อ่านสัญญา EU-AstraZeneca เพื่อเข้าใจกรณีไทยกับวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

           ข้อพิพาทระหว่าง AstraZeneca กับสหภาพยุโรป (EU)  กรณีส่งมอบวัคซีนไม่ทันตามข้อตกลง มีบางรายละเอียดที่คนไทยอาจจะต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจกับการรอคอยวัคซีนของประเทศไทย

            มีคำว่า Contract Manufacturing Organization  (CMO) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานภาพของ Siam Bioscience  กับ AstraZeneca

            และคำว่า “best reasonable effort” ในสัญญาระหว่างผู้ผลิตวัคซีนกับผู้สั่งซื้อกับ “ผู้รับจ้างผลิต” ที่ควรจะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน

            จากคำให้สัมภาษณ์ของ “มาดามแป้ง” หรือคุณนวลพรรณ ล่ำซำ กับ The Standard เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมไปตรวจดูรายละเอียดทำนองเดียวกันของข้อตกลงระหว่าง EU กับ AstraZeneca

            “มาดามแป้ง” ชี้แจงว่า Siam Bioscience เป็น “ผู้รับจ้างผลิตวัคซีน” ให้แก่ AstraZeneca

            ส่วนการซื้อขายวัคซีนนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับ AstraZeneca ประเทศไทย

            ถามว่าการเลือก Siam Bioscience ผลิตวัคซีนในประเทศไทยเป็นการ “แทงม้าตัวเดียว” หรือไม่

            คุณนวลพรรณในฐานะผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ตอบว่า

            “ประเด็นแทงม้าตัวเดียวเป็นประเด็นของผู้ตัดสินใจซื้อวัคซีน ซึ่งไม่เกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์ และถ้าตอบตรงๆ  แป้งก็คิดว่าม้าตัวนั้นมันก็ไม่ควรจะมีตัวเดียวเช่นกัน อันนี้พูดตรงไปตรงมา เพราะหน้าที่ในการสั่งซื้อวัคซีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับสยามไบโอไซเอนซ์”

            ผมฟังแล้วก็เข้าใจได้ว่า      

            การวางแผนและยุทธศาสตร์วัคซีนนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยหรือ ศบค.

            ไม่เกี่ยวอะไรกับสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นเพียงบริษัทรับจ้างผลิตให้แก่ AstraZeneca เท่านั้น

            ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนแต่ประการใด

            อีกนัยหนึ่งก็คือ มาดามแป้งเองเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีวัคซีนมากกว่าหนึ่งหรือสองตัว

            แต่เมื่อมาดามแป้งพูดในฐานะ Siam Bioscience ก็จำกัดประเด็นไว้เฉพาะเรื่องบริษัทนี้เท่านั้น

            ถามว่าจะส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ทันตามสัญญาหรือไม่

            คำตอบจากมาดามแป้งนั้นจำกัดอยู่เฉพาะระหว่าง  Siam Bioscience กับ AstraZeneca เท่านั้น ซึ่งเธอก็ยืนยันว่าได้ทำตามสัญญาทุกประการ

            ถามว่า ถ้าตามที่รัฐบาลเคยประกาศว่าจะส่งมอบวัคซีนเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนต่อๆ ไปอีก 10 ล้านโดส

            ในสัญญาเขียนไว้อย่างนั้นหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข ระบุว่าไม่ได้ระบุตัวเลขไว้ชัดเจน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

            คุณแป้งตอบว่า

            “การส่งมอบวัคซีตของสยามไบโอไซเอนซ์มีหน้าที่ส่งมอบให้ทันตามสัญญาที่มีกับ AstraZeneca ส่วนสัญญาระหว่าง AstraZeneca กับรัฐบาลไทยนั้นไม่สามารถไปก้าวล่วงในสัญญานั้นได้”

            พูดง่ายๆ คือเป็นสัญญาคนละชุดกัน ไม่เกี่ยวกัน

            ถามว่า สัญญาระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์กับ  AstraZeneca ต้องส่งมอบกี่ล้านโดสในเดือนมิถุนายนนี้

            คุณแป้งตอบว่า “สัญญานี้เป็นสัญญา non-disclosure  ถ้าตอบตรงๆ เลยก็คือ เราส่งมอบวัคซีนที่มีไว้กับ  AstraZeneca อย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถบอกตัวเลขได้เพราะเป็นสัญญา non-disclosure”

            ถามต่อว่า การส่งมอบเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน จำนวน  1.8 ล้านโดส ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดหรือเป็นไปตามกำหนด

            คุณแป้งตอบว่า “ในสัญญาระบุว่าภายในเดือนมิถุนายน  มันอาจจะพูดได้ตั้งแต่ 1-30 มิถุนายน”

            ผมตีความว่าคำว่า non-disclosure แปลว่าเปิดเผยไม่ได้ เป็นข้อตกลงระหว่าง Siam Bioscience กับ  AstraZeneca ที่เป็นความลับทางธุรกิจระหว่างกัน

            ผมสงสัยว่าถ้าประชาชนคนไทยไม่มีสิทธิ์จะรู้รายละเอียดเรื่องนี้ รัฐบาลไทยมีสิทธิ์จะรู้หรือไม่

            ในกรณีของ EU กับ AstraZeneca นั้น เมื่อเขาเกิดมีข้อพิพาทกันถึงขั้นจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็มีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดเรื่อง “กรอบเวลา” ของการส่งมอบวัคซีน

            พอเปิดเผยออกมาก็มีคำว่า “best reasonable effort”  ที่จะส่งมอบวัคซีน

            แปลว่า “จะพยายามที่สุด...ตามเหตุตามผลอันเหมาะควร” หรืออะไรทำนองนั้น

            AstraZeneca บอกว่าไม่สามารถผูกมัดได้ว่าจะส่งมอบวัคซีนได้กี่ล้านโดสในกี่วัน แต่พอจะให้กรอบกว้างๆ ได้ เช่นแต่ละไตรมาสจะ “พยายามอย่างสุดความสามารถ” ที่จะส่งมอบตามจำนวนที่ระบุไว้

            ผมเดาว่าภาษาในสัญญาอย่างนี้ AstraZeneca คงใช้กับทุกประเทศที่มีข้อตกลงกันไว้

            อาจจะเป็นที่มาของคำอธิบายว่า “มิถุนายนหมายถึง  1-30 มิถุนายน” ไม่อาจจะบอกได้ว่าแต่ละสัปดาห์จะส่งมอบเท่าไหร่

            ในกรณี EU นั้น AstraZeneca ส่งมอบต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้เป็นจำนวนไม่น้อย

            ไตรมาสแรกรับปากจะส่งมอบ 80 ล้านโดส แต่ส่งไปจริง 30 ล้าน ไตรมาสสองบอกว่าจะส่งมอบ 180 ล้านโดส แต่ส่งได้ 70 ล้าน

            AstraZeneca อ้างว่าที่ส่งมอบน้อยกว่าที่รับปากเพราะมีอุปสรรคหลายประการที่คาดไม่ถึง

            อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าจะต้องส่งมอบตามจำนวนที่วางไว้เป๊ะ ๆ

            คดีจะสู้กันในศาลยุโรปอย่างไรก็จะกลายเป็น “กรณีศึกษา” ที่คนไทยต้องติดตามกันต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"