ก่อนหน้านี้หลายคนคงแปลกใจว่า เหตุใดพรรคพลังประชารัฐจึงเลือกดึง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้าสู่สังกัด
แน่นอนว่า เรืองไกร อาจจะเป็นนักร้อง แต่ที่ผ่านมาการร้องเรียนของอดีต ส.ว.รายนี้ โดยเฉพาะการขอให้ตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้สร้างความหนักใจอะไร
ขณะเดียวกัน เรืองไกร ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่มีฐานเสียง ที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส.เพิ่ม การดึงเข้ามาไม่ได้มีประโยชน์ในแง่คะแนนนิยมแต่อย่างใด
แต่การที่พรรคพลังประชารัฐเลือกดึงอดีต ส.ว.ผู้นี้ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีถึง 2 คนร่วงเก้าอี้มาแล้ว จากคดีหุ้นชินคอร์ป และชิมไปบ่นไป เข้าสู่ชายคาในกลางเทอม ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น
โดยเฉพาะการเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ พ่วงด้วยตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการ
การให้ดำรงตำแหน่งสำคัญและมีบทบาทชัดเจน แสดงให้เห็นว่าที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ ไม่ใช่เพราะต้องการจะปูนบำเหน็จที่ยอมย้ายขั้วเปลี่ยนข้างมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่การดึง เรืองไกร มาเพราะต้องการใช้งานจริงๆ
แม้ เรืองไกร จะอยู่ในตำแหน่ง ส.ว.มาเกือบสิบปี แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเจ้าตัวคือ ความรอบรู้เรื่องการเงิน การบัญชี และกลไกรัฐสภา ดังนั้น การเอามานั่งในตำแหน่งกรรมาธิการงบประมาณ น่าจะหวังใช้เป็นตัวชนในการงัดง้างและฟาดฟันกับฝ่ายค้านในชั้นกรรมาธิการ ที่ตั้งแท่นจะปรับลดงบประมาณสำคัญๆ ของรัฐบาล
ดังจะเห็นว่า เพียงไม่กี่วันหลังการแต่งตั้ง เรืองไกร ก็เริ่มปฏิบัติงานอย่างที่มีการคาดกันไว้คือ ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์งบประมาณ หลังออกมาเตือนและยกกฎหมายมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญขึ้นมา ในลักษณะสั่งสอน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมาประกาศว่าจะปรับลดงบประมาณปี 2565
ซึ่งบทบาทของ เรืองไกร คงไม่ได้หยุดอยู่เท่านี้แน่ อาจจะต้องปะ ฉะ ดะ กันในชั้นกรรมาธิการอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะกับพวกตัวจี๊ดๆ จากฝ่ายค้านที่มักจะคัดค้านการจัดสรรงบประมาณส่วนต่างๆ ภายนอกห้องประชุม ไม่ว่าจะเป็น ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งท่าจะปรับลดงบประมาณเรือดำน้ำอีกรอบ หลังเคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการปรับลดครั้งก่อน
นอกจากนี้ เรืองไกร ยังเป็นคู่กรณีกับ ยุทธพงศ์ โดยตรง โดยหลังจากรายแรกตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะผิดหวังที่โดนเขี่ยออกจากรายชื่อกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ก็ได้ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน รวมถึงนายยุทธพงศ์ด้วย ดังนั้น ทั้งคู่น่าจะได้ขบเหลี่ยมกันอีกหลายยกในชั้นกรรมาธิการ
แล้วไม่ใช่เพียง เรืองไกร เท่านั้น ครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐยังเลือกเอา เอ๋-น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่อยู่ระหว่างถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีผิดจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นอีกตัวชนที่ออกมาฟาดฟันกับพวกตัวจี๊ดของฝ่ายค้านเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บทบาทต่อจากนี้ของ เรืองไกร จะไม่หยุดนิ่งอยู่ที่ชั้นกรรมาธิการ แต่น่าจะรวมไปถึงการสวมบทบาทถนัดในการยื่นตรวจสอบคู่กรณีของรัฐบาล เพราะต้องยอมรับว่าในบรรดานักร้องต่างๆ ที่ชอบไปยื่นเรื่องให้องค์กรตรวจสอบอิสระตามที่เห็นข่าวรายวัน อดีต ส.ว.รายนี้คือดูมีหลักมากที่สุด
เคยสร้างเรื่องให้รัฐบาลปวดหัวอยู่หลายคดีเหมือนกัน เช่นกรณีรัฐมนตรีถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐ ที่เล่นเอาต้องสู้คดีกันยาวนานกว่าจะหลุดพ้น
พวกที่ต้องระมัดระวังคือ พวกที่มีชนักปักหลัง หรือพวกที่อยู่ในเป้าหมายที่พรรคพลังประชารัฐอยากจะดึงตัวมาอยู่ด้วย ซึ่งต้องจับตาต่อไป
อย่างไรก็ดี เรืองไกร จะไม่ใช่รายสุดท้ายจากพรรคเพื่อไทยที่ถูกดึงมาใช้งานแบบนี้ ตามข่าวที่ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังประสบภาวะเลือดไหลอย่างหนัก เพียงแต่ยังไม่แจ่มชัดออกมาเป็นข่าว แต่จะเด่นชัดขึ้นมาในช่วงหลังการยุบสภา
พวกฝีปากกล้า งานสภาเด่น แม่นข้อกฎหมาย เหล่านี้ล้วนเป็นสเปกที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอยากได้ นอกเหนือจากเรื่องความนิยมในพื้นที่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |