เกษตรกรฮึ่ม!จี้ประยุทธ์ ปลดบอร์ด'กยท.'ยกชุด


เพิ่มเพื่อน    

 

        ชาวสวนยางสุดทน! เตรียมร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ปลดบอร์ด กยท.ยกชุด อัดแทนที่จะยกชีวิตเกษตรกรกลับทำร้ายและซ้ำเติม ผลงานก็สุดบู่ ทำขาดทุน แต่กลับละเลงงบประมาณพะเรอเกวียน
        เมื่อวันอาทิตย์ นายศิวะ ศรีชาย แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง ให้สัมภาษณ์ถึงการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558  กยท.ไม่ประสบความสำเร็จการบริหารงานเลย โดยมีปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญไม่ได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่เกษตรกร ทำให้ในสัปดาห์นี้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจะยื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ปลด พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด รวมทั้งบอร์ด กยท.ออกไป และเร่งจัดหาคนที่มีความรู้ความสามารถเรื่องยางมาทำหน้าที่ดูแลโดยเร็ว
        "เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนราคายางตกต่ำมาหลายปี และยังไม่มีทิศทางดีขึ้น เราทนไม่ได้ ปัญหาสะสมมา ไม่มีใครแก้ไขให้ได้ แทนที่ กยท.เป็นหน่วยงานใหม่จะเข้ามาแก้ไข แต่กลับเป็นหน่วยงานสร้างปัญหาซ้ำเติมเกษตรกรให้เลวร้ายขึ้นไปอีก มาตรการแก้ไขจากรัฐบาลไปไม่ถึงเกษตรกร แม้แต่งบช่วยน้ำท่วม และเห็นชัดเจนเรื่องปุ๋ย ผ่านมา 2 ปี เกษตรกรเข้าโครงการปลูกทดแทนยางยังไม่ได้รับปุ๋ยและเงินส่งเสริม เพราะการจัดหาปุ๋ยมีความล่าช้า ได้ปุ๋ยไม่เต็มสูตร และยังมีราคาแพงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 3 บาท” นายศิวะกล่าว
        นายศิวะยังระบุว่า การแทรกแซงราคายางตั้งบริษัทร่วมกับ 5 เสือ ก็สร้างความเสียหาย จึงขอเรียกร้องให้มีคนมีความรู้เข้าใจการตลาด เข้าใจหัวอกเกษตรกรสวนยาง รู้กระบวนการผลิตยางดีกว่านี้ ถ้าปล่อยแบบนี้ชาวสวนยางแย่ทั้งประเทศ ตอนนี้รายได้หายไปครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่สินค้าอื่นๆ สูงขึ้น ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้ ม็อบยางยกระดับทั่วประเทศ ขับไล่ประธานบอร์ดและผู้ว่าฯ กยท.
        นายวุฒิ รักษ์ทอง แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้เร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง และอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่ให้เลิก กยท.ชุดปัจจุบัน โดยเป้าหมายหลักการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ต้องการให้ปลดคณะบอร์ด กยท.ทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาได้บริหารงานล้มเหลวถึง 2 เรื่องใหญ่ 
        สำหรับเรื่องแรกคือ การเปิดให้เอกชนเข้ามาเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เงินเซส) ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเข้ามากินหัวคิวแต่ละปีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท ทั้งที่ในความเป็นจริง แม้ไม่มีบริษัทนี้ ทางผู้ส่งออกยางต้องมีหน้าที่นำส่งค่าธรรมเนียมให้ กยท.อยู่แล้ว และเรื่องที่ 2 การที่ กยท.ไปร่วมทุนกับบริษัทเอกชนในนามบริษัท ร่วมทุนยางไทย จำกัด โดยวาดฝันให้บริษัทร่วมทุนซื้อยางในราคานำตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ แต่โครงการนี้กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
        “ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการเกษตรได้พยายามทักท้วงแล้ว แต่ไม่เป็นผล จนล่าสุดขาดทุนไปกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการชำระบัญชี เนื่องจากได้ปิดบริษัทไปแล้ว ถือว่าทำความเสียหายให้กับราชการและสูญเสียเงินแผ่นดินไปแล้ว จึงขอให้ดำเนินคดีอาญากับคณะบอร์ด กยท.ทั้งหมดด้วย” นายวุฒิกล่าว
        นายวุฒิยืนยันว่า การทำงานของบอร์ด กยท.มีความผิดพลาดมาโดยตลอด คล้ายกับให้คนไม่มีความรู้เรื่องยางพารามาออกนโยบายเพื่อประโยชน์บริษัทเอกชน แต่ไม่ได้ทำเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง จนถึงวันนี้เราเลิกเรียกร้องเรื่องราคายางพารา เลิกพูดถึงเรื่องตลาดโลก แต่จะพูดถึงเรื่องการบริหารงานของ กยท.เท่านั้น และถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกเอาผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่เข้าใจการทำงานมากุมชะตาพี่น้องชาวสวนยางอีกต่อไป
       ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  (สยยท.) กล่าวว่า กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กำลังตรวจสอบเรื่องการจัดประมูลปุ๋ย 6 หมื่นตันของ กยท.ที่ราคาแพงกว่าเกษตรกรซื้อเองถึง 3 บาทต่อ กก. ซึ่งการบริหารงานขาดทุนของ กยท. 800 ล้านบาทต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากไม่ยอมรัดเข็มขัด มาจากค่าเช่ารถประจำตำแหน่งผู้บริหาร 65,000 บาทต่อเดือน ค่ารักษาพยาบาลใช้โรงพยาบาลเอกชนเกือบ 300 ล้านบาทต่อปี ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเคยแถลงว่า ถ้า กยท.ขาดทุนมากๆ ก็ยุบทิ้ง
        "เรื่องนี้ตรงใจเกษตรกรสวนยาง ที่อยากให้ยุบ กยท. เพราะบริหารไม่เป็น ถ้างดเก็บเงินเซส  เกษตรกรก็จะได้เพิ่มขึ้น 2 บาทต่อกิโลกรัม ให้เกษตรกรพึ่งตนเองจะดีกว่าที่มีคนไม่รู้เรื่องมากำกับดูแล ถ้าอย่างนี้รัฐปล่อยเหมือนปาล์มน้ำมัน ข้าว และผลไม้จะดีกว่า" นายอุทัยกล่าว
    ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ 4/2561 ลงวันที่ 20 มี.ค.2561 เรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีคำสั่งให้นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯ กยท. ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกฯ เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษแล้ว โดยปัจจุบันมีนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการและเลขานุการ กยท. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ กยท.อยู่
วันเดียวกัน เว็บไซต์ thaigov.go.th ได้เผยแพร่ข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ยินดีที่กระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มเดินหน้าการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว ถือเป็นแห่งแรกของเอเชีย เพื่อดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่ EEC คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ และเปิดให้บริการแบบครบวงจรได้ในปี 2563 
     “นายกฯ ย้ำว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไทยมีความเข้มแข็ง จึงหวังให้ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ออกไปทดสอบและขอใบรับรองจากต่างประเทศ และยังจะช่วยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในไทยมากขึ้น”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"