ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการตื่นตัวเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมมาตลอดเวลา และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่ประเทศผู้นำระดับโลกได้เริ่มมุ่งความสนใจไปยังประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยมีการประกาศแผนการดำเนินงานสำคัญต่างๆ ออกมา ยิ่งเป็นสัญญาณที่ต้องทำให้ทุกประเทศปรับตัวเพื่อไม่ให้ตกขบวน เนื่องจากในอนาคตการดูแลสิ่งแวดล้อมเหมือนจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ
ด้วยเหตุนี้เองแม้ประเทศไทยจะมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยิ่งใหญ่พอสมควร จึงเกิดคำถามขึ้นว่า การดำเนินงานของประเทศไทยนั้นไปในแนวทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่? และผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด คือผู้ที่ต้องทำงานด้านนี้จนมีความเชี่ยวชาญ และมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ดีที่สุด
นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนักวิชาการ คนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีในวงการสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายปี จึงถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่จะตอบคำถามด้านนี้ได้ดีที่สุด
ภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ประเทศไทยถือว่ามีการทำงานด้านนี้มาโดยตลอด จุดแข็งของประเทศไทยคือการมีหน่วยงาน มีกฎหมาย และแผนการทำงานในทุกระดับ รวมทั้งยังมีคณะกรรมการระดับชาติครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ทะเล ที่ดิน แร่ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่สภาพภูมิอากาศ และถูกกำกับดูแลจากระดับรองนายกฯ นั่งเป็นประธาน เมื่อมาดูที่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีกว่า 50 ฉบับ และจะมีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในหลายๆ เรื่องอยู่ระหว่างการจัดทำใกล้จะออกมาบังคับใช้แล้ว
แต่ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน ต้องยอมรับว่าการทำงานของประเทศในด้านนี้ไม่ได้บูรณาการร่วมกันในหลายเรื่อง แม้ว่าจะมีของในมือเยอะก็ตาม เพราะว่าการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นการแยกส่วนการดูแล แต่ละคณะกรรมการจะมีแผน นโยบายหรือแผนแม่บทอยู่แล้ว แต่เมื่อนำไปสู่การใช้จริงนั้นมักเกิดปัญหา และสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอคือเรื่องการของบประมาณ
เนื่องจากแผนเหล่านั้นมักจะเกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานของหลายๆ กระทรวง และแต่ละกระทรวงเมื่อไปของบมาดำเนินงานจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ในบางกรณีงบประมาณอาจจะไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานนั้น จากแผนที่ควรจะทำประกอบกันจากภารกิจของหลายหน่วยงาน ก็ไม่มีงบประมาณในการดำเนินงานให้ครบ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ แผนงานที่จำเป็นต้องทำเป็นเรื่องแรกๆ อาจจะไม่ได้งบมาดำเนินการ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนต่อไป
และอีกจุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ควร ก็คือความไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถึงแม้ว่าในประเทศจะมีกฎหมายอยู่จำนวนมาก แต่ก็ถูกจัดทำและร่างขึ้นมาในช่วงต้นปี 2500 ออกมาในช่วงที่ประเทศไทยเปลี่ยนกติกาและรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และในปัจจุบันยังมีกฎหมายหลายตัวที่ไม่ได้มีการแก้ไข ซึ่งถือเป็นการกำกับดูแลที่เก่าและย้อนหลังไปกว่า 30 ปี ในเรื่องความเท่าทันในการเปลี่ยนแปลงจึงล่าช้า
รวมถึงประเทศไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย กฎหมายเหล่านั้นเมื่อจะถูกแก้ไขแต่อยู่ในช่วงที่ต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงถูกล้มเลิกไปและทำขึ้นมาใหม่ จึงถือว่าตกขบวน และอีกกรณีหนึ่งก็คือ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบ ห้าม บังคับ และมีบทลงโทษ แต่กฎหมายในเชิงส่งเสริม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสร้างแรงจูงใจในทางบวก ที่มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มีอยู่น้อย ถึงที่ผ่านมาจะมีการพยายามที่จะร่างกฎหมายรูปแบบดังกล่าวขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สำเร็จเลยสักครั้ง
ความตื่นตัวของภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม
ภาคเอกชนที่ตื่นตัวขึ้นมาในปัจจุบันเป็นทิศทางที่ดี หลายๆ หน่วยงานจะต้องมีแผนดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของโลก อาทิ การออกประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่กำหนดว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการรายงาน ESG หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศบนโลกมีการกำหนดการดูแลสิ่งแวดล้อมจากสินค้าหรือการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ ที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่มีการดูแลที่ดีพอก็อาจจะไม่สามารถทำการซื้อขายในประเทศนั้นได้
ประเทศไทยกับพลังงานทดแทน
ความชัดเจนของการผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการตอบสนองด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยเองในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะด้านที่เห็นชัดที่สุดคือเรื่องของมลภาวะและขยะ จึงเกิดแผนพลังงานหรือการใช้พลังงานที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของประเทศที่มีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าจะเป็นการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
