ภายหลังปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) สั่งการให้ พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ตามหมายจับศาลอาญาฐานความผิดฟอกเงินจากคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือ "คดีเงินทอนวัด" และบางรูปก็มีพฤติกรรมมั่วสีกา รับสินบนเลื่อนสมณศักดิ์ ส่งผลสะเทือนต่อวงการผ้าเหลืองอย่างกว้างขวาง
นำไปสู่การถอดสมณศักดิ์พระเถระ 7 รูป คือ 1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 2.พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม 3.พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา 4.พระราชอุปเสณาภรณ์ สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 5.พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 6.พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา 7.พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
รวมทั้งการจับสึก พระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ในคดีสร้างพระนาคปรก อุดปรอท รุ่นหนึ่งในปฐพี โดยไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย และอักษรพระนามาภิไธยย่อ ไปประดิษฐานหลังองค์พระเครื่องดังกล่าว เหตุเกิดที่วัดอ้อน้อย ระหว่างปี 2554 และคดีอั้งยี่ ซ่องโจร กรณีร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ที่เข้าไปสืบหาข่าวม็อบชาวนา ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.แจ้งวัฒนะ เมื่อปี 2557
โดยพระเถระที่ถูกจับกุมตัวได้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปฝากขัง ศาลยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ถูกสึกจากความเป็นพระโดนถอดผ้าเหลือง ห่มชุดขาว คุมตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ปฏิบัติการล้างบางคดีเงินทอนวัด จัดระเบียบคณะสงฆ์ครั้งนี้ วิพากษ์วิจารณ์กันหลายแง่มุม ที่น่าสังเกตก็คือ ในช่วงที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พ.ศ.) ทำการตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม มีการเปิดโปงพฤติการณ์การทุจริตต่างๆ และเชื่อมโยงพระเถระชั้นผู้ใหญ่
มีรายงานว่า พระเถระบางรูปไปฟ้องรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ.ว่าการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทำให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้รับผลกระทบ จากนั้น พ.ต.ท.พงศ์พร ก็ถูกเด้งเข้ากรุ เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ส.ค.60 และต่อมาได้มีการกลับคำสั่งให้ พ.ต.ท.พงศ์พร กลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ.เหมือนเดิม
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พัวพันการทุจริต มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาล ทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมีอิทธิพลเหนือกฎหมายบ้านเมือง
เช่นเดียวกับคดีอดีตพระพุทธะอิสระทั้ง 2 คดี ผ่านมา 7 ปี และ 4 ปี ก็มีข้อสงสัยว่าทำไมเพิ่งมาจับกุม
และการบุกจับกุม อดีตพระพุทธะอิสระ ก็ถูกวิจารณ์ว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจพึงที่จะต้องมีหมายเรียกผู้ต้องหามาสอบปากคำก็เพียงพอแล้ว มิใช่ใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยใช้กองกำลังคอมมานโดนับร้อยดำเนินการเข้าจับกุม
"กรณีดังกล่าวแม้นายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงจะออกมากล่าวขอโทษต่อประชาชนและศิษยานุศิษย์ของพระพุทธะอิสระแล้วก็ตาม แต่ทว่าคำขอโทษก็เป็นเพียงลมปาก ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมจำต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 50 (1) เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งศาสนา จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ"
ปัญหาในวงการผ้าเหลืองหมักหมมมานาน จนมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนา ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปต่อ สปช. 4 ข้อ คือ 1.ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยอย่างน้อยต้องมีกลไกหลักในการดำเนินงาน คือ การจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัด ทรัพย์สิน เงินทอง รายได้ รวมถึงผลประโยชน์อื่นที่ได้มาจากการดำเนินงานภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ย่อมตกเป็นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล พระสงฆ์ หรือวัดใด
2.เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในสาระสำคัญคือ การกระจายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ 3.ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่ทรงไว้ซึ่งความดี ถูกต้อง และบริสุทธิ์ ของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ 4.ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย
แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกล้มกระดานไป หลังมีใบสั่งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับ การปฏิรูปตำรวจ หลังรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บังคับใช้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เมื่อพิจารณาครบ 1 ปี ได้สรุปรายงานการดำเนินการ จำนวน 18 หน้า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 แต่ภาคประชาชนมองว่า ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนแต่อย่างใด กลับเพิ่มอำนาจและเงินเดือนมากขึ้นอีก
แม้ต่อมาจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ....ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจที่ก้าวหน้าหลายประการ เช่น การสร้างหลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวน, การโอน 11 หน่วยงานตำรวจให้หน่วยงานอื่น แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อเสนอไปยัง ครม.และ สนช.แล้ว จะถูกคว่ำซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่?
การปฏิรูปประเทศในเรื่องสำคัญดังกล่าวจึงยังไม่คืบหน้า ปัญหาระบบอุปถัมภ์-กระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง ยังสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย และเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำรัฐบาล คสช.ที่ยังไม่สามารถแก้ได้
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กำหนดให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน บวกอีก 2 ด้าน คือ การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปตำรวจ มีแผนปฏิรูปนับกว่า 2,000 หน้า แต่ประชาชนก็ไม่มีความเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปจะมีความก้าวหน้ามีรูปธรรมจับต้องได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายมีความคาดหวังว่า รัฐบาล คสช.จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมปอย่างแท้จริง คือเดือน ก.พ.2562 เนื่องจากมีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาหลายครั้ง
โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า โรดแมปการเลือกตั้งไม่เลื่อน และทันเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 อีก
แต่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กางปฏิทินหลังทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายลูกการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว จะมีการเลือกตั้งภายใน 11 เดือน นั่นหมายความว่า ระยะเวลาในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย 3 เดือน เมื่อประกาศใช้กฎหมายลูก ส.ส.แล้ว ตามบทเฉพาะกาลกฎหมายจะมีผล 90 วันหลังจากนั้น และจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือประมาณ เดือน เม.ย.-พ.ค.
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุว่า ระยะเวลาสูงสุดของกระบวนการทุกฝ่ายคือ เดือน เม.ย. ปี 62 โดยกฎหมาย ส.ส.ไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี 20 วัน เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจะอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน และกฎหมาย ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน และกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.อีก 150 วัน ซึ่งเมื่อรวมแล้วจะถึงเดือน เม.ย. ปี 62
"แต่หากทำให้เป็นไปตามโรดแมปที่เดือน ก.พ. ปี 62 ก็สามารถลดระยะเวลาในส่วนของ กกต.จัดเลือกตั้งให้เหลือ 60 วันได้"
ส่วนฝ่ายการเมืองต่างเห็นตรงกันว่า หลังศาล รธน.วินิฉัยให้ร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับ ผ่านแล้ว และรอวินิจฉัยคำสั่งหน้า คสช.ที่ 53/2560 ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ รัฐบาล คสช.ไม่มีเหตุจะเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก เพราะเลื่อนมาหลายครั้ง หากเลื่อนอีกจะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกระแสข่าวสะพัดอีกว่า อาจจะไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแมปก็เป็นได้ ท่ามกลางการปลุกแนวคิด รัฐบาลแห่งชาติ ขึ้นมาอีกครั้ง อ้างว่าเพื่อขจัดความขัดแย้งของคนในชาติให้เรียบร้อย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะเลือกตั้งตามโรดแมปเดือน ก.พ.2562 หรือเลื่อนโรดแมปไปอีก 2-3 เดือน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช.ที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปประเทศก็ไม่เป็นรูปธรรม เวลาที่เหลืออยู่จะเร่งปฏิรูปอะไรก็รีบทำ เพราะประชาชนให้เวลามามากแล้ว สู้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งอาจจะมีความหวังมากกว่า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |