ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีเรียกร้องขอเช่าที่ดิน รฟท.บริเวณนิคมรถไฟมักกะสันเพื่อสร้างบ้าน
ชุมชนริมทางรถไฟ กรุงเทพฯ / ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีลุ้น ขอเช่าที่ดินนิคมมักกะสัน 27 ไร่จาก รฟท.สร้างบ้านมั่นคงรองรับ 11 ชุมชน 645 ครอบครัว ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ รมว.คมนาคมเร่งแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชมชน ส่งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบข้อมูลจัดหาที่ดินรองรับผู้ได้รับผลกระทบโดยให้รายงานผลภายใน 30 วัน รวมทั้งแก้ปัญหาคดีความที่ชาวบ้านโดนการรถไฟฟ้องร้องขับไล่เกือบ 60 คดี
ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงการพัฒนาระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และนำที่ดิน รฟท.ย่านพหลโยธิน เขตบางซื่อ ย่าน กม. 11 เขตจตุจักร และนิคมมักกะสัน มาพัฒนาเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกันจะต้องมีการรื้อย้ายชุมชนที่บุกรุกที่ดิน รฟท. ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวชุมชนกว่า 10 ชุมชน ประมาณ 1,000 ครัวเรือน โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานั้น
รมว.คมนาคมตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินรองรับผู้ได้รับผลกระทบ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2564 โดยมีประเด็นที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการของ รฟท. มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น ผู้ว่าการรถไฟฯ ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) บอกว่า การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการเลื่อนประชุมมาแล้วหลายครั้ง และยังไม่ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหา เช่น ข้อเสนอการเช่าที่ดิน รฟท.ในเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม แต่ รฟท.ได้ยื่นฟ้องขับไล่ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ หลายชุมชน รวมเกือบ 60 ราย เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟจึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยเรียกร้องให้นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินโดยเร่งด่วน
ส่วนผลการประชุมนั้น นายเชาว์บอกว่ามีแนวโน้มที่ดี เพราะถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหา แต่ รมว.คมนาคมได้ตอบรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ โดยเครือข่ายมีข้อเสนอหลัก คือ 1.ขอเช่าที่ดิน รฟท.ในรัศมีที่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมเกิน 5 กิโลเมตร เพื่อนำมาปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากชาวชุมชนริมทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย มีอาชีพทำงานรับจ้างหรือค้าขายเล็ก ๆ น้อยอยู่ในเมือง หากให้ย้ายออกไปอยู่นอกเมืองจะได้รับความลำบาก เพราะต้องไปเริ่มทำมาหากินใหม่ หากจะเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองก็ต้องใช้เวลานานและเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น และ 2.ขอให้ รฟท.ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในขณะที่ยังไม่ได้ข้อยุติการแก้ไขปัญหา
นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ
“ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องที่ดินนั้น เครือข่ายเสนอขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ ย่านนิคมมักสะสัน ซึ่งมีอยู่ 497 ไร่ เราขอแบ่งปันเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 27 ไร่เศษ ซึ่งตอนนี้บริษัทซีพีได้ประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินไปแล้ว และจะใช้พื้นที่แปลงนี้ 150 ไร่เพื่อทำธุรกิจ แต่ก็ยังมีที่ดินเหลืออยู่ตรงนี้อีกหลายร้อยไร่ เราจึงขอใช้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ดินแปลงนี้การรถไฟฯ บอกว่าเป็นย่านธุรกิจค่าเช่าจึงต้องสูง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมจึงให้ตั้งคณะกรรมการชุดเล็กไปดูพื้นที่นิคมมักกะสัน รวมถึงย่านพหลโยธินที่ชาวชุมชน กม. 11 จะขอเช่าที่ดินเพื่อสร้างบ้านว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือจะมีรูปแบบไหนที่จะรองรับชาวชุมชนได้” ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟบอก และว่า คณะกรรมการชุดเล็กนี้จะลงไปสำรวจข้อมูลที่ดินและรายงานผลให้รัฐมนตรีทราบภายในเวลา 30 วัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รฟท.เสนอให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในที่ดิน รฟท.ย่านหลักหก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไกลกว่าที่เดิมประมาณ 30 กิโลเมตร และมีสภาพเป็นท้องทุ่งริมทางรถไฟ ชาวบ้านจึงไม่รับข้อเสนอ เพราะเห็นว่าจะทำมาหากินลำบาก เพราะส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างอยู่ในเมือง
ส่วนที่ดินนิคมรถไฟมักกะสันที่เครือข่ายเสนอขอเช่านั้น มีเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่เศษ จะนำมาสร้างที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูปแบบเป็นบ้านแถวขนาด 2 ชั้น กว้างยาวประมาณ 4X7 ตารางเมตร รองรับชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟในเขตราชเทวีและห้วยขวาง จำนวน 11 ชุมชน รวม 645 ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีที่ดิน รฟท.ย่านพหลโยธินที่ชุมชนย่าน กม.11 จะขอเช่าที่ดินเนื้อที่ 13 ไร่เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เช่นกัน รองรับได้ประมาณ 300 ครอบครัว
ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการให้ รฟท.ชะลอการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านนั้น นายเชาว์บอกว่า เนื่องจากปัจจุบันมีชาวบ้านในย่านชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี ย่าน กม.11 เขตจตุจักรและบางซื่อ รวมทั้งย่านมักกะสัน และอาร์ซีเอ เขตห้วยขวาง โดนฟ้องร้องขับไล่แล้วเกือบ 60 ราย รัฐมนตรีคมนาคมจึงได้สั่งให้การรถไฟฯ เร่งทำสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวให้แก่ชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องไปให้การต่อศาลตามนัดหมาย สัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวก็จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี รวมทั้งให้ชะลอการดำเนินคดีในช่วงนี้ด้วย
ทั้งนี้เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟจะประชุมร่วมกันในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมจัดทำข้อเสนอการเช่าที่ดินต่อการรถไฟฯ เช่น อัตราค่าเช่าที่เหมาะสม รูปแบบการสร้างที่อยู่อาศัย รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ที่จะนำเสนอในการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมครั้งต่อไปด้วย
เส้นทางรถไฟสายตะวันออกที่วิ่งผ่านย่านราชเทวี ซึ่งบริษัทซีพีจะใช้เป็นแนวก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |