เกือบสำเร็จแล้ว! "จตุพร" นำทีมไทยไม่ทนยื่นหนังสือให้ฝ่ายค้านลาออกบีบ "บิ๊กตู่" ไขก๊อก "สุทิน" รับลูก เป็นวิธีที่มีเหตุผล แต่ถ้าลาออกแล้วรัฐบาลไม่แยแสจะเสียโอกาสหรือไม่ เหมือนปิ้งปลาย่างให้แมว "ศุภชัย" โวยส.ส.เสียบบัตรภูมิใจไทยถูกชี้มูลซ้ำซ้อน
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 คณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา 35, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ยื่นหนังสือต่อนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อขอให้ฝ่ายค้านเสียสละลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
นายจตุพรกล่าวว่า ไม่เห็นประโยชน์ในการดำรงอยู่ของฝ่ายค้าน ยิ่งอยู่ประชาชนจะยิ่งเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย จึงอยากให้ฝ่ายค้านลาออกเพื่อร่วมต่อสู้กับประชาชนจะทรงคุณค่ากว่า และฝ่ายค้านจะได้กลับมาบริหารประเทศต่อไปในอนาคต แต่หากยังให้ระบอบประยุทธ์ดำรงอยู่และมีอำนาจต่อไป ความเสื่อมจะยิ่งเกิด ระบอบประยุทธ์ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้ ซึ่งการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ทุกฝ่ายต้องเสียสละ
ด้านนายสุทินกล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับฝ่ายค้านต่อไป แต่ส่วนตัวเข้าใจเจตนาและความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองของกลุ่มไทยไม่ทนฯ ซึ่งฝ่ายค้านมีจุดร่วมไม่ต่างกัน ที่อยากให้รัฐบาลบริหารบ้านเมืองคำนึงถึงความต้องการหรือความเดือดร้อนประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องรักษาระบบรัฐสภาไว้ แต่ที่กลุ่มไทยไม่ทนฯ ดำเนินการ เพราะเห็นว่าระบบรัฐสภาที่มีฝ่ายค้านอยู่ด้วยกำลังจะเสื่อม ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้
“มาตรการหนึ่งที่จะกดดันรัฐบาลคือการที่ให้ฝ่ายค้านลาออกจากระบบรัฐสภา ก็เป็นวิธีที่มีเหตุผล ถ้าเราสามารถทำวิธีนี้แล้วรัฐบาลเปลี่ยนความคิด และหันมาคำนึงถึงประชาชน เรายินดีลงทุน ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าถ้าลาออกแล้วได้ผลเราก็พร้อม แต่ถ้าลาออกแล้วรัฐบาลไม่แยแส ไม่สนใจเหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้น เราจะเสียโอกาสหรือไม่ เหมือนปิ้งปลาย่างให้แมวหรือไม่” นายสุทินกล่าว
ขณะที่นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มประชาชนคนไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา เพื่อให้ขอให้ ส.ว.เสียสละลาออก โดยนายนิติธรกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา เพราะสภาไม่ผิด อีกทั้งในขณะนี้ประเทศอยู่ได้ด้วยเงินกู้ การจะจัดเลือกตั้งรอบใหม่จะต้องใช้งบประมาณถึง 6,000 ล้านบาท อีกทั้งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นการเลือกตั้งในระยะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การลาออกจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
วันเดียวกันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ?มีมติชี้มูล ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท?ว่า กรณีความผิดทางอาญาที่จะต้องส่งศาลเป็นเรื่องที่ป.ป.ช.ดำเนินการโดยตรง ส่วนเรื่องความผิดจริยธรรม ทาง ป.ป.ช.จะส่งเรื่องมาที่สภา เพื่อให้ตนในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาฯ ดำเนินการต่อไป ต้องรอดูรายละเอียดคำวินิจฉัยตัวจริงก่อน ตอนนี้มีเพียงการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น จากการสอบถามสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดทราบว่าทาง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งมาที่สภา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ออกมาเปิดประเด็น ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ระบุว่า กว่าจะทำคดีนี้ได้ และเดินมาถึงวันนี้ยากลำบาก ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากใคร หาข้อมูลยากมาก
"แม้พรรคที่ผมสังกัดก็ไม่มีใครสอบถามอะไรเลย พรรคร่วมรัฐบาลก็อย่าโทษพรรคประชาธิปัตย์เลย เพราะไม่มีใครสอบถามผมเรื่องนี้เลย ผมทำตามลำพัง ในการทำคดีนี้ ผมลาออกจากทุกตำแหน่ง แม้กระทั่งลาออกจากรองหัวหน้าพรรค เพื่อให้เห็นว่าผมทำตามลำพัง พรรคไม่เกี่ยวข้อง" นายนิพิฏฐ์กล่าว
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กระบวนการหรือขั้นตอนแต่ละกรณีที่กล่าวหาว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง มีโทษทางอาญานั้น เป็นเรื่องที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะทางสภามีคณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบอยู่แล้ว การที่ถูกชี้มูลเรื่องจริยธรรมจะเป็นทำหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ ขอตั้งเป็นข้อสังเกต เพราะเป็นการทำผิดในกรณีเดียวกัน จะดำเนินคดีได้เพียงคดีเดียว แต่เรื่องนี้ถูกชี้มูลให้เป็นความผิดทางอาญา ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังถูกชี้มูลเรื่องผิดจริยธรรมอีก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จว่า “ก็ให้เขาชี้แจงไป”
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ที่ประชุมองค์คณะไต่สวน (กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนเป็นอนุกรรมการไต่สวน) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 มิ.ย. ได้พิจารณากรณีแจ้งข้อกล่าวหาแก่คณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 34 ราย ถูกกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จำนวน 1,921,061,629 บาท กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองนั้น
โดยองค์คณะไต่สวนมีความเห็นสรุปว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้มูลความผิดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก ตามข้อกล่าวหา และยังเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาที่จะคดโกงนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง รวมถึงพบว่าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมได้ดำเนินการเยียวยาให้กับทุกกลุ่ม ทุกสี ไม่ได้เยียวยาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตเพียงประเด็นเดียวคือ เมื่อ ครม.มีมติให้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว หลักการในการจ่ายเงินจะต้องมีระเบียบราชการรองรับ ซึ่งในจุดนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เป็นเพียงจุดเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้องค์คณะไต่สวนจะนำข้อสรุปนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ให้พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |