ประกันสังคมเลื่อนฉีดวัคซีน 45 ศูนย์ทั่วกรุง! อ้างปิดปรับปรุงสถานที่และระบบเปิดอีกครั้ง 28 มิ.ย. "หมอหนู" ปัดไม่เกี่ยวกับ สธ. ยันส่งวัคซีนให้ตามคำขอทุกอย่าง แจงแอสตร้าฯ ทยอยมาทุกสัปดาห์ไม่ขาดช่วงแน่ มั่นใจ 2-3 เดือนเห็นผล รัฐบาลสรุป 4 วันฉีดแล้ว 5.6 ล้านโดส ลุยนิคมอุตสาหกรรมนำร่องที่ระยอง "หมอพร้อม" คัมแบ็กเปิด ปชช.ทั่วไปลงทะเบียนจอง 24 มิ.ย. อย.แจ้งข่าวดี "ไฟเซอร์" ยื่นขอทะเบียนแล้ว "ซิโนฟาร์ม" ดีเดย์ 25 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ที่เป็นวันแรกของการกระจายการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ โดยเริ่มกับประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเสี่ยง 7 โรค ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก นับถึงวันที่ 10 มิ.ย. มีจำนวนฉีดวัคซีนสะสม 5.66 ล้านโดส ซึ่งภายในช่วงเวลา 4 วัน นับจากวันที่ 6 มิ.ย. ที่มีจำนวน 4.21 ล้านโดส เพิ่มขึ้น 1.45 ล้านโดส ซึ่งจากนี้ไปทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความมั่นใจว่า จะได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตมากขึ้นและสามารถทยอยกระจายไปยังสถานบริการสาธารณสุขและจุดบริการต่างๆ เพื่อดำเนินการฉีดให้ได้ตามแผน
ทั้งนี้ สธ.จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเพื่อจองคิวการฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ได้ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ และหากไม่สะดวกช่องทางนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของจังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านได้
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เริ่มฉีดให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแล้วตั้งแต่ 9 มิ.ย. นำร่องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง และชุมชนรอบข้างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 25,000 คน จาก 1.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 2.นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) 3.นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย 4.นิคมอุตสาหกรรมผาแดง 5.นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และ 6.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งเป้าวัคซีนให้ได้วันละประมาณ 1,000 คน มากไปกว่านั้น ในส่วนของนักเรียนนักศึกษาไทย ที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. ถึง 6 มิ.ย.ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1,600 คน และรอการฉีดอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการในกลุ่มนี้แล้วเสร็จ ทางกรมการกงสุลจะพิจารณาเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกครั้ง
ทางด้านนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการของศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 45 ศูนย์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7-10 มิ.ย. รวม 4 วันที่ผ่านมา มีผู้มาฉีดวัคซีนจำนวน 174,193 คน ซึ่งคิดเป็น 87.09% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้วันละ 50,000 คน 4 วัน จะต้องฉีดได้ 200,000 คน
ปิด 45 ศูนย์เลื่อนฉีดวัคซีน
จากผลการดำเนินงานดังกล่าวที่ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100% เนื่องจากพบข้อขัดข้อง 2 เรื่อง ดังนี้ 1.ศูนย์บริการบางแห่งสถานที่ไม่เหมาะสม มีอากาศร้อนจัด เนื่องจากไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผู้ประกันตนที่มารับการฉีดวัคซีนไม่ผ่านการคัดกรอง เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่าที่ สธ.กำหนด บางรายเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ รวมทั้งเมื่อเกิดฝนตก บางแห่งไม่มีกันสาดป้องกันฝน ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับความเสียหาย ต้องหยุดบริการในบางช่วง และ 2.พบว่าเมื่อผู้ประกันตนมาลงทะเบียนก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน มีข้อมูลไม่ตรงตามที่ HR ของสถานประกอบการแจ้ง ในระบบ e-service ทำให้เกิดกรณีรายชื่อตกหล่น ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว จึงเห็นควรหยุดให้บริการชั่วคราวทั้ง 45 จุดทั่ว กทม. เพื่อปรับปรุงสถานที่และข้อมูลผู้ประกันตนที่ต้องการฉีดวัคซีนในระบบ e-service ให้ถูกต้อง เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมาย 100% โดยจะเปิดบริการอีกครั้งในวันที่ 28 มิ.ย.นี้
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกับตน สธ.ส่งวัคซีนตามคำขอทุกอย่าง การบริหารจัดการเป็นของหน่วยงาน ซึ่งอยากทำความเข้าใจ ไม่ใช่มาลงที่ สธ.ทั้งหมด ตอนนี้ทำหน้าที่จัดส่งวัคซีนตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ไปยังหน่วยงานที่ร้องขอมา ทั้งในส่วนของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการส่งถึงผู้ประกันตนมาตรา 33
"ยืนยันว่าส่งตามข้อตกลงทุกอย่าง ซึ่งล่าสุดประกันสังคมได้แจ้งไปยังบริษัทที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลว่าต้องการเช็กยอดการฉีดวัคซีนแต่ละบริษัท และย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ สธ. โดยประกันสังคมได้แจ้งไปยังกรมควบคุมโรคว่าแต่ละหน่วยงานต้องการวัคซีน โดยผมได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้รับการยืนยันว่าส่งไปหมดแล้ว ดังนั้นการจัดคิวก็ต้องเป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และ สธ.ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนหมดแล้ว ทั้งเรื่องวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์" รมว.สธ.ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การกระจายวัคซีนจะไม่ขาดช่วงใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีขาดช่วงแน่นอน ทั้งในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยยืนยันว่าส่งทุกอย่างทุกจังหวัด เมื่อวัคซีนถึงจังหวัดจะหมดหน้าที่ จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กระจายไปในแต่ละพื้นที่ นี่คืออำนาจหน้าที่ของ ศบค. ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องบูรณาการ หาก สธ.รับเองหมด ต้องเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ คนเฝ้าชายแดน ตายแน่นอน ซึ่งหมอและพยาบาลทำได้แค่รักษาโรค ขณะที่นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกกรณีมาโดยตลอด และได้สั่งการเพิ่มหากพื้นที่ใดมีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอนนี้ทุกอย่างเข้ารูปแบบทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ สธ.จัดส่งวัคซีนตามแผนของ ศบค. โดยจะจัดส่งให้ประกันสังคม 1 ล้านโดส ในกรณีที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามแผน ซึ่งไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีสัญญาในการจัดส่งให้ไทยทุกสัปดาห์ตามสัญญา ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตวัคซีนล่าช้าไม่สามารถระบุวันจัดส่งได้อย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตได้ในไทยต้องถูกกระจายส่งมอบให้กับประเทศในอาเซียน ทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์นั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยต้องภาคภูมิใจว่าของที่ผลิตในประเทศไทย หรือยาเวชภัณฑ์ที่ผลิตในไทยได้รับการยอมรับและมีมาตรฐาน เชื่อว่าคนที่เห็นข้างกล่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ระบุแหล่งผลิตว่ามาจากประเทศไทย ทุกคนคงภูมิใจ
มั่นใจ 2-3 เดือนเห็นผลแน่
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามความสามารถ เชื่อว่าภายใน 2-3 เดือนจะเห็นผล โดยจังหวัดภูเก็ตฉีดไป 60% แล้ว การติดเชื้อ การเจ็บป่วยหนัก และการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฉีดแล้ว 65% คาดว่าจะฉีดกลุ่มเป้าหมายครบทั้งหมดในเวลาอันสั้น จากนั้นจะรายงาน ศบค.เมื่อฉีดครบแล้วและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวตามนโยบายต่อไป
สำหรับการเปิดภาคเรียนวันที่ 14 มิ.ย.นั้น มีการฉีดวัคซีนกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อวันละ 4-5 พันคน หากอนาคตมีวัคซีนของไฟเซอร์เข้ามาจะฉีดในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งได้ให้กรมควบคุมโรควางแผนประสานความร่วมมือกับทางโรงเรียนเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนแทนนำนักเรียนมายังจุดฉีด โดยนำแพทย์ พยาบาล ไปฉีดถึงโรงเรียน และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาล ยาแก้แพ้ต่างๆ ทำให้มีความสะดวกและคล่องตัวมากกว่า หากวัคซีนซิโนแวคมีผลการศึกษาฉีดได้ถึง 3 ขวบ ก็จะขยายการฉีดด้วยเช่นกัน
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หารือกับนายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จากนั้นนายอนุทินเปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้หารือเรื่องการนำเข้าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์จอห์นสันที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้แล้ว จำนวน 1 หมื่นกว่าโดส เพื่อฉีดให้คนฝรั่งเศสอายุ 45 ปีขึ้นไปที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งทางกรมควบคุมโรคเห็นชอบแล้ว โดยจะนำเข้ามาในปลายเดือน มิ.ย.นี้
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)? กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตให้วัคซีนโควิด-19 เข้าในประเทศไทยว่า ขณะนี้วัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด ได้มายื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว โดยบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ยื่นเอกสารขออนุญาต และ อย.อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ก่อนหน้านี้ อย.ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วัคซีนโคโรนาแวกซ์ ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซน-ซีแลค จำกัด รวมถึงวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และล่าสุดวัคซีนของซิโนฟาร์ม โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ณ SCG (เอสซีจี) สำนักงานใหญ่ บางซื่อ และศูนย์การค้า The Street รัชดาฯ เขตดินแดง พร้อมระบุว่า เป็นวันที่ 5 ของการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com แอปพลิเคชันเป๋าตัง และร้านสะดวกซื้อตามที่ กทม.สรุปยอดผู้ได้รับวัคซีน ณ หน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 ศูนย์ ณ วันที่ 10 มิ.ย. มีผู้ได้รับวัคซีน จำนวน 14,114 คน รวมสะสม (7-10 มิ.ย.64) มีผู้ได้รับวัคซีน จำนวน 55,686 คน
ซิโนฟาร์มดีเดย์ 25 มิ.ย.
ที่อาคารสโมสร อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เชิญตัวแทนจากสถานพยาบาลเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการขึ้นทะเบียนเป็นสถานให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ทั้งนี้ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า คาดว่าวัคซีนล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส จะมาถึงไทยวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ใช้เวลาตรวจสอบคุณภาพ 2 วัน จากนั้นเริ่มกระจายวันที่ 23-24 มิ.ย.64 และกำหนดดีเดย์ให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพร้อมกันวันที่ 25 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ จะมีวัคซีนทยอยเข้าประเทศไทยทุกๆ 10 วัน สำหรับหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ ให้หน่วยงานแสดงความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนกับราชวิทยาลัยผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 14 มิ.ย.นี้ หน่วยงานต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค. กำหนดราคาวัคซีนเข็มละ 888 บาท ไม่เก็บเพิ่มจากผู้รับวัคซีน โดยจะจัดสรรให้หน่วยงานที่ขอรับไปดำเนินการ โดยให้รายงานหลังบริการให้กับผู้ด้อยโอกาสตามจำนวนร้อยละ 10 สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มมีชื่อการค้าว่า “โควิดโล” (COVILO) เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนวัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพรวมร้อยละ 78 ป้องกันโรคแบบรุนแรงและเสียชีวิตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉีดจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จัดเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโรงพยาบาลนครพิงค์ 2 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งหยุดพักการฉีดวัคซีนให้ประชาชนชั่วคราวเพื่อเตรียมเร่งฉีดวัคซีน?ให้บุคลากรการศึกษาเข็มที่ 2 รวมกว่า 4,000 คน ในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้? เพื่อรับเปิดเทอม? 14? มิ.ย. โดยให้ผู้ที่จองรับวัคซีน?ตามกำหนดไปฉีดที่? รพ.นคร?พิงค์?แทน
ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย พระรัตนมุณี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้นำคณะสงฆ์ เช่น พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง อ.เมืองเชียงราย พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี จากไร่เชิญตะวัน ฯลฯ รวมทั้งอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างสรรค์ศิลปะที่วัดร่องขุ่น อ.เมืองเชียงราย ร่วมฉีดวัคซีนแอสตร้าเนซเนก้า
นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางเทศบาลนครพิษณุโลกได้จองวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปแล้ว 2 หมื่นโดส ซึ่งวันที่ 14 มิ.ย.นี้ อบจ.พิษณุโลกจะทำหนังสือขอไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท จองวัคซีน 5.3 หมื่นโดส
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เทศบาลพร้อมใช้งบสะสม 50 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน 5 หมื่นโดส จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลหัวหินล็อตแรก 5 หมื่นคน จากนั้นจะจองซื้อล็อตต่อไปเพื่อฉีดให้ครบ 2 เข็ม
ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ได้ให้ความเห็นชอบให้ อบจ.นครราชสีมา ใช้งบซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 แสนโดส จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยเตรียมงบไว้ 100 ล้านบาท
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นอกจากเปิดบริการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังแล้ว มีคิวฉีดวัคซีนให้กลุ่มบุคลากรการศึกษาโรงเรียนต่างๆ เขตอำเภอเมือง รวม 1,133 คน ก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 28 มิ.ย.นี้
นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ที่ปฏิบัติงานฉีดวัคซีนเป็นวันแรก ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ซึ่งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนที่ 7 ของจังหวัดภูเก็ต ในส่วนของการจัดซื้อวัคซีนนั้น จะต้องรอดูก่อนว่าวัคซีนที่จังหวัดภูเก็ตได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาลเพียงพอต่อจำนวนประชากรในภูเก็ตหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |