.
ตัวอย่างของการได้รับวัคซีนในภาวะปกติ ก็เป็นปัญหาทำนองเดียวกัน, ท่านเชื่อไหมใน พ.ศ. นี้ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานกว่า 10 โรค ของคนไทย ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่าหรือเป็นไปตามเป้าหมายเกือบทุกตัว บางตัวค่าเฉลี่ยเฉียดร้อยเปอร์เซ็นต์, แต่หากหันไปมองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ความครอบคลุมต่ำจนน่าใจหาย, ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าประเทศยากจนในอัฟริกาเสียอีก.
ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าแตกข้อมูลจำแนกแยกย่อยไปถึงระดับพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ เราอาจจะเจอการกระจายวัคซีนโควิดที่บิดเบี้ยวอย่างมโหฬารในบางแห่ง หรือบางหน่วยอย่างแน่นอน ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกันไปบ้างแล้ว
ปรมาจารย์ทางระบาดวิทยาสากลแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ ว่าคำพูดและความคิดเห็นของคนหรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อถือได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์อื่น ๆ, เพราะคำพูดและความเห็นของคนมักมีอคติ(Bias) เจือปนอยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ. ใช่ครับ เราควรเชื่อข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและวิเคราะห์กันมาอย่างดีแล้วมากกว่า ชาติจะได้เจริญ หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางเสียที.
*วิธีคำนวณ:
(1)จำนวนวัคซีนที่ใช้ในประชาชนทั่วไป 2.5 ล้านโด๊ส
(2)จำนวนวัคซีนที่กระจายออกไปทั้งหมด 7.0 ล้านโด๊ส
ดังนั้น การใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไป เมื่อเทียบกับวัคซีนที่กระจายทั้งหมด = (2.5/7.0)×100 =40.8%
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |