นับเป็นไทม์ไลน์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเมือง ที่มีสภาวะล่อแหลมอย่างยิ่ง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. หลังระหองระแหงกับพรรคภูมิใจไทย ในเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด ไม่นับรวมปัญหาบาดหมางของพรรค พปชร. กับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้หลายประเด็น
จู่ๆ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาชี้มูลความผิด ส.ส.ฝั่งรัฐบาล จำนวน 4 คน จากทั้งหมด 8 คน ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ท่ามกลางการวิเคราะห์ เป็นการส่งสัญญาณเตือนทางการเมืองอะไรหรือไม่
โดยฝ่ายที่ถูกชี้มูลความผิด มีฝั่งพรรคภูมิใจไทยจำนวน 3 คน เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง และ นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และถือเป็นแม่ทัพหญิงคุมพื้นที่ภาคใต้ของพรรคอีกด้วย
สำหรับคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง
ขณะที่อีก 1 คน คือ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ จากพรรคแกนนำรัฐบาล กรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 แม้ น.ส.ธณิกานต์จะอ้างว่าเหตุที่ไม่อยู่ในห้องประชุมเพราะไปร่วมงานเสวนารายการหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง
แต่เหตุผลไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ จึงมีมติชี้มูล โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรงเลยเช่นกัน
สำหรับการออกมาชี้มูลความผิดครั้งนี้ หากมองตามเนื้อผ้าถือว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ไม่ค้านสายตาประชาชน เพราะให้เหตุผลชัดว่า 4 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่ถูกชี้มูลความผิดไม่อยู่ในห้องประชุมจริงในช่วงการเสียบบัตร
แตกต่างจาก ส.ส.คนอื่นๆ ที่รอดพ้นจากการชี้มูลความผิด เพราะไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ไม่มีพฤติการณ์ เนื่องจากพยานระบุว่าเห็นแค่ถือบัตร 2 ใบ แต่ไม่เห็นว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน จึงไม่ผิดทั้งอาญาและไม่ผิดจริยธรรม
เท่ากับว่า ป.ป.ช.สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และเรียกความเชื่อมั่นจากสังคมคืนมาได้ ไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาลอย่างที่มีความพยายามกล่าวหา
แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุม โดยมีการวิเคราะห์กันว่า อาจเป็นเกมการเมือง เพื่อส่งเสียงเตือนนักการเมืองที่ไม่เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในยามที่พรรคภูมิใจไทยกำลังเกิดรอยร้าวกับผู้มีอำนาจ 3 ป.ในหลายประเด็น อีกทั้งยังเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 ที่เป็นนั่งร้านสำคัญและกำหนดเสถียรภาพของรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องการส่งสัญญาณหวดก้นให้กลับมาเดินในเส้นทางที่ผู้มีอำนาจกำหนดไว้ใช่หรือไม่
ขณะที่ น.ส.ธณิกานต์ ถือเป็น ส.ส.สมัยแรกและจัดว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ส.ส.สายแข็ง หากเทียบกับนายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ลูกชายนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่รอดพ้นการชี้มูลไป อีกทั้งเธอยังเป็น 1 ใน 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยขัดมติพรรค พปชร. ในศึกซักฟอกรอบล่าสุด และถูกมองว่าท้าทายอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.มาแล้ว ดังนั้นผลที่ออกมาอาจหมายถึงการสั่งสอนใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้คดีอาญา 4 ส.ส.อาจต้องใช้เวลาอีกนาน หรืออาจนานกว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้ก็ตาม เพราะกระบวนการตรวจสอบต้องมีความเข้มข้นสูง ผ่านกระบวนการของอัยการ รวมทั้งการรับฟ้องและ ตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แตกต่างจากกระบวนการเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง ที่อาจใช้เวลารวดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องพิสูจน์ความผิดเข้มข้น เมื่อเทียบกับคดีอาญา ไม่ต้องผ่านอัยการ แต่ยิงตรงไปที่ ศาลฎีกา และหากรับฟ้องจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างเช่น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จากปมรุกป่าสงวนแห่งชาติที่จังหวัดราชบุรีมาแล้ว ซึ่งทั้งสองกระบวนการนี้ของ 4 ส.ส.จะลงเอยเช่นใด ศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสินออกมา
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนดังๆ อีกครั้ง หากใครคิดจะลองดีกับผู้มีอำนาจ 3 ป. อาจพบชะตากรรมเช่นนี้ก็เป็นได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |