"รถEV" ที่ย่อมาจากคำว่า Electric Vichicle หรือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า กำลังเป็นเทรนด์ของโลก เพราะสอดคล้องกับแนวโน้มกับปัญหาพลังงานฟอสซิล ที่นับว่าจะน้อยลง และอาจจะหมดโลกในที่สุด กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งปัญหาก๊าซเรือนกระจก มลภาวะทางอากาศ ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันจะแปรปรวนมากขึ้นทุกที
อย่างในนครลอสแองเจิลลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตั้่งเป้าที่จะเปลี่ยนรถยนต์ ที่วิ่งกันตามถนนให้เป็นรถEV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035
สำหรับ ในประเทศไทย รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อาจจะเป็นสิ่งใหม่ แม้จะเห็นรถยนต์ประเภทนี้ วิ่งประปรายตามท้องถนนกันบ้างแล้ว แต่ด้วยเทรนด์ของรถ อีวี ที่มาแรงมาก ทำให้ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ก็โดดลงสู่สนามการเป็นผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้า สำหรับรถอีวีกันแล้ว ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับรถ EV ก็กำลังเป็นที่จับตาของคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน โดยเชื่อกันว่า จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำยุค ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายฟังก์ชั่น จะทะยอยออกมาเรื่อยๆ
ในแง่ผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของรถEV ข้อมูลจากนิตยสาร Green Network ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ได้วิเคราะห์สถานการณ์การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป คือ ประเทศนอร์เวย์ เป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จากข้อมูลหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจราจรในประเทศนอร์เวย์ เปิดเผยยอดจำหน่ายรถยนต์ในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบไร้มลพิษมีผู้ซื้อเพิ่มขึ้นจำนวน 46,143 คัน รวม 31.2% จากยอดขายทั้งหมดในยุโรป แซงหน้าประเทศเยอรมนีที่สถิติการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 36,216 คัน และประเทศฝรั่งเศสสถิติ 31,095 คัน นอร์เวย์จึงได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งการติดตั้งระบบชาร์จไฟอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นผลมาจากการส่งเสริมอย่างจริงจังที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่ารถทุกคันจะต้องเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2568
สำหรับประเทศไทย จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อ พ.ค. 64 ที่ผ่านมา สำหรับแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศตามนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้รถ EV ซึ่งภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน และมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงพิจารณาแนวทางส่งเสริม EV ให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหใายให้ได้ตามกำหนด ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
โดยในงานเสวนา Roundtable Talk: How To Make Clean Public Transport Possible? ร่วมระดมกำลังและ “นำพาอากาศสะอาดสู่ภาคการขนส่งไทย” ที่จัดขึ้นโดย Techsauce ร่วมกับ Bosch Thailand บนแฟลตฟอร์มออนไลน์ ก็ได้กล่าวถึงแนวทางการใช้รถ EV เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากศ ยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรในประเทศให้กลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง
ภาพรวมของปัญหามลพิษในประเทศไทย พันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแหล่งกำเนิดจากหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม , การจราจร , การเผาในที่โล่ง ดังนั้น สัดส่วนความหนาแน่นจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ และเวลา เพราะแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นจะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน ส่วนมลพิษทางอากาศที่ประชาชนอาศัยอยู่ในตัวเมืองต้องพบเจอตลอดเวลาจะมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้มีการแจกจ่ายระบบวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) Data ผ่านทางกรมควบคุมมลพิษกว่า 70 แห่ง ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ
พันศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายในการตรวจสอบ อย่างในกรุงเทพฯ กว่า 50 สถานี โดยข้อมูลทุกอย่างจากแต่ละสถานีจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อนำเอามาใช้รายงานให้แก่ผู้ศึกษาวิจัย หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้ในการประเมินคุณภาพโครงการของการใช้รถ EV รวมทั้งใช้รายสภาพอากาศรายวันให้กับประชาชนทุกคนที่คอยติดตามสภาพอากาศ โดยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศจะถูกรายงานไปในหลายแพลตฟอร์ม ในแบบรายชั่วโมง หรือ Near Real-time ฉะนั้นก็สามารถพูดได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลของประชาชนด้วยเช่นกัน
ด้าน จักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ (สนว.) กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงบทบาทการจัดการมลพิษทางอากาศ ในภาคการขนส่งทางถนนไม่ว่าจะทางอ้อมหรือทางตรง แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ มาตรฐานมลพิษรถจดทะเบียนใหม่ เช่น รถจักรยายนต์ ต้องมีมาตรฐานมลพิษระดับ 6 หรือ EURO4 รถยนต์และรถปิคอัพ SI มาตรฐานมลพิษระดับ 8 , CI มาตรฐานมลพิษระดับ 7 หรือ EURO4 ทั้งคู่ เป็นต้นและการตรวจสภาพรถค่าควันดำต้องไม่เกิน 45% ซึ่งข้อมูลการตรวจจับรถบรรทุกควันดำทั่วประเทศล่าสุด พบควันดำเกินมาตรฐาน 46% พักห้ามใช้ จำนวน 1,470 คัน จากการตรวจทั้งหมดกว่า 175,000 คัน โดยรถบรรทุกในประเทศไทยมีกว่า 1 ล้านคัน
ภาพประเมินแัจจัยที่สร้างคาร์บอนได้ออกไซด์มากที่สุดในประเทศ
ส่วนการจัดการปัญหาการปล่อยมลพิษควันดำ จักรกฤช กล่าวว่า ในส่วนของรถที่มีอยู่แล้วหากมีการพบเห็น ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย และการสนับสนุนรถ EV โดยมีแผนการดำเนินงาน เช่น ปรับวิธีการคิดอัตราภาษี เดิมมีกฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับรถไฟฟ้ามีการลดภาษีให้ อย่างรถขนาด 1,800 CC จะเก็บภาษี 1,800 บาท แต่รถไฟฟ้าจะเก็บภาษีที่ 1,000 บาท และมีการกำหนดแนวทางมาตรการภาษีใหม่ โดยคิดภาษีตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และCC เครื่องยนต์ โดยภาษีตรงนี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนส่วนที่มีความเสียหายจากการเดินรถ หรือจะกล่าวโดยง่าย คือ ถ้ารถมีการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือถนน ก็จะมีการเก็บภาษีแพงขึ้นไปตามลำดับ
“อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถข้ามขั้นจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาป หรือ Internal Combustion Engine: ICE ไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ได้เลยทันที เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและผลิตรถยนต์ที่ยังต้องอาศัยกันและกัน ดังนั้นแผนเบื้องต้น ในช่วง 3-5 ปีแรกของการซื้อรถ EV จะมีการลดภาษีให้กับรถประเภทนี้ (จะต้องมีการจดทะเบียนในช่วงก่อนปี 2573) ซึ่ง ณ ตอนนี้มีการเร่งแก้ไข พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564-2565 ทั้งนี้ เพื่อต้องการสนับสนุน และกระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประชาชนทั่วไป และในภาคของการขนส่งสาธารณะด้วยเช่นกัน” จักรกฤช กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนไปใช้รถ EV
การนำ AI และ IoT เข้ามาผนวกทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมอย่าง กล่องตรวจสอบสภาพมลภาวะ
วฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ในประเทศไทยภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากที่สุดคือ ส่วนการผลิตไฟฟ้า หากในอนาคตเมื่อมีการปรับเปลี่ยนไป ทางภาคของการขนส่งก็จะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะมาเพิ่มที่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องมีการนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามา ซึ่งได้มีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ1. เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจะเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าบริเวณอ่างเก็บน้ำ 2. สร้าง Ecosystem แบบ Grid Modernization คือ การทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น โดยจะมีการตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ปรับแหล่งผลิตไฟฟ้าให้พร้อมรับกับความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนา Energy Storage และในอนาคตจะมีการศึกษาเรื่องการ Reuse แบตเตอรี่เก่าของรถยนต์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
และ 3. สร้าง Ecosystem เชิงการบริหารจัดการ โดยจะสร้างกลไกให้กับบริษัทจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ซื้อไฟจากเราไปใช้ เพราะ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประกาศว่าในปี 2050 และจีนประกาศปี 2060 รวมไปถึงนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในการลดปล่อยก๊าซ CO2 ลง 55% ซึ่งบริษัทที่มาจากประเทศเหล่านี้ที่กำลังมาลงทุนในประเทศไทย กำลังมองหาพลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนให้ได้ 100% ในปี 2025
ชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Manager & Venture Lead-Incubation PTT Public Company Limited กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ต้องการจะใช้พลังงานสะอาด แต่ยังหาไม่ได้ จึงมีการทำโครงการ ReAcc - Renewable Energy Acceleration Platform ขึ้นมาเพื่อให้สามารถหาพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการให้ผู้ซื้อสามารถเลือกได้ด้วยตนเองว่าจะซื้อจากแหล่งไหน และเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ โดยมีการทำงาน เช่น แพลตฟอร์มระบบบล็อกเชนที่พัฒนาโดย ปตท.เพื่อรองรับธุรกรรมเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจรรายแรกในประเทศ ระบบอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย คือการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนที่สอดคล้องกับมาตรฐาน I-REC Standard, การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการใช้พลังงานหมุนเวียนกับรถยนต์ไฟฟ้า ตัวแทนให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียน การขอใบรับรอง และการซื้อขายใบรับรอง REC One Stop Service เป็นต้น หวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
.แผนการดำเนินการเรื่อง EV
นฤมล นวลปลอด Head of Strategy, Maketing and Sale Bosch Mobility Solutions SEA กล่าวว่า จากการศึกษาและพัฒนาต่างๆเกี่ยวยานยนต์ ได้มีการทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้ามาแล้วกว่า 90 โครงการ ทำให้ปัจจุบันนี้มีรถยนต์ที่ใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้าของ BOSCH วิ่งอยู่บนถนนกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก นอกจากนี้ยังศึกษาพบว่าระบบเบรกในรถยนต์ก็ทำให้เกิด PM 2.5 เช่นกัน จากตรงนี้ก็ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Regenerative Breaking System เข้ามาพัฒนา โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะใช้งานในยานยนต์ที่เป็น Hybrid และ EV ทำให้ระบบเบรกเป็นระบบชาร์จไฟ และช่วยลดค่าการเกิดฝุ่นได้ถึง 95% ในส่วนโปรเจกต์อื่น ๆ ที่มาเป็นตัวช่วยในการลดมลภาวะ ด้วยการนำ AI และ IoT เข้ามาผนวกทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมอย่าง กล่องตรวจสอบสภาพมลภาวะ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์และใช้ระบายรถในที่ที่มีมลภาวะสูง จากการศึกษาพบว่าทั่วโลกมีตัวเลขเฉลี่ยการวนหาที่จอดรถประมาณ 30 นาที
นฤมล มองถึงความท้าทายจุดแรกของการเปลี่ยนผ่านไปเป็นพลังงานไฟฟ้าว่า ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาจากความต้องการการใช้รถใช้ถนนที่หลากหลาย ทั้งรถโดยสารสาธารณะ การใช้รถส่วนตัว หรือการใช้ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการเปลี่ยนผ่านในแต่ละภูมิภาคใช้ระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน มาจากปัจจัยทั้งการบังคับใช้กฎหมาย สภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาคการขนส่งเอกชนให้มีการเปลี่ยนผ่านทันทีเลยอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมการ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์แผนงานต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความชัดเจนในวงกว้าง เช่น แผนการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการคาดการณ์ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ฝั่งของผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการได้มีการเตรียมตัว และมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ด้วย