คอลัมน์เกาะติดเศรษฐกิจ
ท่ามกลางตัวเลขดีๆ ทางเศรษฐกิจของไทยที่พรั่งพรูสู่สายตาคนไทยอย่างต่อเนื่องออกจนกระทั่งกระแสคำว่า “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วกำลังจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสโตเกิน 4.5%” เริ่มได้รับการกล่าวถึงและตอบสนองจากทุกภาคส่วนเป็นลำดับโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐบาล หน่วยงานวิชาการและวิเคราะห์เศรษฐกิจ ตลอดจนองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ แต่ท่ามกลางกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในรอบนี้ ก็ยังคงมีเสียงดังกึกก้องทั่วฟ้าเมืองไทยแบบย้อนแย้งจนถึงปัจจุบันว่า “เศรษฐกิจไทยที่บอกว่าฟื้นตัวอยู่ ณ ขณะนี้นั้นเป็นการฟื้นตัวแบบกระจุกตัวอยู่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่ได้กระจายตัวไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ทั่วประเทศ” เข้าทำนองที่ว่า “รวยกระจุกแต่ยังจนกระจาย”
ผ่านไปแล้ว 5 เดือน สำหรับปี 2561 ทุกคนยังคงตั้งคำถามในใจว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วจริงหรือ? เศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกได้มากแค่ไหนและนานแค่ไหน? การเติบโตแบบกระจุกตัวยังคงเห็นอยู่อีกนานหรือไม่? และอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะดีมากน้อยเพียงใด? ในช่วง 1-2 สัปดาห์ผมได้มีโอกาสพบเจอนักธุรกิจทั้งธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่จากทั่วประเทศ เมื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ นักธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหนื่อย นิ่ง และเงียบ” ทำไมคำตอบจึงเป็นแบบนี้และเมื่อไรจะกระจายตัวสักที คงมาไล่เรียงหาคำตอบกันดีกว่าครับ
เริ่มต้นด้วยการมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทยและเทศในช่วงต้นปี 2561 กูรูด้านเศรษฐกิจก็ลงความเห็นคล้ายๆ กันว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นแล้วและกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศระหว่าง เกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ตลอดจนความไม่แน่นอนของนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยขยายตัวได้ประมาณ 4.0-4.5% โดยมีการท่องเที่ยวและการส่งออกจะเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก และการลงทุนของภาครัฐจะเป็นพระรองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีความผันผวนและพลิกผันอย่างมากจนสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าต่อรัฐบาล ผู้วางนโยบาย นักธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดของสหรัฐฯ กับรัสเซียในกรณีของซีเรีย สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ตลอดจนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านจนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนมีความกังวลว่าราคาน้ำมันโลกในอนาคตอันใกล้อาจทะลุไปถึงระดับ 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ทั้งโลกมีความกังวลว่าปัจจัยลบต่างๆ จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังยืนยันตัวเลขคาดการณ์ GDP โลกเมื่อเดือนเมษายนนี้ ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกและเอเชียในปี 2561จะขยายตัวได้ 3.9% และ6.5 % ตามลำดับ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัว 3.8% และ 6.5% ตามลำดับ
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทแข็ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวต่ำ ตลอดจนราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และการซื้อข้าวของไม่คึกคักเท่าที่ควร ทำให้กระแสสังคมยังบ่นอย่างต่อเนื่องว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวไม่กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ล่าสุดสภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ว่าขยายตัวสูงถึง 4.8% ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวเลขที่หักปากกาเซียนถ้วนหน้าเพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงได้มากขนาดนี้ หลายฝ่ายคาดว่า GDP ไทยในไตรมาสแรกน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.0-4.2% เท่านั้น สำหรับสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงเพราะการส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีมากในช่วงต้นปี โดยขยายตัวได้สูงถึง 11% ในไตรมาสแรกซี่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ดีขึ้นประเทศต่างๆ ในเอเซีย
ปัจจุบัน ปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกเริ่มคลายตัวลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และรัสเซียกับสหรัฐฯ คลายตัวลง สงครามการค้าของโลกยังไม่บานปลายรุนแรง ตลอดจนราคาน้ำมันโลกไม่ควรสูงเกิน 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปีนี้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวได้สูงถึง 8.0-10.0% ในปีนี้ และนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 38 ล้านคน ตลอดจนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของงภาครัฐ และพื้นที่ EEC น่าจะเริ่มชัดเจนมาขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีมุมมองใหม่ว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 4.5%
ล่าสุด สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 น่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 3.6-4.6% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวได้ 4.5% แทนที่จะเป็น 4.1% ตามที่คาดไว้เดิม ดูแล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มต้นสู่ความรุ่งเรืองใหม่ ได้นะครับ แต่สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปอีกสัก 3 เดือนว่าจะรุ่งเรื่องต่อเนื่องจริงมั้ย และคนไทยจะรับรู้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าฟื้นตัวกระจายได้เมื่อไร เพราะในสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้ภาษีเหล็กและอลูมิเนียมกับสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก จนทำให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ กันเป็นทิวแถว จึงต้องตามกันต่อไปว่าสงครามการค้าโลกจะเกิดขึ้นจากเหจุการณ์ในครั้งล่าสุดนี้หรือไม่ และจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแค่ไหน คุยต่อในครั้งหน้านะครับ
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |