เบื้องหลังการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย, AstraZeneca และ Siam Bioscience ค่อนข้างจะไม่เหมือนความสัมพันธ์รัฐและธุรกิจในยามปกติ
เพราะวิกฤติโควิด-19 นำมาซึ่งความผิดปกติในเกือบทุกมิติของการประสานงานระหว่างฝ่ายต่างๆ
ข่าวคราวที่ออกมาบ่อยครั้งก็เป็นเพียงแค่ภาพภายนอกที่เห็น แต่ข้างหลังภาพนั้นมีหลายรายละเอียดที่น่าสนใจ
วันก่อนผมคุยในรายการ Suthichai Live กับ นพ. นคร เปรมศรี, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปที่ไม่ค่อยจะได้รับรู้ระหว่างกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนให้ไทยเราในวันนี้และวันข้างหน้า
คุณหมอเริ่มโดยบอกว่า ต้องยอมรับร่วมกันก่อนว่านี่เป็นสภาพของการทำงานที่มีความไม่แน่นอนสูงตลอด
“ตามข้อตกลงในการทำงานร่วมกันนั้น กระทรวงสาธารณสุขของเราจะส่งแผนกำลังการฉีดวัคซีนของเราไปให้ AstraZeneca จากนั้นเขาก็จะไปดูว่าเขาจะมีแผนการผลิตวัคซีนได้เท่าไหร่เพื่อให้สอดคล้องต้องกัน...”
เป็นสถานการณ์ที่คุณหมอนครบอกว่าเป็นลักษณะ “ผลิต (วัคซีน) ไปใช้ไป”
กำลังการผลิตของ AstraZeneca ในไทยคือของ Siam Bioscience ก็จะอยู่ในลักษะของการค่อยๆ เพิ่มขึ้น
เมื่อแผนการผลิตเริ่มคงที่ การส่งมอบก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น
“ดังนั้นที่เราบอกว่า 6 ล้านโดสบ้าง 10 ล้านโดสบ้างนั้น คือแผนที่เราส่งไปให้เขา...”
อีกด้านหนึ่งก็ต้องเข้าใจด้วยว่า Siam Bioscience ซึ่งรับจ้างผลิตให้ AstraZeneca นั้น มีพันธสัญญาที่ต้องผลิตเพื่อส่งไปให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย
“เขาก็จะเปิดแผนให้เราดูว่าผลิตได้เท่าไหร่ ส่งให้ไทยได้เท่าไหร่และส่งออกไปเท่าไหร่...เราเป็น Hub การผลิต และมี 8 ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ขอเข้าถึงวัคซีนที่ผลิตในไทยให้เขา...บางประเทศจองซื้อมากกว่าไทยเราด้วยซ้ำ เป็น 100 ล้านโดส”
สถานภาพของ Siam Bioscience คือ Contract Manufacturing Organization (CMO) หรือองค์กรที่รับจ้างผลิตที่ต้องได้มาตรฐานระดับโลกที่เขาต้องการ
“ความจริง มีอีกหลายประเทศที่อยากจะได้สัญญากับ AstraZeneca แบบ Siam Bioscience แต่เขาเลือกเราเพราะศักยภาพที่จะทำตามมาตรฐานระดับสากลได้” คุณหมอนครเล่า
คุณหมอบอกว่า เมื่อ Siam Bioscience ส่งมอบวัคซีนที่ผลิตให้กับ AstraZeneca เขาก็บอกว่าส่งมอบให้ไทยก่อนและจะส่งออกไปในเดือนกรกฎาคม
“ตัวเลขที่เราได้ยินพูดๆ กันนั้นคือแผนฝ่ายเรา ส่วนแผนการส่งมอบนั้น...”
ดั่งที่นายเจมส์ ทีก กรรมการผู้จัดการของ AstraZeneca (Thailand) พูดในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา
ตัวเลขการผลิต, การฉีดและส่งมอบต้องพูดกันเป็นรายสัปดาห์
“เป็นการทำงานบนพื้นฐานของ partnership หรือแบบกัลยาณมิตร เพราะเราต้องมีความเข้าใจต่อกัน...”
เขาบอกฝ่ายไทยว่าทุกชีวิตที่อยู่ในสัญญาซื้อขายกับเขานั้น “มีค่าเท่านั้นหมด”
ผมถามคุณหมอนครว่าฝ่าย AstraZeneca บอกได้หรือไม่ว่าความสามารถในการผลิตเต็มที่ของเขาคือเท่าไหร่
“มันออกมาในรูปของการประเมินมากกว่าเพราะ Siam Bioscience เพิ่งเริ่มงานผลิตวัคซีน แต่ผมต้องยืนยันว่าตั้งแต่เริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca มาให้ฝ่าย Siam Bioscience ในช่วงแค่ 6 เดือนนั้น มองในมุมของผมในฐานะวิชาการมันคืออเมซิ่งแล้วนะ เป็นเรื่องน่าทึ่ง...”
คุณหมอนครบอกว่าคนที่เกี่ยวข้องทำงาน 24 ชั่วโมงกันจริงๆ ทั้งฝ่ายถ่ายทอดและฝ่ายรับเทคโนโลยีก็ทำงานกัน 24 ชั่วโมง โดยคุยผ่านออนไลน์กันได้ เขามีผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่หน่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีอยู่ 3 แห่ง 3 ไทม์โซน ที่ออสเตรเลีย, ยุโรปและอเมริกา
“ก็ต้องเปลี่ยนกะกันมาแลกเปลี่ยนกันทั้งสองฝ่าย ถือได้ว่ามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา...”
เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังฉากอย่างนี้เราไม่ค่อยจะได้รับรู้กัน
แต่ในภาวะของวิกฤติที่ความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนได้ตลอดเวลา การผลิตและส่งมอบกับการกระจายและฉีดวัคซีนจึงมีรายละเอียดที่ควรแก่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไม่น้อยเลย
(พรุ่งนี้: ไทยจองวัคซีนยี่ห้ออื่นไว้แล้วหรือไม่อย่างไร).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |