ไทยกับแผนวัคซีนรุ่น ตั้งรับไวรัสกลายพันธุ์


เพิ่มเพื่อน    

 

            เมื่อพูดถึงเรื่องการฉีดวัคซีนของไทยเราต้องพิจารณา 3  ข้อ ดังนี้

            1.จำนวนวัคซีนที่มีให้ฉีด

            2.กำลังความสามารถในการกระจายและฉีด

            3.จำนวนประชาชนที่จะรับการฉีด

            “ข้อไหนน้อยที่สุด นั่นก็คืออัตราการฉีดวัคซีนต่อเดือนของเรา”

            นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  เล่าให้ผมฟังระหว่างการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์วัคซีนของไทยในยามนี้

            เดือนมิถุนายนนี้น่าจะเป็นเดือนที่ “โกลาหล” ที่สุด เพราะเป็นเดือนแรกที่มีปฏิบัติการเต็มรูปแบบ

            “สถานการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งประมาท เพราะวัคซีนไม่ใช่เสื้อเกราะ 100%”

            คุณหมอเตือนว่าอีกหน่อยก็จะเห็นบทเรียนจากบางประเทศ ที่บอกว่าฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่ความเป็นจริงนั้นไวรัสตัวนี้ยังสามารถโจมตีได้ตลอดเวลา

            “การใส่หน้ากากกับการล้างมือเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะเลิกได้ครับ...”

            การฉีดวัคซีนอาจจะทำให้การรักษาระยะห่างน้อยลงได้  และเราจะมีกิจกรรมต่อกันได้มากขึ้น

            “อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ มันมีปัจจัยสำคัญคือ ภูมิคุ้มกันใหม่จะเกิดได้จริงก็ต่อเมื่อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ แต่วัคซีนทุกวันนี้จะสามารถป้องกันการป่วย การป่วยหนักและเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ...”

            เมื่อวัคซีนยังไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ก็หมายความว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพียงแต่ป้องกันอาการรุนแรง

            “ดังนั้นคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแล้วหวังว่าจะพึ่งพาภูมิคุ้มกันหมู่ ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อจากคนที่ฉีดวัคซีนได้...”

            ขณะนี้มีข้อมูลว่าที่อังกฤษที่ทำทั้ง Pfizer และ  AstraZeneca ป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 40-50% เท่านั้น ทั้งสองยี่ห้อเลยนะครับ

            ดังนั้นแปลว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังอาจมีเชื้ออยู่ได้

            อีกประเด็นหนึ่ง การที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้จริง ไวรัสก็ต้องไม่มีการกลายพันธุ์เร็วเกินไป

            แม้เราจะฉีดวัคซีนแล้ว หากเจอไวรัสกลายพันธุ์ก็อาจป้องกันไม่ได้ หรือป้องกันไม่ได้เต็มที่

            “อาจจะมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงรณรงค์ให้คนไปฉีดวัคซีน คำตอบก็คือการฉีดวัคซีนนั้นสามารถป้องกันการป่วยรุนแรง...และจะกลายเป็นโรคหวัดปกติ เพราะคนฉีดวัคซีนแม้จะติดเชื้อโควิดก็อาจมีอาการเหมือนคนเป็นหวัดทั่วๆ ไป...ความน่ากลัวน้อยลง ภาระทางด้านบริการทางการแพทย์ลดลง...เราก็จะอยู่กับมันได้”

            -ตอนนี้ไทยเราเตรียมวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ อย่างไร

            คุณหมอนครบอกว่า Johnson & Johnson และ  Moderna จะทยอยมา

            “ไฟเซอร์มีความชัดเจนมากแล้ว...เราคุยกับไฟเซอร์ไม่ใช่เพียงเรื่องวัคซีนรุ่นแรกเท่านั้น แต่เราคุยถึงวัคซีนรุ่นที่สองแล้ว (เผื่อไวรัสกลายพันธุ์) เพราะเขากำลังศึกษาวัคซีน  second generation...”

            คุณหมอบอกว่า ไทยเราก็กำลังคุยเรื่องวัคซีนรุ่นที่สองกับ AstraZeneca ด้วยเช่นกัน

            “กับ Sinovac เราก็คุยเรื่องนี้เหมือนกัน...”

            คุณหมอนครบอกว่า ในแง่วิชาการแล้วอาจมีความเป็นไปได้ที่ “ฉีดแล้วก็ยังต้องฉีดอีก”

            “ดังนั้น ตอนนี้ไม่ว่าเราจะได้ฉีดตัวไหนก็คงได้ฉีดตัวถัดไป ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยก็กำลังทยอยออกมา”

            ต้องไม่ลืมว่าทั้งโลกไม่เคยใช้วัคซีนจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน

            ทุกวันนี้ยังมีวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการทดลองอีก 20  กว่าตัวที่รอผลวิจัยเฟส 3 อยู่

            -เอกชนไทยบางส่วนกำลังติดต่อ Moderna อยู่ใช่ไหม

            “ก็ต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐคือ องค์การเภสัชกรรมช่วยเจรจาอยู่ แต่จำนวนวัคซีนของยี่ห้อนี้มีไม่มากเพราะเขาเป็นบริษัท Biotech เล็กๆ แต่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ...กำลังการผลิตยังไม่มาก"

            ขณะที่ AstraZeneca กำลังทุ่มเต็มที่ ขยายกำลังการผลิตไปทั่วโลก

            เขาตั้งเป้าไว้ว่ากำลังการผลิตของเขาทั่วโลกจะต้องมีไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านโดสต่อปี

            เตรียมตั้งโรงงานผลิต 25 แห่งทั่วโลก

            ขณะที่ยี่ห้ออื่น เช่น Pfizer, Johnson & Johnson และ  Moderna จะเน้นที่กำลังการผลิตที่มีอยู่และจะขยายกำลังการผลิตเมื่อเห็นว่าวัคซีนของเขาได้ผล

            กลยุทธ์ทางการตลาดของแต่ละยี่ห้อจึงแตกต่างกัน

            เมื่อเรารู้ว่า “ม้าตัวไหน” กำลังจะวิ่งเร็วช้าแค่ไหนอย่างไร ก็สมควรที่เราจะต้องมียุทธศาสตร์เรื่องวัคซีนที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลาเช่นกัน.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"