อาเซียนแตกกรณีวิกฤติเมียนมา?


เพิ่มเพื่อน    

 

           ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ 9 ประเทศสมาชิกมองไม่ตรงกันว่าจะทำอย่างไรเมื่อสมาชิกที่ 10 เกิดรัฐประหาร

            แต่เมื่อมี “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่มี “จำเลยหลัก” คือพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย มาร่วมประชุมด้วย ไฉนจึงเดินหน้าทำให้ข้อตกลงนั้นเป็นความจริงไม่ได้

            เหตุเพราะมุมมองของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่ตรงกัน

            ในภาพนี้จะเห็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ Erywan Yusof ของบรูไน และเลขาธิการอาเซียน Lim Jock Hoi (มาจากบรูไนเช่นกัน) ได้เดินทางไปเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีภาพออกมาชัดเจนว่าได้พบกับมิน อ่อง หล่ายด้วย

            แต่ไม่แน่ชัดว่าได้เจอกับฝ่ายตรงกันข้ามกับกองทัพหรือไม่อย่างไร

            และจะกลับมา “มือเปล่า” หรือไม่

            เพราะข่าวทางการเมียนมาบอกว่ามิน อ่อง หล่าย ก็ยังยืนยันกับผู้แทนจากอาเซียนทั้งสองท่านว่าจะทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่ตกลงกับผู้นำอาเซียนได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพแล้วเท่านั้น

            พอคณะจากอาเซียนไปพบแต่เพียงผู้นำฝ่ายรัฐประหาร แต่ไม่ขอคุยกับฝ่ายต่อต้านทหารด้วย ก็มีคำประกาศจากรัฐบาล “เอกภาพแห่งชาติ” หรือ National Unity Government (NUG) ว่า

            “เราเสื่อมศรัทธาอาเซียนแล้ว”

            1 ใน 5 ข้อฉันทามติคือ การแต่งตั้ง “ทูตอาเซียนพิเศษ” เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยไกล่เกลี่ยกับ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ในวิกฤติเมียนมา

            แต่แล้วถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งทูตพิเศษด้วยเหตุความเห็นต่างในมวลหมู่สมาชิกอาเซียน

            ที่ตกลงกันไม่ได้คือ

            ใครควรจะเป็นทูตพิเศษคนนี้

            ควรจะมีหนึ่งคนหรือมากกว่าหนึ่ง

            อาณัติของทูตพิเศษคืออะไร

            ทูตพิเศษควรจะอยู่ในตำแหน่งนานเท่าใด

            “เอกสารนำเสนอ” (Concept paper) ที่ออกมาจากบรูไนเมื่อเดือนที่แล้ว เสนอให้ทูตพิเศษคนนี้อยู่ในตำแหน่งถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น

            เพื่อให้ประเทศที่จะหมุนเวียนมาเป็นประธานอาเซียนปีหน้า (คือกัมพูชา) เป็นผู้ทบทวน

            แหล่งข่าวอย่างน้อย 3 รายบอกรอยเตอร์สว่า เอกสารนี้เสนอว่าควรจะจำกัดบทบาทของทูตพิเศษนี้อยู่ในฐานะ “ไกล่เกลี่ย” เท่านั้น และไม่ควรจะประจำอยู่ในเมียนมา

            โดยที่ให้ทูตพิเศษคนนี้มีทีมงานเล็กๆ คณะหนึ่ง และประเทศเจ้าภาพเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

            สมาชิกหลายประเทศเห็นว่าข้อเสนอนี้จะทำให้บทบาทของทูตพิเศษอ่อนแอ และไม่มีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

            รอยเตอร์สอ้างแหล่งข่าวทางการทูตทั้ง 4 คนยืนยันตรงกันว่า ประเทศไทยกับอินโดนีเซียมีความเห็นต่างกันในเรื่องการแต่งตั้งทูตพิเศษ

            ในเบื้องต้น อินโดนีเซียเสนอให้มีทูตพิเศษหนึ่งคนเป็นหัวหน้าคณะทำงานนี้

            ส่วนประเทศไทยนั้น (ตามรายงานนี้) เสนอให้มีการแต่งตั้งหลายคนเป็นองค์คณะที่เรียกว่า Friends of the Chair (เพื่อนของประธาน)

            รอยเตอร์สบอกว่า โฆษกของกระทรวงต่างประเทศทั้งของไทยและอินโดนีเซียไม่ตอบคำถามที่เสนอไปเกี่ยวกับประเด็นนี้

            จึงทำให้มีข้อเสนอประนีประนอมจากสมาชิกอาเซียนอื่น....ให้มีทูตพิเศษ 3 คน โดยอาจจะมาจากตัวแทนของไทย, อินโดนีเซียและบรูไน (ประเด็นนี้รอยเตอร์สอ้างว่ามี 2 แหล่งข่าวที่ยืนยัน)

            รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะพบกันที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายนนี้ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนประจำปี

            เชื่อกันว่า หากอาเซียนยังตกลงในเรื่องนี้ไม่ได้สัปดาห์นี้ก็อาจจะหาทางคุยกันนอกรอบที่เมืองจีน

            แหล่งข่าวทางการทูตคนหนึ่งบอกว่า “ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะเกิดเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารพม่ายอมเห็นคล้อยตามด้วยเท่านั้น”

            ก่อนหน้านี้ 9 จาก 10 สมาชิกอาเซียนได้ทำจดหมายขอตัดข้อความในร่างมติที่เสนอต่อสหประชาชาติ (ที่เสนอโดยประเทศ Liechtenstein) ที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการส่งอาวุธ (Arms embargo) เข้าเมียนมา

            สมาชิกอาเซียนทั้ง 9 (ยกเว้นเมียนมา) ได้เสนอให้ตัดข้อความนี้ออกไปด้วยเหตุผล (ที่ไม่เป็นทางการ) ให้เกิดช่องทางการต่อรองกับกองทัพเมียนมาเพื่อหาทางออกทางการเมือง

            ข้อความในร่างมตินี้ตอนหนึ่งเรียกร้องให้ “an immediate suspension of sales of transfers of weapons and munitions to Myanmar”

            คือการเสนอให้ระงับโดยทันทีการขายหรือถ่ายโอนอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกชนิดเข้าสู่เมียนมา

            จดหมายของ 9 สมาชิกอาเซียนซึ่งลงวันที่ 19 พฤษภาคมนี้อ้างว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวก็เพราะไม่เชื่อว่ามตินี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางเพียงพอ โดยเฉพาะจากประเทศในภูมิภาคนี้ที่จะได้รับผลกระทบจากข้อเสนอนี้

            สมาชิกทั้ง 9 ของอาเซียนบอกว่า หากจะให้ร่างมตินี้เป็นที่ยอมรับของที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติของสหประชาชนเป็นที่ยอมรับได้ ก็ควรจะต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียนที่กำลังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหาทางออกในกรณีนี้อยู่

            สรุปว่า สมาชิกอาเซียนหลายประเทศยังมีจุดยืนและแนวทางที่ห่างกันพอสมควรว่าจะเดินหน้าแก้วิกฤติเมียนมาอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับแนวทางที่จะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันได้

            โดยเฉพาะจะต้องให้มิน อ่อง หล่าย ยอมรับในเงื่อนไขที่จะถอยจากการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในยามนี้

            เป็นโจทย์ที่สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงเกินกว่าที่จะหาข้อสรุปกันได้ง่ายๆ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"