นับตั้งแต่เกิดการระบาดโรคโควิด-19 ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นมาก พร้อมๆ กับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 60 % สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ชี้ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดปัญหาขยะด้วยหลัก 3 Re
ย้อนกลับไปราว 2-3 ปีที่แล้ว กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมไทยปรากฏชัดมากจากนโยบายลดและกำจัดขยะที่ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการงดใช้ถุงพลาสติกบรรจุสินค้าจากร้านค้า การรณรงค์ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้แทนการใช้กล่องโฟมหรือพลาสติก ขณะที่ผู้บริโภคก็หันมาพกถุงผ้า กระติกน้ำ กล่องข้าว จนเริ่มกลายเป็นภาพที่เคยชิน หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองจนเริ่มเป็นนิสัย
อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโคโรน่าตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามด้วยมาตรการกักตัวอยู่บ้านเพื่อรักษาระยะห่างและลดโอกาสติดเชื้อ พฤติกรรมรักษ์โลกก็จำต้องถูกพักไว้ชั่วคราว แทนที่ด้วยการสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งมาพร้อมกับภาชนะและถุงพลาสติกเป็นจำนวนมากราวปีละหลายพันล้านชิ้น แม้แต่การรับประทานในร้านอาหารก็ยังใช้ถุงร้อนบรรจุจานชามและช้อนส้อมของแต่ละคน
ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ได้รับการคลี่คลายลง เมื่อสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแนะนำวิธีจัดการขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปริมาณขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์
รายงานจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 62 ซ้ำยังเป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้น้อย เพราะส่วนมากเป็นขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องโฟมใส่อาหาร ขวดและแก้วน้ำพลาสติก
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ภายใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2568) จะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2,325–6,395 พันล้านชิ้นต่อปี
หลัก “3 Re” ลดขยะจากอาหารออนไลน์
ขณะที่เรากดสั่งอาหารออนไลน์ เรามักจะนึกเพียงเมนูและราคาอาหาร ยิ่งสั่งหลายรายการ ก็ยิ่งได้รับส่วนลดมากขึ้นจากการแข่งขันทางธุรกิจของเจ้าของแพลตฟอร์มรับจัดส่งอาหาร ซึ่งอาจไม่ทันเฉลียวใจว่าเราต่างกำลังเพิ่มปริมาณขยะพลาสติก กว่าจะรู้ตัวอีกครั้งก็หลังบริโภค หลายคนจึงทำได้เพียงแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง บางคนอาจทำมากกว่านี้ด้วยการลงมือล้างทำความสะอาดขยะแล้วผึ่งให้แห้งก่อนนำไปทิ้งในถังขยะ
บทบาทของเจ้าของแพลตฟอร์มรับสั่งและส่งอาหารจะทำอะไรได้บ้าง?
ธุรกิจรับสั่งและส่งอาหารที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ลำพังกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาและความรวดเร็วอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไปเมื่อผู้บริโภครู้จักเลือกผู้ให้บริการที่คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ของผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกล หันมาใส่ใจกับการลดขยะพลาสติกที่กำลังท่วมโลก ชิงความเป็นผู้นำในบริการขนส่งอาหาร สร้างความแตกต่างในธุรกิจพร้อมโอกาสเพิ่มรายได้จากภาพลักษณ์ “สีเขียว” ก่อนใคร
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ปรับหลักการ 3 Re ที่เราคุ้นเคยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
Reduce – มาตรการลดการใช้ ข้อนี้ เจ้าของแพลตฟอร์มทำได้ทันทีด้วยการเพิ่มฟังก์ชัน “ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก” แบบอัตโนมัติ หากลูกค้าต้องการรับด้วยจึงเพิ่มด้วยตนเองภายหลัง ปัจจุบัน ทั่วโลกเริ่มมีบริการเช่นนี้ บางแห่งใช้เป็นแรงจูงใจโดยเพิ่มส่วนลดให้แก่ลูกค้าที่ไม่รับซึ่งได้ผล ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกส่วนลดแทนอุปกรณ์พลาสติก ขณะที่ฝ่ายเจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องกำชับกับร้านค้าในเรื่องนี้
Replace – มาตรการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือก แนวทางนี้น่าจะควบคุมได้ไม่มากเนื่องจากต้องเริ่มที่ต้นทางคือร้านอาหาร หากได้ผล วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากโดยผู้บริโภคไม่ต้องกังวล และจะยิ่งได้ผลเร็วขึ้นหากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการควบคุมราคาทุนของบรรจุภัณฑ์ทางเลือกซึ่งปัจจุบันยังมีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก
Reuse – มาตรการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ แนวทางนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยแต่ผู้ประกอบการรายย่อยบางรายก็เริ่มทดลองใช้มาตรการนี้แล้ว เช่น การใช้ระบบมัดจำ-ส่งคืน (deposit-return system) โดยกำหนดจุดรับคืนภาชนะตามอาคารย่านธุรกิจและที่พักอาศัย ไม่ก็นัดหมายส่งคืนผ่านแอปพลิเคชัน แนวทางนี้น่าจะเป็นวิธีที่ลดปริมาณขยะได้มากที่สุดหากผู้บริโภคเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ
รัฐต้องเข้ม บังคับใช้มาตรการ ?
มาตรการควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Ban Policy) ในสาธารณรัฐประชาชนจีน คือกรณีศึกษาที่ชี้ว่าหากภาครัฐเข้มงวด มาตรการบังคับใช้ย่อมได้ผล เช่น การห้ามแจกถุงพลาสติกในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้ในธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ในเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งก่อนที่จะขยายผลครอบคลุมเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ออกกฎห้ามผลิตและใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 8 ชนิด ได้แก่ ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ จาน หลอด ก้านทำความสะอาดหู แท่งคนเครื่องดื่ม ก้านลูกโป่ง กล่องโฟม และผลิตภัณฑ์ที่ผสมสาร OXO (พลาสติกไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ)
ทั้งสองกรณีศึกษาสะท้อนความสำคัญของท่าทีและบทบาทภาครัฐ ซึ่งมีศักยภาพในการใช้มาตรการระงับวงจรการก่อขยะพลาสติกได้อย่างจริงจังและกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลไทยยังคงเลือกวิธีการ “ขอความร่วมมือ” มากกว่าการบังคับ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ต้องการความมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งหากได้ผลเป็นรูปธรรม มาตรการเข้มงวดใด ๆ ก็ไม่จำเป็น
ขณะนี้หลาย ๆ คนได้แนวทางที่จะสั่งอาหารออนไลน์ให้เกิดขยะอย่างน้อยที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถกำจัดขยะพลาสติกที่เกิดจากการสั่งอาหารออนไลน์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะพลาสติกที่ล้นเมืองนี้ได้ ถ้าหากทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักต่อปัญหาขยะ และมีการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะกันอย่างจริงจังกันอย่างเช่นช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิดได้ อีกไม่นานจะได้เห็นตัวเลขปริมาณขยะพลาสติกลดลงได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |