"บิ๊กตู่" เจอวุฒิสภาลองของ ไม่มีใครยกมือให้หลังถามมีใครเชื่อมั่นบ้าง บ่นพึม "มีคนไล่ผมแล้ว ในนี้ไม่มีพวก" ลั่นพร้อมสู้ ทุกวันนี้มีคนไล่ แต่จะบอกว่า "ยิ่งไล่ ผมยิ่งสู้” ลั่นอยู่จนครบเทอม "เสี่ยอ้วน" ปล่อยข่าวยุบสภาไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อไทยไม่เข็ด เตรียมเสนอแก้ รธน.ตั้ง ส.ส.ร.อีกรอบ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าว
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ผมต้องทำตัวของผมให้มีเกียรติ ให้คนอื่นยกย่อง เชื่อมั่น ผมทำดีเขาก็ให้เกียรติผม ผมทำไม่ดีก็ไม่ต้องให้เกียรติ และฝากไว้ด้วยถ้ามีการเลือกตั้งในอนาคต ผมยืนยันอยู่จนครบ จะได้เลิกพูดกันเสียที วันหน้าเลือกให้ดีก็แล้วกัน”
นายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ผมไม่เคยคิดถึงตัวเอง ไม่เคยเลยจริงๆ ทำงานทุกวัน คิดงานทุกวัน ฝันยังเป็นงาน ไม่เคยฝันเป็นอย่างอื่น อยากจะฝันก็ไม่ได้"
ทั้งนี้ ระหว่างนายกรัฐมนตรีชี้แจง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ส่งข้อความเตือนให้ตอบคำถามหลังอภิปรายเสร็จ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มีคนไล่ผมแล้ว ในนี้ไม่มีพวก" ก่อนจะถามขึ้นว่า ในนี้มีใครไม่เชื่อมั่นตนหรือไม่ขอให้ยกมือ ปรากฏว่าไม่มีใครยกมือ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขึ้นว่า “ก็ไม่มี ผมบังคับไม่ได้ ผมเคารพท่าน 5-7 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยยุ่งกับพวกท่าน ผมเชื่อมั่นในวุฒิภาวะ ผมแก้ปัญหาทุกเรื่องที่พะรุงพะรัง ผมพร้อมสู้ ทุกวันนี้มีคนไล่ผม แต่จะบอกว่ายิ่งไล่ ผมยิ่งสู้”
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นในโอกาสรำลึก 24 มิถุนายน 2564 89 ปี ของการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยว่า ภาพที่ปรากฏและเห็นกันประจักษ์ชัดทางการเมืองวันนี้ คือ ภาพจริงของรัฐบาลที่บริหารไม่เป็น ไม่น่าแปลกใจว่าแต่ละครั้งที่นายกฯ ปรากฏตัว กลับเป็นทุกครั้งที่ตอกย้ำภาพผู้นำที่ไร้ศักยภาพ ขาดวุฒิภาวะ ถนัดแต่พูดก่นด่า ตำหนิผู้คนไปทั่ว และไม่เคยตอบคำถามเชิงเหตุผล ไม่เคยสร้างความหวังแม้เพียงเล็กน้อยให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจ
เขาเชื่อว่าแม้จะไม่ราบรื่น แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็จะยังคงพยายามประคับประคองผลประโยชน์ของทุกฝ่ายต่อไปจนถึงที่สุด เชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปได้ที่สุดคือ รัฐบาลจะพยายามประคองให้ผ่านงบไป อย่างน้อยรัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างน้อยสัก 3 เดือน หรือ 90 วัน (เพื่อให้งบประมาณได้เริ่มใช้) และต้องพยายามแก้ รธน.รายมาตรา ที่จะทำให้พวกเขาได้ประโยชน์สูงสุด
"การยุบสภาจึงอาจจะเกิดขึ้น เร็วที่สุดคือในช่วงไตรมาสแรกของปีปฏิทิน 2565 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เป็นไปได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ"
'เสกสกล'ตอกหมอเดา
นายภูมิธรรมระบุว่า เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งก่อนยุบสภาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการทำให้เร็วที่สุดก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง คือการแก้เป็นรายมาตรา โดยเลือกแก้ในสาระที่รัฐบาลจะได้เปรียบและเกิดประโยชน์สูงสุดในตอนเลือกตั้ง โดยใช้บัตร 2 ใบ ที่ พปชร.เชื่อว่าตนจะได้ประโยชน์สูงสุด และเกิดประโยชน์ต่อพรรคใหญ่
ด้านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี แย้งว่า นายภูมิธรรมควรใช้สมองไตร่ตรองก่อนจะออกมาพูดหรือโพสต์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ที่นายกฯ จะยุบสภา ทั้งการทำงานในสภายังเป็นไปได้ด้วยดี รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลยังทำงานเป็นเอกภาพ ไม่มีสัญญาณการถอนตัว เพราะรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ดี ที่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ได้คิดถึงประเด็นทางการเมือง
“คุณภูมิธรรมถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี ก็ขอทำตัวให้เหมาะสม อย่าทำตัวเป็นหมอเดา เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ นอกจากนี้ขออย่าพูดเอาดีใส่ตัว และหวังผลประโยชน์ให้กับพรรค ตนเข้าใจดีว่าพรรคเพื่อไทยอยากเข้ามาเป็นรัฐบาลมากจนลืมจริยธรรม มารยาททางการเมือง อยากมาเป็นรัฐบาลขอให้เข้ามาตามกระบวนการ อย่าหวังลมๆ แล้งๆ รอนายกฯ ยุบสภาหรือลาออก ยืนยันนายกฯ อยู่ครบเทอม ให้นับวันรอว่าครบ 4 ปีค่อยไปลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง"
ที่พรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคปวงชนไทย และตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมประชุมพรรคหารือถึงความพร้อมในการเตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ชงแก้รธน.ตั้งสสร.อีกรอบ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องการให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จากนั้นค่อยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระถัดไป พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น โดยเฉพาะที่มานายกฯ ตามมาตรา 272 ทุกพรรคเห็นพ้องในทิศทางเดียวกัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสนอ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะมีประชุมร่วมวิป 4 ฝ่ายในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดวาระประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22 มิ.ย.นี้
ด้านนายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกล ไม่ร่วมสังฆกรรมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา 22 มิ.ย. ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องนำมาสู้วาระการประชุมเพื่อพิจารณาเป็นอันดับแรก ต้องจัดลำดับความสำคัญของกฎหมาย เป้าหมายของเราต้องการแก้วิกฤติโดยมีโจทย์เพื่อแก้ไขอำนาจ ส.ว.ที่เคยเสนอมาตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าจะลงชื่อร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สนับสนุนตามหลักการระบบรัฐสภา แต่มองว่าการนำเสนอวาระการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่รัฐบาลขอเป็นวาระพิเศษนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง รัฐบาลไม่มีหน้าที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ยกเว้นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น พ.ร.ก.ขอร้องให้ประธานสภาฯ ใช้อำนาจทำหน้าที่ในเรื่องการบรรจุระเบียบวาระ เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมก่อน หากรัฐบาลขอร้องให้รัฐสภาบรรจุเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เท่ากับว่ารัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้วิกฤติของประเทศ อยากให้ประชาชนช่วยติดตามใกล้ชิดและผลักดันรัฐธรรมนูญเพื่อแก้วิกฤติของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รู้อยู่ว่าเกิดวิกฤติประเทศอย่างไร ใครได้ประโยชน์ต่อระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ และต้องการคงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้มากที่สุด
ขณะที่นายไพบูลย์? นิติตะวัน? ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องเอา คำว่าพรรคร่วมรัฐบาลออกไปก่อน เพราะการแก้ไขเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ฉะนั้นการที่พรรคการเมืองต่างๆ มีความเห็นไปคนละอย่าง บางเรื่องตรงกัน บางเรื่องไม่ตรงกัน ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ทำได้ แต่สุดท้ายร่างใดจะเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจริงได้ ก็ขึ้นอยู่กับการออกเสียงลงมติของที่ประชุม อย่างไรก็ตาม? เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร. เป็นแนวทางประนีประนอมกับทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายค้านด้วย เช่น ประเด็นการแก้ระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตร 2 ใบแบบเดิม ดังนั้นร่างที่เสนอมาเราคำนึงถึงทุกฝ่ายมากที่สุด และมองความเป็นไปได้ว่าจะได้เสียงเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |