โยนกลองเลื่อนฉีด! หมอหนูซัดเป็นแพะทำคุณบูชาโทษ/กทม.ยันพร้อมแต่ไร้วัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

  โกลาหลวัคซีน! รพ.แห่เลื่อนฉีดตั้งแต่ 14 มิ.ย.เป็นต้นไป อ้างไม่ได้รับจัดสรรเพียงพอ “อนุทิน" ผนึกบิ๊กสธ.เรียงหน้าแจงยิบกระจายวัคซีนตามแผน ศบค.ยัน 2 สัปดาห์ส่งให้ กทม.ไปแล้ว 5 แสนโดส ซัดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯบริหารจัดการ ปรี๊ดตกเป็นแพะทำคุณบูชาโทษ กทม.โต้ไม่เกี่ยวกลุ่มลงทะเบียนหมอพร้อม แพทย์ชนบทโดดป้อง "เสี่ยหนู" อย่ารุมสกรัมผิดคน ชี้ "บิ๊กตู่" ต้นเหตุต้องรับผิดชอบเต็มๆ

    เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ตามที่รัฐบาลประกาศยกระดับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ และเริ่มคิกออฟทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.นั้น ปรากฏว่า วันนี้ (13 มิ.ย.) โรงพยาบาล (รพ.) หลายแห่งทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดได้ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป หลังมีปัญหาการกระจายวัคซีน เช่น ในพื้นที่ กทม. รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ออกประกาศเลื่อนการฉีดในวันที่ 14-20 มิ.ย. โดยระบุว่าเนื่องจากโรงพยาบาลยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค) ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลได้รับการจัดสรรวัคซีนมาเมื่อใด จะแจ้งให้ท่านได้รับทราบทาง SMS โดยเร็วที่สุด เพื่อมารับการฉีดวัคซีนต่อไป หากท่านมีข้อสงสัย โปรดสอบถาม Call Center หมอพร้อม 0-2792-2333 ระหว่างเวลา 09.00- 17.00 น.
    เช่นเดียวกันกับ รพ.เอกชนชื่อดังในกทม.และปริมณฑล อาทิ รพ.พญาไท,  รพ.กรุงเทพ, รพ.พระราม 9, รพ.เวชธานี, รพ.เทพธารินทร์, รพ.ธนบุรี, รพ.ศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ, รพ.มงกุฎวัฒนะ, รพ.เกษมราษฎร์, รพ.นมะรักษ์ ได้โพสต์ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กเลื่อนนัดฉีดวัคซีนในวันที่ 14-20 มิ.ย.  สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนจองในระบบหมอพร้อม โดยชี้แจงในทำนองเดียวกันว่ายังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากทางภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงด้านการกระจายวัคซีน หากได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม จะแจ้งให้ประชาชนเข้ารับบริการอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ รพ.นมะรักษ์ ลงท้ายคำประกาศด้วยว่า "หากมีข้อสงสัยสอบถามคอลเซ็นเตอร์ หรือติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามสาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง" แต่ต่อมาได้แก้ไขโพสต์ใหม่ว่าให้ “ติดต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง” แทน
    โดย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้ร่วมก่อตั้ง รพ.นมะรักษ์ ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณีที่ รพ.โพสต์ข้อความดังกล่าวว่า  "เจ้าหน้าที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หมอในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด แต่ทุกเรื่องมีที่มาที่ไป หากใครติดตามเฟซบุ๊กหมอ จะเคยพูดเรื่องวัคซีน การฉีดวัคซีนเหมือนการจองตั๋วคอนเสิร์ตในแง่ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทุกคนอยากได้วัคซีน การให้วัคซีนถือเป็นวาระแห่งชาติ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นวิกฤติ และหมอเห็นความยากลำบากของคนในกระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. และทุกโรงพยาบาลที่เข้ามาช่วยกันรักษา ฉีดวัคซีน หากย้อนไปวันที่ 1 พ.ค. มีการลงทะเบียนหมอพร้อม ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง เกิดความโกลาหล ลงลำบาก จนมีการแก้ระบบ หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ที่บอกว่าประชาชนทั่วไปลงได้ แต่สุดท้ายก็ลงไม่ได้ หรือผู้สูงอายุ ลงไปสักระยะมีข่าววอล์กอิน เรื่องเหล่านี้ประชาชนเข้าใจได้หากสื่อสารดี"
    ขณะที่ นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม รพ.ศิริราช ชี้แจงกรณีประกาศของ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และประกาศของศูนย์การแพทย์ กาญจนาภิเษก ที่เลื่อนนัดการฉีดวัคซีนในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ว่า ไม่สามารถสรุปใช้คำว่า “ศิริราช” ได้ เพราะทั้ง 2 โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อป้องกันประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ โดยสรุปล่าสุดการฉีดวัคซีนใน รพ.ศิริราช จะสามารถดำเนินการฉีดต่อไปได้ตามกำหนดนัดหมายเดิม
ซัดกทม.เหตุวัคซีนโกลาหล
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดสรรวัคซีนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วไป 5 แสนโดส จากที่ตกลงกันไว้ 1 ล้านโดส นี่ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ กระทรวงส่งให้ กทม.ไปครึ่งหนึ่งแล้ว คำว่าวัคซีนไม่ได้ส่งจาก สธ. พูดอย่างนี้ปราศจากความรับผิดชอบ สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ควรจะต้องบริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับไปจาก สธ.ให้ดีที่สุด สธ.จัดการทุกอย่างที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบไปให้ กทม.หมดแล้ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ กทม.เองว่า จะวางแผนการกระจายอย่างไร ความจริงควรจะส่งให้สัปดาห์ละ 250,000 โดสด้วยซ้ำ แบบนี้กลายเป็นทำคุณบูชาโทษ
       "สัปดาห์หน้าจะทยอยส่งให้ กทม.อีก การกระจายวัคซีนไปตามจุดไหนก็ตามเป็นหน้าที่ของ กทม. สธ.มีหน้าที่ทำตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มอบหมาย ต้องบริหารจัดการวัคซีน กระจายวัคซีนจำนวนฉีดต่อวัน ต้องวางแผนอย่างดี สธ.ในส่วนที่รับผิดชอบทั่วประเทศก็ไม่เห็นมีใครมีปัญหาแบบนี้ ไม่ใช่ว่าได้มาเท่าไหร่ก็กระจายแบบไม่วางแผน" นายอนุทินระบุ
    นายอนุทินยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งกับ กทม. ส่วนที่บางโรงพยาบาล ระบุว่าให้สอบถามเรื่องนี้มาที่ รมต.สธ.นั้น หากถามมาก็ได้คำตอบแบบนี้ว่า สธ.ไม่ได้จัดวัคซีนให้ตามใจ แต่จัดให้ตามที่ ศบค.กำหนดมา และขอความเป็นธรรมให้กับ สธ.ด้วย ส่วนโควตาวัคซีนของ กทม.ที่เหลือจะทยอยส่งให้ในสัปดาห์ต่อไปหลังได้รับวัคซีนมาแล้ว
    วันเดียวกัน นายอนุทินนำทีมปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์  ตรวจเยี่ยมและติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมรับการเปิดเมืองท่องเที่ยว   โดยได้เดินทางไปยังสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จากนั้นได้ร่วมประชุมและมอบนโยบายผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันโควิด-19 ของชาวบุรีรัมย์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์ และสอดรับโครงการ “1 ตุลาคม 2564 ทัวร์เที่ยวไทย โดยไม่กักตัว” ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งได้เดินเยี่ยมและพบปะสอบถามประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนด้วย
    นายอนุทินได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "อย่าให้คนทำงาน กลายเป็น “แพะ” เรื่องการบริหารจัดการวัคซีนนั้น ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามตัวบทกฎหมายที่กำหนด สธ.มีหน้าที่ในการจัดหา และกระจายไปตามแผนที่ ศบค.กำหนด เมื่อวัคซีนถึงพื้นที่ ก็เป็นบทบาทของหน่วยงานในพื้นที่นั้นๆ ต้องบริหารจัดการวัคซีนตาม ที่แสดงเจตจำนงไปทุกอย่างชัดเจน
    ทว่ายามมีปัญหา ทั้งใน กทม.และจังหวัดอื่นๆ กลับกลายเป็น สธ.ต้องถูกวิจารณ์อย่างสาหัส ทั้งที่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนสุดความสามารถแล้ว อย่าแปลกใจ หากเราจะเห็นคน สธ.ออกมาชี้แจงรัวๆ เรื่องการเลื่อนฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นย้ำว่า ทางหน่วยงานไม่ได้มีอำนาจรับผิดชอบตรงนั้น หากเข้าไปแทรกแซงจะกลายเป็นก้าวก่าย เพราะมาจุดนี้ ดูเหมือนคนทำงาน ที่มีสภาพไม่ต่างจากแพะ ก็ทนแบกรับปัญหาของคนอื่นต่อไปไม่ไหวแล้วเช่นกัน เรามักจะพูดเสมอว่าเรื่องโควิด เราต้องช่วยกัน แต่ในความเป็นจริง บางคนก็พยายามสุดความสามารถเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แต่บางคนกลับพยายามจะทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้นไปอีก"
    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วัคซีนที่ สธ.ได้รับการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมานั้น ถูกจัดสรรตามความจำเป็นและเป็นไปตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เช่นขณะนี้ที่มีการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พื้นที่เหล่านี้จะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูง ส่วนในต่างจังหวัดที่ไม่มีการติดเชื้อประมาณ 20 จังหวัดนั้น อาจจะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อยลง นี่คือหลักการโดยทั่วไป
สธ.แจงยิบส่งตามแผน ศบค.
    อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนลงไปถึงพื้นที่แล้ว จะมีกลุ่มเฉพาะที่จะได้วัคซีนก่อนอีก เช่น เดือน ก.พ.-เม.ย. จะฉีดให้บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้ากลุ่มต่างๆ เมื่อครบแล้วจะทยอยฉีดให้ประชาชนกลุ่มแรกคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง ต่อมาเป็นกลุ่มอายุไม่เกิน 60 ปี แต่มี 7 โรคเรื้อรัง ทั้งนี้ วัคซีนที่ส่งไปตั้งแต่ก่อนวันที่ 7 มิ.ย.นั้นเป็นล็อตใหญ่ คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส ส่งไปต่างจังหวัดรวมประมาณ 1.1 ล้านโดส ที่เหลือเกือบครึ่งกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    ทั้งนี้ เมื่อจังหวัดได้รับไปแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะต้องมีการประชุมร่วมกัน และจัดสรรวัคซีน ดังนั้นต้องบริหารให้พอ เพราะวันนี้วัคซีนก็ยังจำกัดอยู่ เพียงแต่แต่ละพื้นที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ เช่น  กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับวันที่ 7-18 มิ.ย. เป็นแอสตร้าฯ 3.5 แสนโดส, ซิโนแวค 1.5 แสนโดส รวมเป็น 5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้แอสตร้าฯ ทั้งหมดรวม 3 แสนโดส ฉีดเฉพาะผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ส่วนที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ได้รับ 1.5 แสนโดส ซึ่งเป็นวัคซีนของแอสตร้าฯ เป็นหลัก ที่เน้นฉีดบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้จะมีคนที่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย ซึ่งจะได้รับไปโดยอ้อม
    “สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการอย่างไรถึงจะสามารถฉีดให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังที่นัดไว้ตาม รพ.ได้รับการฉีดด้วย ในช่วงนี้ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่ สธ. จะไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดระดับ รพ.เพราะย่อยเกินไป รัฐบาล ศบค.สั่งมา เราเห็นชอบ ก็ส่งไป แล้วทางจังหวัดก็เอาเข้าคณะกรรรมการฯ ประชุมกันและส่งวัคซีนลงไปที่หน่วยบริการ ซึ่ง รมว.สธ.พูดก็ถูกว่าดูให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อสั่งการ ส่วนรายละเอียดการปฏิบัติพื้นที่ย่อยๆ เป็นผู้พิจารณาดำเนินการ วันนี้ทุกพื้นที่ควรต้องมีการสื่อสารกันเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ
    ผู้สื่อข่าวถามถึงยอดการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ เทียบกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับนับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมา นพ.โสภณกล่าวว่า สปส.ได้ 3 แสน ฉีดแล้ว 2.1 แสนโดส ทปอ.ได้ 1.5 แสนโดส ฉีดไปได้มากแล้ว ส่วนสำนักอนามัย กทม. 3.5 แสนโดส คาดว่าจะฉีดหมดแล้ว และยังมีซิโนแวคอีก 1.5 แสนโดส ที่คิดว่าน่าจะปิดเข็ม 2 เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งหมดราวเกือบ 7 แสนโดส ในรอบ 5-6 วันที่ผ่านมา
    อย่างไรก็ตาม วัคซีนของแอสตร้าฯ  ล็อตต่อไปจะมาในช่วงปลายสัปดาห์นี้อีก 1.5 ล้านโดส และคาดว่าจะกระจายได้ประมาณวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนใหญ่จะส่งลงพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนอยู่ที่ กทม. วันนี้ประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีนอย่างล้นหลาม ทำให้ตอนนี้วัคซีนที่อยู่ในมือของแต่ละหน่วยลดน้อยลง แต่เราต้องพยายามบริหารจัดการ เช่น ถ้าสถานพยาบาลใดที่ยังมีวัคซีนอยู่ในตู้เย็นรอฉีดเข็ม 2 น่าจะพิจารณาให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรังได้ฉีดก่อน ในช่วงจันทร์-พุธที่จะถึงนี้ หรืออย่าง สปส. มีโควตา รพ.ให้เลือกผู้ประกันตนที่มีโรคเรื้อรังให้ได้ฉีดก่อน จะช่วยให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงๆ
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 6 ล้านโดส จากวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการ ฉีดวัคซีนสำหรับประชากรในประเทศไทย เดือน มิ.ย. คือฉีดอย่างน้อย 10 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้เหลืออีก 4 ล้านโดส ที่จะกระจายวัคซีนออกไปตามคำสั่งของ ศบค.เห็นชอบ
    สำหรับกรณีมีการเลื่อนฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่นั้น เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจำนวนวัคซีน กรณีที่ รพ.เอกชน ประกาศเลื่อนฉีดเพราะไม่ได้รับวัคซีนนั้น ต้องถามข้อมูลจากสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ว่ามีการจัดสรรให้ รพ.แต่ละแห่งอย่างไรบ้าง
    ส่วนความคืบหน้าวัคซีนแอสตร้าฯล็อตต่อไปที่จะส่งมอบให้ประเทศไทยในวันที่ 14 มิ.ย.นี้นั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ทางบริษัทวัคซีนกับประเทศไทยก็มีสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลร่วมกัน แต่ยืนยันว่ายังเป็นไปตามสัญญา ส่วนวัคซีนซิโนแวคที่เข้ามาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 1 ล้านโดส ยังอยู่ระหว่างการตรวจรับตามกระบวนการ
    อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวด้วยว่า ทุกวันมียอดการรับบริการที่เพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีนยังดำเนินต่อไป ล่าสุดมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 6 ล้านโดส สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีน ซึ่งตามแผน ต้องฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสภายในเดือน มิ.ย.  
ป้อง"อนุทิน"โทษ"บิ๊กตู่"
    นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "โกลาหลวัคซีนกรุงเทพฯ ไม่พอ คนรับผิดชอบไม่ใช่ สธ.นะ" โดยระบุว่า ดูเหมือนวัน 14 มิ.ย.นี้ การฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ จะโกลาหลที่สุด มีการประกาศเลื่อนการฉีดเพราะไม่มีการส่งวัคซีนมาให้ ต้องบอกว่าการจัดสรรวัคซีนใน กทม. ไม่เกี่ยวกับ สธ. เพราะการจัดสรรวัคซีนในขณะนี้เป็นหน้าที่ ศบค. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติมานานแล้ว ดังนั้นการตัดสินใจสุดท้ายว่าจะจัดสรรอย่างไร จะจัดแบ่งโควตากันอย่างไร สธ.ไม่ใช่คนตัดสินใจ เมื่อ ศบค.ตัดสินใจแล้ว ก็สั่งการให้ สธ.ให้จัดส่งวัคซีนกระจายต่อไปโรงพยาบาลต่างๆ ตามโผ
    "จากการประชุม ศบค.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.ได้นัดประชุมนัดพิเศษเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เข้ามาหารืออย่างเร่งด่วน และมีมติตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล” โดยมีตัวนายกฯ รวบอำนาจมานั่ง ผอ.ศูนย์เสียเอง โดยไม่มีชื่อรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งในทีมเลย ไม่มีแม้ รมว.สธ.ป็นกรรมการ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีอนุทินด้วย ดังนั้นความโกลาหลจากการขาดแคลนวัคซีนในกรุงเทพฯ หรือการกระจายวัคซีนในกรุงเทพฯ ที่ไม่ตรงกลุ่มที่ควรจะได้ เช่น ไทยร่วมใจมาแรงแซงคิวผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังนั้น ก็ต้องไปวิพากษ์ให้ถูกคน นั่นคือนายกฯประยุทธ์นั่นเอง ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ รมต.อนุทิน ในยามที่เรือใกล้แตก การเอาตัวรอดก็ย่อมปรากฏ เรื่องอะไรจะปล่อยให้โดนรุมสกรัมผิดคน วัคซีนกรุงเทพฯ ไม่พอ สธ.ไม่เกี่ยวนะ คนที่ต้องรับผิดชอบคือนายกฯ ประยุทธ์เต็มๆ กรุณาวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาให้ถูกคนด้วย นั่นคือบทสรุปของปรากฏการณ์ในครั้งนี้" ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุ
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในช่วงวันที่ 7-12 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศจำนวน 1,865,190 โดส และตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-12 มิ.ย. มีการฉีดสะสมแล้วรวมทั้งสิ้น 6,081,242 โดส แยกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1  จำนวน 4,456,786 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,624,456 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมียอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการฉีดวัคซีนสำหรับประชากรไทยในประเทศไทย
    สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยกระทรวงแรงงานนั้น สำนักงานประกันสังคมได้ปรับปรุงระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้การฉีดวัคซีนแก่ผู้ประกันตนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยจะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกันตน ม 33 ที่นายจ้างได้ลงทะเบียนในระบบ e-Service อีกครั้งในวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.นี้
    เพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ชี้แจงว่า จากกรณีที่ สธ.แจ้งว่าได้ให้วัคซีน กทม.มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผนเดือน มิ.ย.64 นั้น ขอให้ข้อมูลดังนี้ 1.ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของ สธ.กทม. ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรรแอสตร้าฯ 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้ กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง
    2.สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย.64 กทม.ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ  350,000 โดส ซิโนแวค 150,000 โดส แบ่งการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ เป็นระบบหมอพร้อม 181,400 โดส เข็มที่สอง 52,600 โดส ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส สำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส ส่วนซิโนแวค แบ่งการใช้เป็นเข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส
    3.การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึงไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อมในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 450,000 ราย 4. กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก "วัคซีนพร้อม" ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที".
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"