ภารกิจเร่งด่วน กรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่


เพิ่มเพื่อน    

เร่งยกสถานะ กสม.จาก B เป็น A   เพื่อสร้างการยอมรับในทางสากล

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-กสม. ชุดใหม่ล่าสุด ที่เป็นชุดที่สี่นับแต่มี กสม.ในประเทศไทย ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่จนถึงขณะนี้เป็นเวลาร่วมสองสัปดาห์แล้ว  หลังเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา มีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์  เป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนปัจจุบัน

                วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-กสม. กล่าวถึงการทำงานของ กสม.ต่อจากนี้ ในช่วงที่  กสม.ถูกคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ หรือ เอสซีเอ (SCA: Sub-committee on  Accreditation) ของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ ไอซีซี (ICC: International Coordinating  Committee on National Human  Rights Institutions) ที่เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก มีมติเสนอให้ไอซีซีลดระดับ กสม.ไทยจากสถานะ "เอ" เป็น "บี" ตั้งแต่ปี 2557

            โดยผลกระทบที่ตามมาก็มีอาทิ กสม.ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ โดยสถานะของ กสม.เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ -และไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของไอซีซี  หรือสมัครเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการของไอซีซี ได้

     ทำให้ภารกิจสำคัญเร่งด่วนของ กสม.ชุดปัจจุบันเรื่องหนึ่งก็คือ ทำให้ กสม.ได้รับการเลื่อนสถานะระดับสากลให้กลับไปเป็น A เหมือนก่อนหน้านี้    

            วสันต์-กสม. กล่าวถึงการทำงานของ กสม.ชุดปัจจุบันที่เพิ่งทำงานได้สองสัปดาห์ว่า กสม.ชุดปัจจุบันหลังจากเข้าปฏิบัติหน้าที่ ก็ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการทำงานของคณะกรรมการต่อจากนี้เป็นระยะ โดยเท่าที่คุยกันเบื้องต้นเราจะทำงานกันเป็นทีม เพราะกรรมการชุดปัจจุบันมีความหลากหลาย มีที่มาซึ่งแตกต่างกัน มีทั้งนักการทูต นักวิชาการ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นักบริหาร เราคิดว่าองค์ประกอบของ กสม.ชุดปัจจุบันมีองค์ประกอบที่ค่อนข้างจะกลมกล่อม ที่น่าจะมาเสริมการทำงานซึ่งกันและกันได้ ซึ่งเบื้องต้นคณะกรรมการมีการคุยกันในเรื่องพื้นที่หรือประเด็นที่จะรับผิดชอบกันบ้างแล้ว

            ...โดยเรื่องเร่งด่วนสำคัญๆ ที่กรรมการจะเข้าไปพิจารณาหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่กรรมการเห็นว่าควรเข้าไปดูแลคุ้มครองคือเรื่อง สิทธิมนุษยชนของกลุ่มเปราะบาง กับกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปัจจุบันที่มีผลกระทบโดยทั่วไป แต่ก็จะมีกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ ที่ กสม.ควรเข้าไปดูแลสิทธิของคนกลุ่มเหล่านั้นไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ หรือได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเพียงพอ อย่างเช่น สิทธิของผู้ต้องขัง รวมถึง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งพบว่ามีการระบาดของโควิดในกลุ่มคนสองกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างมาก ในเรือนจำและไซต์งานก่อสร้างตามสถานที่ต่างๆ กสม.คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการประสานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อเข้าไปดูและรับฟังสถานการณ์ และแนวทางการดูแลผู้ต้องขังทั้งหลาย เพื่อเข้าไปดูว่าผู้ต้องขังได้รับการดูแลที่ดีพอแค่ไหน  รวมถึงเพื่อดูว่า กสม.จะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

            ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นกรณี ข้อพิพาทที่ดินกะเหรี่ยงบางกลอย พบว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่ง กสม.ในชุดที่ผ่านๆ มาได้มีการติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดและมีข้อเสนอแนะออกไป โดยตอนนี้ กสม.ชุดปัจจุบันได้เข้าไปดูเรื่องดังกล่าว ว่าจนถึงขณะนี้ได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน แต่ในส่วนเรื่องของการเยียวยาหรือเรื่องการเอาคนผิดมาลงโทษ ถึงตอนนี้พบว่ามีความคืบหน้าไปแล้ว แต่บางเรื่องที่ยังไม่มีความคืบหน้าออกมา กสม.ชุดปัจจุบันก็จะเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป ยืนยันว่าเราจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการมองในภาพใหญ่ภาพรวมด้วยว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวจะเป็นอย่างไร

            สำหรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ยื่นมายังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า กสม.ชุดที่แล้วได้มีการเคลียร์เรื่องร้องเรียนต่างๆ เสร็จสิ้นไปแล้วเยอะมาก ทำให้เหลือเรื่องร้องเรียนคั่งค้างไม่มาก และตอนนี้ กรรมการก็ได้เริ่มพิจารณาเรื่องคั่งค้างแล้ว เช่นเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ยังไม่เสร็จสิ้น ที่บางเรื่องก็มีการขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป

            วสันต์-กสม. กล่าวต่อไปว่า กสม.เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 โดยถึงขณะนี้มี กสม.มาแล้วทั้งสิ้น 3 ชุด โดยชุดปัจจุบันเป็น กสม.ชุดที่ 4 ซึ่งบทบาทหน้าที่ก็อาจมีแตกต่างกันบ้าง แล้วแต่กรอบที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ที่ออกมาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

บทบาทของ กสม.โดยรวมถือว่าเป็นไปตามหลักสากล  ก็คือการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษชน การให้คำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษชนกับผู้เกี่ยวข้อง การเยียวยาและดูแลผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย กสม.จะทำหน้าที่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ทั้งต่อรัฐบาล รัฐสภา รวมถึงการออกข้อเสนอแนะในสถานการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ในส่วนของเวทีต่างประเทศ กสม.ก็จะมีหน้าที่รายงานตรงนี้ด้วย เป็นลักษณะการรายงานคู่ขนานกับรายงานของภาครัฐ

            สำหรับบทบาทของ กสม.ตอนนี้ที่อาจจะมีการพูดคุยกัน และองค์กรด้านสิทธิระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ในการประเมินสถานะของ กสม. อาจจะเห็นว่าเป็นบทบาทที่อาจไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ก็คือเรื่องที่ กสม.ต้องทำรายงานโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่คลาดเคลื่อน ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 247 (4)  (บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บัญญัติว่าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม)

            ...บทบาทดังกล่าวก็อาจเป็นประเด็นในสายตาของต่างประเทศ ว่าอาจเป็นบทบาทที่เกินเลยในแง่มุมมองของเขา แต่จริงๆ เรื่องการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เป็นบทบาทและหน้าที่ของ กสม.อยู่แล้ว โดยหากมีสถานการณ์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ กสม.เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ควรรายงาน กสม.ก็สามารถดำเนินการได้ ตรงนี้ในแง่กฎหมายก็อยู่ระหว่างการคุยกันระหว่าง กสม.กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าควรมีการ "ปรับ" หรือ "ตัด" เรื่องพวกนี้ออก ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ไม่ระแวงว่าเราจะกลายเป็นกระบอกเสียง หรือไปแก้ต่างให้รัฐบาล เพราะ กสม.มีหน้าที่ในการรายงานเรื่องต่าง ๆอยู่แล้วโดยตัว กสม.เอง

                -กรณีที่ SCA มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม.ไทยออกไปอีก 18 เดือน  กรณีดังกล่าว กสม.ชุดปัจจุบันจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ กสม.ได้รับการเลื่อนสถานะจาก B เป็น A โดยเร็ว?

            ผมคิดว่าทางผู้ประเมินมีประเด็นที่เขาห่วงใยอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งข้อห่วงใยต่างๆ ก็ได้รับการคลี่คลาย และได้รับการแก้ไขไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างเช่นเรื่อง กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เช่นเรื่องความหลากหลายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะเห็นได้ว่า กสม.ชุดปัจจุบันในส่วนของกระบวนการสรรหา พบว่าในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหรือประชาชนโดยทั่วไปมีมากขึ้น มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม จากฝ่ายวิชาการ โดย กสม.ชุดปัจจุบันมีที่มาซึ่งมีความหลากหลาย ที่จะช่วยกันส่งเสริมให้งานด้านการคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้มแข็งขึ้น  ประเด็นนี้ก็ได้รับการคลี่คลาย ซึ่งทางผู้ประเมินเองก็น่าจะเห็นถึงพัฒนาการในส่วนนี้

...อย่างไรก็ตาม อาจจะมีอยู่บางประเด็นที่อาจจะเห็นว่าควรต้องมีการปรับ อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับ immunity หรือความคุ้มครองของกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ก็ได้มีการดำเนินการในบางส่วนไปแล้ว ที่ก็น่าจะเป็นที่พอใจของผู้ประเมินอยู่ แต่ที่ยังขาดอยู่ก็คงเป็นประเด็นเรื่องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 247 (4) ที่อาจจะมีความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นบทบาทของ กสม. เพราะสถาบันสิทธิมนุษยชนของประเทศอื่นๆ  ไม่ได้มีบทบาทหรือมี faction ในเรื่องพวกนี้ ประเด็นดังกล่าวเข้าใจว่า กสม.ชุดที่แล้วได้มีการหารือกับทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไปบ้างแล้ว ซึ่ง กสม.ชุดปัจจุบันก็จะเข้าไปสานต่อในเรื่องนี้เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน กับทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เพื่อที่จะปรับแก้ตรงนี้ให้เป็นมาตรฐานสากล

                -จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 (4) ด้วยหรือไม่?

            เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อย่างที่ทราบคือต้องใช้เวลา เราก็คิดว่าหากต่อไปมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเสนอประเด็นตรงนี้ไป ซึ่งในรายงานประจำปีของ กสม.ก็ได้มีการนำเสนอประเด็นนี้ไปแล้ว เข้าใจว่าองค์กรที่ประเมินเรื่องนี้ เมื่อเขาเห็นความพยายาม ความตั้งใจในสิ่งที่ กสม.ได้ทำไปและกำลังจะทำ ทั้งหมดก็มีพัฒนาการ แม้อาจจะยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            และอีกประเด็นคือเรื่อง การไกล่เกลี่ย ซึ่งบทบาท อำนาจหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของ กสม.ที่เขาอยากเห็น และเรื่องนี้เคยมีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิฯ ฉบับก่อนหน้านี้ ก็คือเรื่องการไกล่เกลี่ยหาข้อยุติโดยสมานฉันท์ เพื่อให้ กสม.ทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองประชาชนได้มากขึ้น

                เมื่อถามย้ำว่า เชื่อมั่นหรือไม่ว่า กสม.จะได้รับการเลื่อนสถานะจาก B เป็น A วสันต์-กสม. ตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า กสม.เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ทำเต็มที่  หลังสุดทราบว่าทาง SCA เลื่อนการพิจารณาออกไป  โดยในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ กสม.ต้องส่งรายงานไปให้เขาอีกรอบหนึ่งว่าที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้างในเรื่องต่างๆ ซึ่งมีความคืบหน้าแต่ละส่วนเยอะมาก โดยเมื่อ กสม.ส่งรายงานไปให้ผู้ประเมินเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ก็เข้าใจว่าในเดือนมีนาคมปี 2565 เขาน่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว เราก็หวังว่าเรื่องต่างๆ เช่น ความหลากหลายของ กสม.-เรื่อง immunity หรือเรื่องความล่าช้าในการออกรายงานของ กสม. ถึงตอนนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งหากเรามาในทิศทางที่เขาเชื่อมั่น เราก็คาดหวัง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นเยอะมาก 

            "กสม.ชุดปัจจุบันเห็นร่วมกันว่า เราต้องพยายามผลักดันให้เต็มที่เพื่อให้สถานะของ กสม.ได้รับการยกระดับจาก B ขึ้นไปเป็น A เพราะที่ผ่านมาการที่ กสม.อยู่ในสถานะ B ก็เท่ากับว่าเราเหมือนกับพลเมืองชั้นสอง เหมือนไม่มีปากเสียง เราเป็นได้แค่เหมือนกับเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง ไม่สามารถเป็นกรรมการหรือเป็นคณะทำงานอะไรได้ เราก็จะพยายามสู้เพื่อให้ได้กลับไปสู่สถานะที่มีศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับในทางสากล และทำให้เราสามารถที่จะทำงานได้ดีขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มากที่สุด"

                -ยืนยันว่าบทบัญญัติมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญ ถึงต่อให้ยังไม่มีการแก้ไขก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของ กสม.  กสม.สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ?

            สิ่งที่เขากังวลก็คือ เขากังวลว่าเราจะไม่เป็นอิสระ เราจะต้องไปทำหน้าที่แก้ต่าง แต่ว่าจริงๆ บทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สามารถที่จะทำรายงานเรื่องที่เห็นว่าสำคัญ และสามารถติดตามตรวจสอบ ทำรายงาน และให้ความเห็นต่อเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้

กรรมการสิทธิฯ

ไม่ได้มีหน้าที่ไปจับผิดใคร

            วสันต์-กสม. กล่าวถึงการทำงานของ กสม.ต่อจากนี้  โดยย้ำว่างานสิทธิมนุษยชนเป็นงานของทุกคน เรื่องการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราคุยกันเยอะว่า กสม.จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฝ่ายนักวิชาการ  องค์กรวิชาชีพต่างๆ ภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ  องค์กรไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบงานซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกับ กสม.   เราก็จะร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลและเกิดสิ่งดีๆ ขึ้น โดยหากเราเห็นว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ทำให้การทำงานของ กสม.ทำได้ไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ เราก็จะปรึกษาหารือเพื่อที่จะหาทางแก้ไขให้อุปสรรคต่างๆ หายไป อย่างเรื่องกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            "คิดว่าบทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชนเราไม่ได้จะไปจับผิดใคร แต่เป็นบทบาทที่เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมันได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น"

            ...กรรมการสิทธิฯ เราคุยกันว่า เราจะทำงานเชิงรุก   คือนอกเหนือจากการรับเรื่องคนที่เดือดร้อนร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสม. แล้วเราก็ตรวจสอบ สอบสวน หาทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่เขาร้องเรียนเข้ามาแล้ว ทาง กสม.เราจะทำงานเชิงรุกด้วย ซึ่งการทำงานเชิงรุกอย่างหนึ่งก็คือ การทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน  ประชาสังคม ฝ่ายวิชาการต่างๆ เพื่อที่จะมองในเชิงภาพใหญ่ เชิงโครงสร้าง เช่นมีกฎหมายอะไรที่ควรแก้ไข มีนโยบายอะไรที่ควรปรับเปลี่ยน หรือเรื่องอะไรที่ควรดำเนินการเพื่อที่จะให้ปัญหาต่างๆ ลดลง

            ...ขอยกตัวอย่างเช่น เวลาพูดถึงเรื่อง ผู้ต้องขัง  ปัญหาหนึ่งที่มีการพูดกันค่อนข้างมากก็คือความแออัด  เพราะปัจจุบันมีผู้ต้องขังร่วมสามแสนคน แต่เรือนจำค่อนข้างจะมีจำกัด เมื่อดูอัตราส่วนของเรือนจำกับผู้ต้องขัง  เทียบกับโดยทั่วไปแล้วก็อาจจะไม่ค่อยดี พอเกิดกรณีอย่างเช่นโควิดก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก ทำให้มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้มาก ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ก็พยายามดูแลควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ว่าปัญหาที่เป็นต้นตออย่างหนึ่งก็คือเรื่องความแออัด เราก็อาจต้องมองปัญหาในเชิงโครงสร้างว่าแล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

            -การบังคับสูญหาย การอุ้มหาย เช่นกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหาย แต่จนถึงขณะนี้ดูจะยังไม่คืบหน้า?

            เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ และต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เข้ามาบ้าง เป็นเรื่องที่ กสม.ให้ความสำคัญ สำหรับในส่วนของการออกกฎหมาย รัฐบาลโดยที่ประชุม ครม.ก็มีการให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ไปที่สภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณา

            สำหรับเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะมีกรรมการสิทธิฯ ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อช่วยกลั่นกรองและพิจารณาเรื่องก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ กสม. อีกทั้งสำนักงาน กสม.ก็กำลังเดินหน้าการจัดตั้งสำนักงาน กสม.ที่จังหวัดสงขลา ที่ตอนนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณและเรื่องบุคลากรมาแล้ว จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565 ซึ่งการมีสำนักงาน กสม.อยู่ที่จังหวัดสงขลา จะช่วยอำนวยความยุติธรรมและความสะดวก เช่นเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

                -ที่ผ่านมาสังคมตั้งความหวังกับการทำหน้าที่ของ กสม.ระดับหนึ่ง แต่ กสม.สามชุดก่อนหน้านี้ก็มีเสียงวิจารณ์ออกมาตลอด เช่นเรื่องการทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบเรื่องต่างๆ ที่คนมองว่าล่าช้า ไม่ทันการ ณ์ ไม่เป็นกลาง อย่างกรณีรายงานเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ปี 2553?

            เรื่องการทำรายงานต่างๆ ของ กสม. ตอนนี้สำนักงาน กสม.ก็ได้มีการปรับปรุง ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มีการเขียนกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจนขึ้น เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ที่ กสม.ถูกปรับลดสถานะลงจาก A มาเป็น B สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากความล่าช้าของการทำรายงาน ตรงนี้ก็ได้รับความร่วมมือให้มีการแก้ไข ตัวกฎหมายก็เขียนกรอบเวลาไว้ชัดเจน เพื่อให้รวดเร็วขึ้น กฎหมายเขียนไว้เลยว่าหากรายงานยังไม่แล้วเสร็จ สามารถขยายเวลาออกไปได้อีกกี่วัน แล้วหากยังไม่แล้วเสร็จอีก กสม.พ้นสภาพไปทั้งคณะเลย เรื่องเหล่านี้ยืนยันว่ากรรมการเราเห็นปัญหาและกำลังช่วยกันแก้ไขอยู่

            กสม.ชุดปัจจุบันคุยกันแล้วว่า การทำงานของ กสม.ต่อจากนี้ต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ กระบวนการขั้นตอนบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็จะลดลงเพื่อให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น อาจมีการปรับระเบียบบางเรื่องเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการนำเรื่องของข้อมูล นวัตกรรมเข้ามาช่วยการทำงาน กสม.จะเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยที่ผ่านมาก็ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคีเครือข่าย โดยจะทำงานตามข้อมูลเป็นหลัก

                -เรื่องที่เป็นประเด็นทางการเมือง เช่นการชุมนุมทางการเมือง แล้วมีบางกรณีแกนนำไม่ได้รับการประกันตัวในคดีต่างๆ เพราะติด 112 หากมีคนมาร้องต่อ กสม.จะรับพิจารณาหรือไม่?

            หากเรื่องที่มีคนมาร้องเรียนแล้วอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสม. กรรมการก็รับไปพิจารณาดำเนินการ อย่างปีที่แล้วก็มีรายงานของ กสม.เรื่องการชุมนุมทางการเมือง โดยปีนี้ก็เข้าใจว่ามีเรื่องพวกนี้รวมอยู่ด้วย ก็คงเข้าไปดูเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะ กสม.เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งข้อแนะนำหรือความเห็นที่ออกมายืนยันว่าไม่ได้เข้าใครออกใคร เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            "กสม.ต้องมีความกล้าหาญและมีความเป็นอิสระในการทำงาน ทุกคนที่มาเป็นกสม.ต้องมีเรื่องพวกนี้"

                อนึ่ง สำหรับ วสันต์-กสม. ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ อดีตสื่อมวลชน-อดีตผู้บริหารองค์กรสื่อหลายแห่ง เราเลยชวนคุยปิดท้ายว่า ในฐานะเป็นอดีตสื่อมวลชน  คิดว่าสื่อมวลชนมีบทบาทอยางไรในเรื่องสิทธิมนุษยชน  เช่น การส่งเสริมสิทธิพลเมือง สิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเขาให้ทัศนะว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องการส่งเสริม คุ้มครอง การปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อสามารถช่วยสนับสนุนเป็นพลังทางด้านบวกได้ การทำอย่างไรไม่ให้สื่อไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่นเอง อย่างเรื่อง สิทธิของผู้ต้องหา บางคนเพียงแค่ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามหลักก็ต้องสันนิษฐานก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การที่มีการนำเขามานั่งแถลงข่าว บางทีก็เหมือนกับว่าเขาถูกตราหน้าไปแล้วว่าเป็นคนผิด แล้วสุดท้ายคดีถึงที่สุด ปรากฏว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีใครมาแก้ต่างให้ เรื่องเหล่านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เคยมีแนวทางและนโยบายเอาไว้ แต่ยังอาจจะมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้ต้องสงสัยอยู่ เจ้าหน้าที่จึงต้องมีความระมัดระวัง ส่วนสื่อเองก็มีส่วนช่วยได้ โดยไม่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ เช่นนำหน้าของผู้ต้องสงสัยมานำเสนอ

            ส่วนเรื่อง hate speech ก็เป็นเรื่องที่่น่าหนักใจอยู่ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะมาก ทุกคนสามารถเป็นผู้ส่งข่าวสารหรือทำหน้าที่สื่อได้เอง ข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีเยอะและกระจายได้รวดเร็ว สื่อมวลชนมืออาชีพจึงยิ่งต้องเป็นอย่าง  reference ได้ว่าข่าวนี้ถูกต้องน่าเชื่อถือ แต่หากเป็นข่าวที่มาจากแหล่งใดที่ยังไม่ปรากฏชัดก็อย่าเพิ่งเชื่อ ตรงนี้สื่อก็จะช่วยได้ในการเป็นมาตรฐานที่ดีให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ไปเติมเรื่องที่เป็นเชิงลบอย่างเรื่อง  hate speech ไม่อย่างนั้นสังคมก็จะเต็มไปด้วยอารมณ์ที่เป็น negative เพราะสื่อสามารถสร้างสิ่งที่เป็นพลังบวกขึ้นมาได้

-กับการเป็น กสม. 7  ปีต่อจากนี้ คาดหวังอย่างไรบ้างในการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย?

            สิ่งสำคัญแรกๆ เลยก็คือ เราต้องพยายามแก้เรื่องสิ่งที่ทำให้สถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนของเราอยู่ในระดับ B ในตอนนี้ ก็ต้องพยายามหาทางแก้เรื่องพวกนี้ เพื่อยกระดับการทำงาน ยกระดับศักดิ์ศรี สถานะในเวทีต่างประเทศ เพื่อที่จะให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น

            "การทำงานเราจะทำเต็มที่และประสานการทำงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดพลังขึ้น งานสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่งานของ กสม. 7 คน และไม่ใช่แค่งานของสำนักงาน กสม.ฝ่ายเดียว แต่เป็นงานของทุกคนที่เกี่ยวข้อง เราทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ได้ กสม.จะทำงานเชิงรุกและมองในเชิงโครงสร้าง เพราะบางอย่างหากเราแก้ในเชิงโครงสร้างได้ มันจะคลี่คลายปัญหาไปได้มาก"

                                    โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

......................................................................................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"