เสียงแตกแก้รัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้ง-บทบาทส.ว.


เพิ่มเพื่อน    

  ประชุมร่วมรัฐสภา 22-23 มิ.ย.แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พลังประชารัฐชูบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ห้ามแตะ ส.ว.เด็ดขาด "เสี่ยหนู" ขวางใบเดียวพอ เชื่อดึงยาวเป็นปีกว่าจะจบ ขณะที่ฝ่ายค้านท่องคาถาสวิตช์วุฒิสภา

        เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า เบื้องต้นได้ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.ว่า จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-23 มิ.ย. เพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีแค่ญัตติของพรรคพลังประชารัฐเพียงญัตติเดียว โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอเข้ามา สัปดาห์หน้าพรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน รวมถึงพรรคอื่นๆ ถ้ายื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาจะนำมาร่วมพิจารณาไปในคราวเดียวกัน
    นายวิรัชกล่าวว่า ญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของนายไพบูลย์มีหลักการสำคัญคือ การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ไม่มีเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หากจะยื่นแก้รัฐ ธรรมนูญรายมาตรา ที่ต้องใช้เสียง ส.ส.สนับสนุน 1 ใน 5 หรือ 98 คน แต่ถ้ามีเสียงไม่ครบ พรรคพลังประชารัฐยินดีช่วยเติมชื่อให้ครบตามจำนวน แต่เนื้อหาที่แก้ไขต้องอยู่ในหลักการหรือประเด็นเดียวกับของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการลดหรือตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ
    "ถ้ามีเนื้อหาตัดอำนาจ ส.ว. จะไม่ร่วมลงชื่อให้ มองว่าอำนาจ ส.ว.ไม่ควรเข้าไปยุ่ง จะได้สะดวกไม่ยุ่งยากในการแก้ไข ถ้าไปตัดแขนขา ส.ว. ใครจะมาโหวตให้ เพราะการรับหลักการวาระแรก ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 83 เสียง เห็นชอบด้วย"
    นายวิรัชกล่าวอีกว่า หากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐได้รับความเห็นชอบวาระรับหลักการจากรัฐสภา จะเข้าสู่ขั้นตอนตั้ง กมธ.มาพิจารณาวาระสอง คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ประชุม 4-5 ครั้ง หรือประมาณ 1 เดือน น่าจะได้ข้อสรุป เพราะเป็นการแก้แค่รายมาตรา จากนั้นก็นำเข้าสู่การโหวตวาระสามได้ในเดือน ส.ค. อาจจะพิจารณาเสร็จก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ด้วยซ้ำ
    ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราอยู่แล้ว ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งนั้น ของ ภท.ใบเดียว ยืนยันไม่มี 2 ใบ เสนอมาเราก็โหวตแบบใบเดียว จะแพ้ชนะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล 5 ปีนั้น กว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็ใกล้หมดพอดี
    "เท่าที่ดูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกเป็นปี เพราะหากยังเห็นไม่ตรงกันอยู่มันก็ไปเรื่อย หากยุบสภาก็ต้องดูว่าแต่ละพรรคทำเรื่องไพรมารีโหวตเสร็จหรือยัง เท่าที่ตรวจสอบดูยังไม่ถึงครึ่ง ดังนั้น อะไรที่ยังไม่ถึงเวลาคิดก็ยังไม่คิด การเมืองเปลี่ยนได้ตลอด ตอนนี้คิดเพียงแต่การทำงานหาวัคซีนโควิด-19 ให้พอ" นายอนุทินกล่าว       
     นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า ทั้ง 3 พรรคได้พูดคุยและพิจารณาร่วมกันว่าจะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด 7 ฉบับ เพิ่มจากเดิม 6 ฉบับ ซึ่งร่างฉบับที่ 7 พรรคภูมิใจไทยขอเพิ่มเรื่องอำนาจสิทธิของประชาชนในการรับบริการของรัฐ และการคุ้มครอง โดยแต่ละพรรคได้พิจารณาในรายละเอียด จากนั้นจะมาร่วมกันพิจารณารายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ก่อนจะให้ ส.ส.แต่ละพรรคร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 17 มิ.ย.
    เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐยังไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจของ ส.ว. นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่เป็นไร เราแยกเสนอเป็นรายมาตราในแต่ละร่างอยู่แล้ว ถ้าเห็นพ้องกันก็สามารถลงมติให้ทุกฉบับได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราก็พอใจแล้ว
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวทางของพรรคเพื่อไทยในการเสนอร่างเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา มีทั้งหมด 5 ร่าง 1.แก้เพิ่มเติมมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.ร่างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่น สิทธิในการร้อง, สิทธิการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ 3.ร่างเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง 4.ร่างแก้ไขมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 5.ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คาดว่าน่าจะยื่นภายในสัปดาห์หน้า
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราให้ความสำคัญและเป็นเรื่องที่นำเสนอมาโดยตลอดคือ การปิดสวิตช์ ส.ว. ในมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี การเสนอแก้รายมาตรา โดยเฉพาะร่างของพรรคพลังประชารัฐ เรามองว่าเป็นการเบี่ยงประเด็นสำคัญเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"