ป.ป.ช.โชว์ลุยงานเชิงรุกเร่งสางคดีเก่าไปกว่า 8-9 พันคดี พร้อมแจงความคืบหน้า 15 คดีสำคัญ ชี้มูลคดี "พ.ต.อ.สมพงศ์" สมัยนั่ง ผกก.สภ.ทุ่งสง โกงเบี้ยเลี้ยงโควิดลูกน้อง ฟันอาญาและวินัยร้ายแรง "ตร." รับลูกเร่งเชือดวินัยไม่เกิน 30 วัน ส่วน "อนุฯ กลั่นกรอง" เตรียมชง ป.ป.ช.ชุดใหญ่ สั่งไต่สวนข้อเท็จจริงคดี “บอส อยู่วิทยา” หลังพบอัยการ-ตร.กว่า 10 รายเอี่ยวไม่ฟ้องคดีอาญา? มีระดับบิ๊ก “พล.ต.อ.” ถึง? 2 ราย
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 14 มิ.ย. สำนักงาน ป.ป.ช.จัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนผ่านระบบ Zoom ในการติดตามความคืบหน้า 15 คดีสำคัญ โดยมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีก 3 ราย ได้แก่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล, นายอุทิศ บัวศรี, นายพิเชษฐ์ พุ่มพันธ์ และผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมกิจกรรม
นายวรวิทย์แถลงว่า ภาพรวมคดีทั้งหมดในปีงบประมาณ 2564 (ระหว่าง ต.ค.2563-พ.ค.2564) มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาทั้งสิ้น 4,920 เรื่อง ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 รวม 1,403 เรื่อง มีคดีอย่างน้อย 8,000-9,000 คดีที่เป็นคดีเก่า เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 ก.ค.2561 ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 22 ก.ค.2564 โดยคาดว่าจะทำแล้วเสร็จตามเป้าประมาณ 90% แต่เนื่องจากขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 อาจมีบางคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจเข้ามาให้การได้ อาจมีล่าช้าอะไรไปบ้าง แต่จะพยายามให้อย่างน้อยไม่เกินปีงบประมาณ 2564 หรือภายในเดือน ก.ย.นี้ เบื้องต้นเท่าที่ดูมีประมาณ 10 คดี ยืนยันว่าทำงานอย่างเข้มข้นทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้า 15 คดีสำคัญนั้น 1.คดีทุจริตการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ปี 2556 ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป 2.คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2557 ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 3.คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝายแม้ว) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 5.คดีเงินทอนวัดมีคดีทั้งสิ้น 98 คดี ทำเสร็จไปแล้ว 52 คดี เหลืออยู่ 46 คดี 7.คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอล มีทั้งหมด 28 คดี เสร็จแล้ว 7 คดี เหลือ 21 คดี 8.คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้าเครื่องยนต์อิสระทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง (คดีภาษีรถหรู) มีการชี้มูลความผิดไปแล้ว 9.คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 อยู่ระหว่างพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา
10.คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 11.คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขารวก-ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ มีผู้เกี่ยวข้อง 24 ราย 13.คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน และป่าเขื่อนลั่น อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา สรุปสำนวนเสร็จแล้ว 14.คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย หรือคดีปาล์มอินโดฯ คดีนี้เป็นมหากาพย์ และ 15.คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า? ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณากรณีกล่าวหา พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.ทุ่งสง? จ.นครศรีธรรมราช โดยปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดสรรเงินค่าตอบแทน (ค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19) ให้ สภ.ภูธรทุ่งสง เพื่อเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในอัตราคนละ 60 บาทต่อชั่วโมง เบิกจ่ายเท่ากับที่ปฏิบัติงานจริงแต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน
ต่อมา สภ.ทุ่งสงได้ประชุมประจำเดือน ก.ย.63 มี พ.ต.อ.สมพงศ์เป็นประธานที่ประชุมร่วมกับตำรวจ 200 นาย ที่ประชุมได้ชี้แจงเกี่ยวกับการได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงของตำรวจ โดย พ.ต.อ.สมพงศ์ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณและวิธีการเบิกจ่ายให้ในที่ประชุมทราบ โดยในส่วนของจำนวนเงินค่าเบี้ยเลี้ยงโควิดนั้น พ.ต.อ.สมพงศ์ได้สั่งการให้ตำรวจทุกนายของ สภ.ทุ่งสงมีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนรายละ 15,000 บาท ตำรวจที่ได้รับเงินเกินจาก 15,000 บาท นำไปบริจาคให้ สภ.ทุ่งสง เพื่อนำไปให้ตำรวจที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท เพื่อความเท่าเทียมกัน เงินที่เหลือจากการปันส่วนให้เก็บไว้เป็นกองกลางเป็นเงินบริหาร พ.ต.อ.สมพงศ์ทราบดีอยู่แล้วว่าเงินค่าเบี้ยเลี้ยงโควิด ต่อมาว่าสภ.ทุ่งสงได้เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยเลี้ยงโควิดนำไปจัดสรรดังกล่าวแก่ตำรวจที่ไม่มีสิทธิจะได้รับ ตำรวจรายใดไม่เห็นด้วยและไม่ยอมนำเงินมาคืน พ.ต.อ.สมพงศ์จะออกคำสั่งย้ายปรับเปลี่ยนหน้าที่
"ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของ พ.ต.อ.สมพงศ์มีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2563 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรส่งรายงานและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อไป" โฆษก ป.ป.ช.กล่าว
จากนั้น นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตว่า ภายหลังได้รับเอกสารการสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการชุดนายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการกลั่นกรอง และมีการพิจารณาวินิจฉัยว่ามีมูลเบื้องต้น จึงได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อสั่งไต่สวนข้อเท็จจริง สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาเท่าที่จำได้มีประมาณ 10 คนขึ้นไป และเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องมีทั้งตำรวจและอัยการ
ถามว่ากรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเทปบันทึกเสียงในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถนายวรยุทธ อาจได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้หรือไม่ นายนิวัติไชยกล่าวว่า หากมีข้อสงสัยว่าเอกสารหลักฐานเท็จหรือจริง ทาง ป.ป.ช.จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิสูจน์หลักฐานเพื่อรับรองว่าเป็นจริงหรือไม่ ก่อนที่จะใช้นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดี ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง
มีรายงานว่า บุคคลที่กำลังจะมีการเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนในคดีนี้ มีประมาณ 10 คน มีทั้งอัยการและตำรวจ ซึ่งทั้งหมดมีชื่ออยู่ในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชาเป็นประธาน ทั้งนี้ พบว่าในส่วนของตำรวจที่ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวน ยศสูงสุดคือ พล.ต.อ. จำนวน 2 ราย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี พ.ต.อ.สมพงศ์ที่ป.ป.ช.ชี้มูลนั้น ตามขั้นตอน ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการในอำนาจ ก็จะมีการดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยร้ายแรงตามฐานความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาดังกล่าวต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการภายใน 30 วัน
"เรื่องเบี้ยเลี้ยงตำรวจช่วงโควิดพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้จเรตำรวจฯ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีที่ปรากฏว่ามีการร้องเรียน ตั้งแต่ช่วง ต.ค.2563 โดยมีการตรวจสอบ จนนำไปสู่การดำเนินการตั้งกรรมการทางวินัยไปแล้ว 10 บช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง และสอบสวนทางวินัย รวมแล้วกว่า 200 นาย" จเรตำรวจแห่งชาติกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |