ในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ประเดประดังเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน โดยปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดเป็นหลัก คือ ประเด็นข่าว บมจ.ปตท. ที่ถูกกระพือข่าวในโซเชียลมีเดียอย่างหนัก ทั้งราคาน้ำมันแพง บอยคอตไม่เติมน้ำมันปั๊ม ปตท. และใส่ร้ายผู้บริหาร ทำให้ราคาหุ้น ปตท.ร่วงลงแรง ฉุดดัชนีหุ้นไทยให้ลงตาม เพราะสัดส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานค่อนข้างมีน้ำหนักต่อดัชนีเป็นอย่างมาก
ขณะที่การเมืองเริ่มคลี่คลายลง หลังจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความหวังกันอีกครั้งว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้แน่นอน
และอีกปัจจัยที่กดดันอย่างหนักจากต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นความเอาแต่ใจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ก่อความวุ่นวายทางการค้ากับหลายประเทศ โดยเริ่มที่สงครามการค้ากับจีน โดยจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จากนั้นก็มีการตอบโต้กันเรื่อยมา ต่อด้วยประกาศถอนตัวจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน แล้วจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดต่ออิหร่าน
จนมาถึงล่าสุด กับการเดินหน้าแผนสั่งเก็บภาษีเหล็กกล้า 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศเม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งแผนการดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป เรียกได้ว่าปั่นป่วนกันทั่วโลกจริงๆ ส่วนหลังจากนี้ก็ต้องจับตารอดูการประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
ซึ่งกว่าตลาดหุ้นทั้งไทยและทั่วโลกจะผ่านสถานการณ์กดดันมาได้ ถือว่าล้มลุกคลุกคลานกันมามาก พอๆ กับวิ่งหลบกระสุนในสนามรบกันเลยทีเดียว ที่สำคัญนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ต้องบาดเจ็บกับความไม่แน่นอนในแต่ละวัน เพราะการติดตามข่าวอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยได้ 100% ที่เหลือต้องอาศัยดวงล้วนๆ เช่นกัน และถึงแม้ที่ผ่านมาสถานการณ์ในตลาดหุ้นจะหักปากกาเซียนมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม การติดตามบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็ยังคงพึ่งพาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ตามวิจารณญาณของแต่ละบุคคลไป
โดยในเดือน มิ.ย.นี้ บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดกรอบดัชนีหุ้นไทยเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 1,710-1,780 จุด โดยตัวแปรสำคัญคือนักลงทุนต่างประเทศจะขายหุ้นต่อหรือไม่ และผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะออกมาแบบไหน ดังนั้น ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด จึงอยู่ในช่วงครึ่งเดือนแรก เพราะถ้านักลงทุนจะขายหนักที่สุด หรือดัชนีหุ้นไทยจะลงไปหา 1,710 จุด หรือต่ำกว่า 1,720 จุด ก็น่าจะอยู่ช่วงนี้ แต่หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นจังหวะในการเข้าสะสมหุ้น ซึ่งมองว่าช่วงครึ่งหลังของเดือน มิ.ย.ตลาดหุ้นไทยเมื่อผ่านการรับรู้ข่าวในเชิงลบไปมากแล้ว จะสูงกว่าช่วงครึ่งเดือนแรก
ขณะเดียวกัน แรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลหลักๆ คือ หมดยุคของดอกเบี้ยต่ำ และการปรับพอร์ตของนักลงทุน โดยเฉพาะการนำหุ้นจีนเข้าคำนวณดัชนี MSCI สัดส่วนประมาณ 0.7% ของดัชนี ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศที่ซื้อขายอิงดัชนีตัวนี้มีการขายปรับพอร์ต เพื่อไปรอซื้อหุ้นจีน ซึ่งประเมินว่าแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ จะมีต่อในเดือน มิ.ย. แต่คาดว่าจะเริ่มชะลอ เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ดี และการเมืองดูเป็นบวกมากขึ้น
ด้าน นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือน มิ.ย. ว่า คาดดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบ 1,680-1,780 จุด โดยมีกรอบแนวรับที่ 1,700 และ 1,680 จุด ส่วนกรอบแนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,770 จุด สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟดในวันที่ 12-13 มิ.ย. ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรปเริ่มจากอิตาลีที่ล่าสุดการจัดตั้งรัฐบาลมีทีท่าว่าจะล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ และความเสี่ยงในการออกจากยูโรโซนที่มากขึ้น
เห็นได้ว่าความวุ่นวายต่างๆ ที่จะเป็นตัวกระทบกับตลาดหุ้นยังมีมาไม่ขาดสาย จบเรื่องหนึ่งก็ยังมีเรื่องหนึ่งมารอเสมอ ดังนั้น นักลงทุนต้องพิจารณาให้รอบคอบ หรือหากไม่มั่นใจก็ควรจะถือเงินสดในมือไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อนค่อยลงทุนยังไม่สาย.
ปฏิญญา สิงห์พิสาร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |