บี้เลิกซื้อดาวเทียมกลาโหม!


เพิ่มเพื่อน    

 

    “ศรีสุวรรณ” ค้านสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกลาโหมซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านบาท อ้างเป็นดาวเทียมจารกรรม เปิดช่องล้วงตับคนไทยทั้งชาติ แค่กดเบอร์โทรศัพท์ก็ตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทร.เบอร์อะไร โทร.หาใคร ย้ำเป็นอันตรายต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต อีกทั้งจัดซื้อขัด รธน. 
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่อง  “ขอคัดค้านการเตรียมการจัดซื้อดาวเทียมจารกรรมมูลค่า 91,200 ล้านบาท” ระบุว่า ตามที่สภากลาโหม ได้พิจารณาแนวความคิดด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2561-2570 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) เพื่อนำไปสู่การจัดซื้อจัดหา "ดาวเทียมไธอา : THEIA 112 ดวง มูลค่า 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 91,200 ล้านบาทไทย (ไม่รวมค่าจัดส่งดาวเทียมขึ้นฟ้า) จากบริษัท THEIA Group โดยมีอดีตนักการเมืองในประเทศไทยเป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งอ้างว่ามีการร่วมทำ Thailand Satellites Data Information Processing Center กับสหรัฐอเมริกา โดยมีประเทศซาอุดีอาระเบียและคาซัคสถานตกหลุมพรางของสหรัฐดำเนินการไปก่อนแล้วนั้น ดาวเทียมดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วอาจเรียกได้ว่าเป็น “ดาวเทียมจารกรรม” ที่มีศักยภาพในการตรวจจับและเก็บภาพทุกสรรพสิ่งบนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวประเทศไทยที่ความละเอียด 0.5 เมตรต่อครั้งต่อวินาทีตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (86,400 ภาพทุกๆ 24 ชม.) ดังนั้น ไม่ว่าคนไทยทั้ง 66 ล้านคนจะทำอะไร แม้แต่กดเบอร์โทรศัพท์ดาวเทียมดังกล่าว ก็สามารถตรวจจับและบันทึกได้ว่าโทร.เบอร์อะไร โทร.หาใคร ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต และความเป็นส่วนตัวของบุคคล อันขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 32 และมาตรา 36 ที่ระบุไว้ชัดเขนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว” และ “การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้” 
        นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า นอกจากนั้น การดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมดังกล่าว ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา อาจขัดต่อมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย เนื่องจากประธานกรรมการ สทป.และคณะได้ไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และต่อมาได้มีการลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุดได้ลงนามในหนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm) เมื่อปลายเมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยการรับรู้ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เดินทางไปเยือนสหรัฐมาเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งๆ ที่สหรัฐเคยต่อต้าน คสช.มาโดยตลอด แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาติในเรื่องนี้ ทำให้นโยบายของสหรัฐเปลี่ยนไปทันที เมื่อไทยประสงค์จะซื้อดาวเทียมจารกรรมนี้มาจากสหรัฐอเมริกา
        "การดำเนินการของรัฐบาล นอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังไม่คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ประชาชนยากจน มีหนี้เฉลี่ยท่วมหัวเพิ่มขึ้น 7.1% การจ้างงานลดลง 0.2% ตามที่สภาพัฒน์รายงาน ส่วนหนี้ของรัฐบาลมีมากกว่า 5.1 ล้านล้านบาท ยังพยายามที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรมดังกล่าวในห้วงสุดท้ายของการมีอำนาจ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้ง 3 เหล่าทัพไปแล้วมากมาย โดยเฉพาะเรือดำน้ำมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ยังไม่พออีกหรือ ซึ่งกรณีดังกล่าวสมาคมจักต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไปในเร็วๆ นี้" นายศรีสุวรรณระบุ
    ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อ 2 มิ.ย.61 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุม IISS Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 17 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมี รมว.กลาโหมและผู้บริหารหน่วยงานความมั่นคงประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมหารือเต็มรูปแบบในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย บทบาทนำของสหรัฐอเมริกาและความท้าทายด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การผ่อนคลายความตึงเครียดของวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และการกำหนดทิศทางวิวัฒนาการของระเบียบด้านความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน 
    โดย พล.อ.เจมส์ แมททิส รมว.กลาโหมสหรัฐ ได้กล่าวถึง บทบาทนำของสหรัฐอเมริกาต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ความมั่นคงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในลักษณะเปิดกว้างและเสรี โดยสรุปว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับการดำเนินงานการทูตเชิงป้องกัน โดยยึดหลักนิติธรรมและความเท่าเทียมของทุกประเทศ ในการร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี โดยไม่ต้องการให้มีการเผชิญหน้าและสะสมกำลังทหาร พร้อมย้ำว่าการคงอยู่ของสหรัฐในภูมิภาค เพื่อดำรงเสถียรภาพ ความมั่นคง และความก้าวหน้าของทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน
    จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้พบและหารือทวิภาคีกับนางอนา เบอร์ชาลล์ รองนายกฯ โรมาเนีย ถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคและความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน และโรมาเนียจะเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในปี 62 ซึ่งจะได้ประสานประโยชน์ของภูมิภาคร่วมกัน
    โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตรได้พบและหารือกับนายกาวิน วิลเลียมสัน รมว.กลาโหมสหราชอาณาจักร ถึงการขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางทหารระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการฝึก ศึกษา และด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยอังกฤษ พร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปี 62 และมีความสนใจเข้าร่วมปฏิสัมพันธ์ในการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนและ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา พร้อมทั้งต่างใช้โอกาสนี้ เชิญ รมว.กลาโหมแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน เพื่อร่วมหารือทบทวนแนวทางความร่วมมือที่ผ่านมา และพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ในอนาคตให้มากขึ้น
    จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้พบและหารือกับนายฮาจิต ซิงห์ สัจจาน รมว.กลาโหมแคนาดา ถึงแนวทางการขยายความร่วมมือด้านการทหาร ทั้งด้านการฝึก ศึกษา ด้านการรักษาสันติภาพ และด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยแคนนาดาอยู่ระหว่างปรับกองทัพให้ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการป้องกันประเทศด้านเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น พร้อมทั้งขอชื่นชมบทบาทนำของไทยในภูมิภาค และพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า เป็นต้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"