]
ขณะเดียวกัน การใช้พลังงานทดแทนก็เป็นแนวทางการดำเนินงานของแผนพลังงานด้วยเช่นกัน โดยมีการกำหนดอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ที่มีการกำหนดสัดส่วนของพลังงานทดแทนที่ต้องมีในประเทศไทย อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อภาคเอกชนใช้พลังงานสะอาด หรือมีการดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะไปเข้ากับกลไลการค้าที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ โดยในหลายประเทศมีการดำเนินเรื่องการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในขั้นตอนการดำเนินงานแล้ว
พื้นที่อีอีซีกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่อีอีซีนั้นเป็นพื้นที่ที่ต้องการจะส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายสมัยใหม่ (นิวเอส-เคิร์ฟ) ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาด ซึ่งเมื่อการลงทุนนั้นเกิดขึ้นอย่างครบวงจร เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีปัจจัยที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เมื่อเทียบกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ของอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม เนื่องจากพื้นที่นั้นจะเน้นการลงทุนที่เป็นปิโตรเคมี อาจจะทำให้เกิดมลพิษจนต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบันพื้นที่อีอีซีการลงทุนยังมีอยู่น้อย ที่พอเห็นในตอนนี้จะมีด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ขณะที่นิวเอส-เคิร์ฟตัวอื่นๆ เช่น เมดิคอลหรือด้านเทคโนโลยีและโรโบติกส์ยังเห็นน้อยอยู่ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัจจัยที่กระทบต่อปัญหาการลงทุนอย่างโควิด-19 ด้วย แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปอาจจะชัดเจนขึ้น เพราะทิศทางของภาคอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปแล้ว
ขณะเดียวกันพื้นที่อีอีซีมีกรรมการพัฒนาที่ชัดเจน มีกฎหมายและข้อบังคับหลายมาตราที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ซึ่งมีแผนงานที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอยู่ด้วย โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงมีอยู่ คือเรื่องการจัดการขยะ กับการดูแลสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่ออกมาจากกระบวนการด้านปิโตรเคมีและการใช้ยานพาหนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ให้ลุล่วง และวางระบบให้เหมาะกับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป
และเมื่อพูดถึงแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ผู้ที่จะพูดได้ดีที่สุดคงเป็นผู้ที่ทำงานในส่วนนั้น โดย นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมกำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี ได้อธิบายแผนงานดังกล่าวไว้ดังนี้
อีอีซีได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561-2564 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ จัดทำแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ได้รับทราบในหลักการร่างแผนสิ่งแวดล้อมในอีอีซี พ.ศ.2561-2564 ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2562 ทั้งนี้ แนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซีมี 4 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ความสำคัญกับการลดมลพิษ เน้นบำบัด กำจัดของเสีย และควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเร่งกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดในพื้นที่ การป้องกันและลดความเสี่ยงจากอุบัติภัยสารเคมี พัฒนาระบบประกันความเสี่ยงของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง และชุมชนน่าอยู่ ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ป่าในเมือง เพิ่มพื้นที่ดูดซับมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี) และเมืองการบินภาคตะวันออก ในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางผังใช้ประโยชน์ที่ดินและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้รองรับคนทุกกลุ่ม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิต บริการ และบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหมู่บ้าน, อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธาร ทรัพยากรดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต ส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศ และลดการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมลงไม่น้อยกว่า 10% ในแต่ละจังหวัด
การดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นกรอบแนวทางบริหารจัดการที่เน้นจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เตรียมความพร้อม รู้เท่าทัน การจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต ของพื้นที่อีอีซี และเชื่อว่าจะสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต อยู่ในสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดีได้มาตรฐานสากล ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างสมดุลเป็นธรรมแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |