ที่เรียกว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) นั้น แปลว่าเป็นการ “นำร่อง” ทดลองว่าหากเราเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด จะมีความเป็นไปได้เพียงใด
ก่อนที่รัฐบาลจะเปิดไฟเขียวให้ภูเก็ตนำร่องได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ ผมต่อสายไปคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว
ท่านบอกตรงๆ ว่า ภูเก็ตจะเปิดเมืองได้หรือไม่อยู่ที่ปัจจัย 3 ข้อ
ภูเก็ตเตรียมความพร้อมแค่ไหน
ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน
โลกต้องพร้อมด้วย
“ทั้งสามอย่างนี้ต้องร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน... ดังนั้นเราจะเปิดวันที่ 1 กรกฎาคมได้หรือไม่อยู่ที่ข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้”
ผู้ว่าฯ ณรงค์บอกว่าภูเก็ตโดนโควิดครั้งนี้ “เดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส” เพราะมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว
ท่านเรียกว่า “เศรษฐกิจแบบศาลพระภูมิ”
นั่นแปลว่ามีเสาเดียว, ขาเดียว
แผนระยะยาวสำหรับภูเก็ตคือการสร้างเศรษฐกิจที่มีมากกว่า 1 ขาคือการท่องเที่ยว
จึงมีการใช้ “เกาะมะพร้าว” เป็นจุดทดลองเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของภูเก็ต ที่ต้องขยายศักยภาพไปด้านอื่นๆ เพื่อไม่ให้ต้องพึ่งพาแต่เพียงการท่องเที่ยวอย่างเดียว
ส่วนกิจกรรมเฉพาะหน้านั้น ท่านผู้ว่าฯ บอกว่าทุกภาคส่วนช่วยกันคิดว่าภูเก็ตจะชนะสงครามกับโควิดครั้งนี้ได้อย่างไร
ที่ตกผลึกกันแล้วมี 5 ก้อนงานที่จะต้องทำ
1.จะควบคุมสถานการณ์โควิดได้อย่างไร
2.เราจะสกัดเชื้อที่จะแพร่เข้ามาได้อย่างไร
3.จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในจังหวัดได้อย่างไร
4.เราจะดูแลคนภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างไร
5.ในระหว่างที่เตรียมตัวเปิดเมือง เราจะต้องทำอย่างไร
ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ภูเก็ตมีตัวเลขคนติดเชื้อสะสมที่ 671 ราย (ตัวเลขสัปดาห์ก่อน) รักษาหายกลับบ้านได้ 613 ราย อยู่โรงพยาบาล 61 ราย
ในช่วงสัปดาห์หลังๆ นี้ภูเก็ตมีคนติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 10 คนติดต่อกันกว่า 20 วัน
“ความพร้อม” ของภูเก็ตจึงมาในรูปของมติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา
ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะมีกำหนดดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยมีกำหนดแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ดังนี้
1.เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
2.กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้ว เดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปีจะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต
3.มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
4.มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน
5.พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ เป็นเวลา 14 คืน และภายหลังการพำนักตามระยะเวลาที่กำหนด สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้
6.รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA
ขณะเดียวกัน มีการดำเนินการเตรียมพื้นที่รองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวภายใต้แผนการพัฒนาเมืองภูเก็ต (Better Phuket Initiatives) เช่น
1.การปรับปรุงภูมิทัศน์
2.โครงการสร้างคุณค่าและประสบการณ์โดยการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์
3.การพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการท่องเที่ยว
4.การดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว
ท้ายที่สุด การสร้าง “นิวภูเก็ต” ที่มีความหลากหลายและศักยภาพในการตั้งรับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า จะกลายเป็นโจทย์สำคัญที่สุด
เพราะวิกฤติโควิด-19 กลายเป็น “นาฬิกาปลุก” เสียงดังลั่นว่าภูเก็ตจะทำตัวเหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |