ปชป.ยันแก้รธน.! ริบอำนาจสภาสูง ก้าวไกลฉีกทั้งฉบับ


เพิ่มเพื่อน    

 

ประชาธิปัตย์ยันชงแก้รัฐธรรมนูญ 6+1 ร่าง บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ริบดาบ ส.ว.ท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น ขณะก้าวไกลถอยไม่เป็น ยืนกรานรื้อทั้งฉบับ  

    เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีทั้งหมด 6 ร่าง ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองเท่านั้น แต่จะแก้ไขในส่วนของสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก โดยร่างแรก เป็นเรื่องสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภคเรื่องที่ดินทำกิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
    ร่างที่ 2 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มี ส.ส.จากเขตเลือกตั้ง 400 คน และอีก 100 คนมาจากบัญชีรายชื่อ และกระบวนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนการคำนวณสัดส่วนคะแนนจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    ร่างที่ 3 เกี่ยวข้องกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภาเชื่อมโยงกับการเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์เตรียมร่างไว้เพื่อเสนอว่าบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ถือว่าผ่านการตรวจสอบและเลือกมาแล้วส่วนหนึ่งจากประชาชนและพรรค หรือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากนอกเหนือจากนี้ไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีในมาตรา 272
    ร่างที่ 4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โครงสร้างเดิมตัดอำนาจของ ส.ว.ออกไปในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกไป โดยใช้จำนวนสมาชิก 3 ใน 5 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับร่างที่ 5 จะเป็นเรื่องการตรวจสอบทุจริตให้เกิดความเข้มข้นเรื่องการดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.แก้ไขกระบวนการตรวจสอบ ไม่ควรให้ส.ส.ยื่นเรื่องให้แค่ประธานรัฐสภาเพื่อให้ดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.ชั้นเดียว เนื่องจากประธานรัฐสภามาจากพรรคการเมือง ซึ่งอาจมีการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองกับประธานรัฐสภาเพื่อไม่ให้ยื่นเรื่องตรวจสอบไปยังศาลฎีกาได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากหลายฝ่าย ก่อนจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา
    นายราเมศกล่าวว่า ร่างที่ 6 ต้องการแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้งองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และต้องมีรัฐธรรมนูญเลือกอำนวยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริงด้วย
    โฆษกพรรคประชาธิปัตย์เผยว่า มีแนวโน้มจะมีร่างที่ 7 ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งทางพรรคได้มอบหมายให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรคไปหารือพบว่า มีความเห็นพ้องต้องกันหลายส่วน ซึ่งต้องฟังจากทั้ง 3 พรรคให้เกิดข้อสรุป โดยจะหารือกันในวันที่ 16 มิถุนายนนี้อีกครั้ง
    ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคยืนยันมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์แบบได้ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ และอีก 2 พรรคการเมือง จึงได้เสนอร่างแก้ไขที่มีเนื้อหาที่สามารถประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายในสภาฯ โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักใหญ่ใจความ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ในที่สุด
    ส่วนประเด็นเรื่องกระบวนการเลือกตั้งนั้น เห็นว่าทิศทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนกับในรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะนอกจากประชาชนจะมีความคุ้นเคยในการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เหมือนกับที่ผ่านมาแล้ว การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนได้มากกว่า เพราะการที่ประชาชนมีความลำบากใจในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจากบัตรใบเดียว แต่มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ได้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นการประหยัดงบประมาณ แต่กลับสร้างปัญหาในการทราบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนนั้น ถือเป็นการบิดเบือนพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้องจากตัวแทนของประชาชน
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีความชัดเจนหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน ส่วนจุดยืนการจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ต้องทำคือ การทำประชามติ ถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังค้างการพิจารณาในรัฐสภาอยู่ ประเด็นสำคัญที่รองลงมาคือ การยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ? มาตรา 272
    ถามว่า พรรคเพื่อไทยระบุว่ายังมีความเห็นบางประเด็นที่ไม่ตรงกับพรรคก้าวไกล จะทำให้ต้องเสนอร่างแยกต่างหากหรือไม่ นายชัยธวัชแจงว่า ประเด็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือเรื่องมาตรา 272 ที่เคยเสนอตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นด้วย ส่วนประเด็นอื่นๆ แต่ละพรรคกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคงจะมีข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า
     นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ แกนนำกลุ่ม Re-solution กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภาเตรียมรวบรัดพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ จนทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่ต้องการนำรัฐธรรมนูญกลับมาแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้นมีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน เพื่อเข้าไปพิจารณาในสภาฯ แต่กลับถูก ส.ว.และ ส.ส.ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลปัดตกอย่างไร้เยื่อใย
    “หลายๆ ฝ่าย ทั้งภาคประชาชน พรรคร่วมฝ่ายค้าน และรวมไปถึง ส.ส.บางคนในพรรคร่วมรัฐบาลเอง น่าจะเห็นร่วมกันแล้วว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราน่าจะเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้อยู่เพื่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลหลังรัฐประหาร 57 นับตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะคลอดด้วยซ้ำ มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี เพราะออกไปรณรงค์โหวตโน และบรรยากาศประชามติก็อยู่ท่ามกลางอำนาจเผด็จการตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากที่มาไม่ชอบธรรมแล้ว เนื้อหาก็ไม่ชอบธรรมด้วย มีกลไกมากมายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สร้างมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. การที่เราจะสร้างศรัทธาและพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่คณะรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจได้ทำลายลงไป จึงมีประเด็นมากมายที่จำเป็นต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งเรื่องวุฒิสภา เรื่ององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และผลพวงการรัฐประหาร” นายฟูอาดี้ระบุ.
    

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"