'ธปท.'ยันพรก.ฟื้นฟูลุยช่วยลูกหนี้พร้อมปลดล็อกเงื่อนไข ดึง บสย. ค้ำประกันอุ้มกลุ่มเสี่ยง


เพิ่มเพื่อน    

9 มิ.ย. 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ถึงการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) ว่าโจทย์สำคัญในตอนนี้ คือ การเร่งช่วยลูกหนี้ให้รอดมากที่สุด จึงเห็นว่าสินเชื่อควรออกไปได้เร็วและตรงจุด การที่จะให้สินเชื่อออกได้เร็วต้องใช้กลไกที่มีข้อมูล เข้าใจลูกหนี้ เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ว่าลูกหนี้รายใดมีโอกาสฟื้นฟู และกลับมาทำธุรกิจได้ในอนาคต

สำหรับความกังวลว่ามาตรการจะเลือกช่วยเหลือแต่ลูกหนี้ชั้นดีนั้น เป็นสิ่งที่ ธปท. คำนึงถึงเช่นกัน จึงใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ที่ลูกหนี้ต้องจ่ายค่าค้ำประกันที่ 1.75% เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มสีส้มมากขึ้น เพราะกลุ่มสีเขียวที่เป็นลูกหนี้คุณภาพดีจะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อีกทั้ง มาตรการยังได้รับความร่วมมือจากบางกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ในการช่วยให้สินเชื่อผ่านไปถึงธุรกิจรายเล็กในห่วงโซ่การผลิตด้วย

โดยความคืบหน้าล่าสุดของสินเชื่อฟื้นฟูฯ คาดว่าลักษณะการใช้เงินจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเยียวยา ระยะที่ 2 ใช้สินเชื่อเมื่อเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และระยะที่ 3 คือ ช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 100,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน ซึ่งปัจจุบัน (2 มิ.ย.) ยอดคงค้างอยู่ที่ 20,839 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 8,218 ราย เฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย

“ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้หารือกับหลายฝ่าย ทั้งสถาบันการเงิน และลูกหนี้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมโรงแรม ในการหารูปแบบมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. ซอฟท์โลนเดิม เพื่อเอื้อให้ลูกหนี้เอสเอ็มอสามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูฯ ได้มากขึ้น ทั้งการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกิจในวงกว้างขึ้นขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงปรับใช้กลไกค้ำประกันของรัฐ โดยบสย. และเพิ่มอัตราการค้ำประกันสินเชื่อ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงประเด็นโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ สถาบันการเงินและลูกหนี้อาจยังไม่คุ้นเคย สิ่งที่ ธปท. ทำคือการออกแบบสัญญามาตรฐาน เพื่อหาแนวทางการเจรจาที่เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ต้องอาศัยเวลาในการเจรจา และบางส่วนรอมาตรการสนับสนุนทางภาษีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ราย มูลค่าโอนสินทรัพย์ 910 ล้านบาท และเชื่อว่าระยะต่อไปทั้งสินเชื่อฟื้นฟูฯ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้จะมีผู้มาเข้าร่วมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธปท. ยืนยันว่าลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติทุกรายมีสิทธิเท่ากันในการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูฯ ไม่ว่าจะเคยกู้ผ่านมาตรการซอฟท์โลนเดิม หรือไม่ ต่างก็กู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อเท่ากัน และในเรื่องการกำหนดราคาตีโอนสำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้นั้น ธปท. ได้สร้างกลไกให้ราคาตีโอน เท่ากับราคาซื้อคืน บวก ค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก เพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขณะนี้

“ธปท. พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับส่วนรวม หากมาตรการไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ และพร้อมรับข้อเสนอต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติและจะใช้ความยืดหยุ่นของ พ.ร.ก. นี้ให้เป็นประโยชน์” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"