ภาพ “ครอบครัว G7” ในบรรยากาศใหม่ภายใต้ภัยคุกคามโควิด-19
รูปหมู่ของผู้นำทั้ง 7 ที่ชายหาดที่ Cornwall ทางใต้ของอังกฤษ ตอกย้ำการรวมพลังของโลกเสรีนิยมตะวันตกภายใต้แรงผลักดันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก่อนการประชุมสุดยอดที่เริ่มวันเสาร์
ขวาสุดจะเห็นนายกฯ เยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล หลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้มา 16 ปี
ครั้งนี้จะเป็นการประชุมสุดยอด G7 ครั้งสุดท้ายก่อนเธอก่อนจะก้าวลงจากการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายนนี้
เจ้าภาพ นายกฯ อังกฤษบอริส จอห์นสัน อยู่ตรงกลางแถวหน้า โดยมีประธานาธิบดีไบเดนอยู่ด้านซ้าย
และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสประกบอยู่ด้านขวา
แถวหลังคือนายกฯ ญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูกะ และนายกฯ อิตาลี มาริโอ ดรากี
ทั้งสองมาร่วมประชุมสุดยอดนี้เป็นครั้งแรก
ซูกะคุ้นเคยกับผู้นำระดับโลกเพราะสมัยเป็นมือขวาของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ก็มาร่วมกิจกรรมระดับโลกเช่นนี้บ่อยๆ
ส่วนนายกฯ อิตาลีคนนี้ก็เป็นมือเก๋าในแวดวงการประชุมระดับยักษ์ เพราะเคยเป็นประธานของธนาคารกลางยุโรปมาก่อน
บรรยากาศของผู้นำระดับโลก 7 คนปีนี้แตกต่างไปจากปีก่อนๆ ตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ
ตอนนั้นทรัมป์หาเรื่องทะเลาะกับพันธมิตรเก่าแก่ในหลายเรื่อง อีกทั้งยังถอนอเมริกาออกจาก Paris Agreement และเดินออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน
หัวข้อการพบปะของผู้นำโลกครั้งนี้เน้นเรื่องโควิด โดยเตรียมจะประกาศร่วมกันบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แต่แค่ 1,000 ล้านโดสอาจจะน้อยไป
หัวหน้าด้านแผนนโยบายขององค์กร Oxfam ออกมาแย้งว่า หากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกสามารถบริจาคเพียง 1,000 ล้านโดสก็จะเป็นเพียง “หยดน้ำในมหาสมุทร” เท่านั้น
ถือว่าเป็นความล้มเหลวของผู้นำระดับโลกกลุ่มนี้
เพราะทั่วโลกต้องการวัคซีน 11,000 ล้านโดสจึงจะมีศักยภาพที่จะเอาชนะโคโรนาไวรัสตัวนี้ได้
“พวกเขากำลังเดินมาถูกทาง แต่ไม่ไกลมากพอ และไม่เร็วมากพอ” ผู้อำนวยฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาล ของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ Wellcome บอก
เขายืนยันว่าสิ่งที่โลกต้องการคือการกระจายวัคซีนตอนนี้ ไม่ใช่ปีหน้า
เขาบอกว่า นี่เป็นจังหวะแห่งประวัติศาสตร์ที่กลุ่ม G7 ต้องแสดงความเป็นผู้นำในภาวะวิกฤติ
หากผู้นำกลุ่มนี้ไม่แสดงออกถึงความกล้าหาญและการพร้อมจะเสียสละ ก็จะถือว่าเป็นการตอกย้ำถึงการล่มสลายของประชาคมโลก
นายกฯ บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษกล่าวในคำปราศรัยเปิดงานว่า ผู้นำของโลกต้องเรียนรู้จาก “ความผิดพลาด” ของวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008
และต้องหาวิธีการที่จะตั้งรับกับ “รอยแผลแห่งความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างประเทศร่ำรวยกับชนชาติที่ยากจน
อีกหัวข้อหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องโลกร้อน
สหรัฐฯ กับอังกฤษจะผลักดันให้มีการเอ่ยถึง “ภัยคุกคามจากจีน” ที่เริ่มจะมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์มากขึ้น
และแน่นอนว่ารัสเซียก็จะเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่อยู่ในวาระการประชุม ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
นักข่าวถามโจ ไบเดน ว่า จะบอกปูตินว่าอย่างไรในการพบปะกันสองต่อสองในวันที่ 16 มิถุนายนนี้
ไบเดนตอบ: “ผมจะบอกพวกคุณหลังจากที่ผมได้บอกปูตินแล้ว”
ประโยคที่เด็ดกว่านั้นเห็นจะเป็นถ้อยคำหยอกเอินจากพระราชินีแห่งอังกฤษที่ทรงกล่าวลอยๆ กับผู้นำทั้ง 7 ประเทศ ขณะกำลังจะทรงร่วมถ่ายรูปหมู่กับผู้นำ G7 ว่า
“Are you supposed to be looking as if you’re enjoying yourself?”
“พวกท่านกำลังต้องทำสีหน้าเหมือนกำลังมีความสุขใช่ไหม?”
อาจจะเป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นว่าหัวข้อที่กำลังจะถกแถลงกันนั้นช่างท้าทายและหนักหน่วงสำหรับทุกคนเหลือเกิน
จะเครียดแค่ไหนก็ยิ้มเข้าไว้, ว่างั้นเถอะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |