ผู้เข้าร่วมประชุมสภาลมหายใจเชียงใหม่
เชียงใหม่/ ‘สภาลมหายในเชียงใหม่’ จัดประชุมสรุปบทเรียนการทำงาน 1 ปีแก้ปัญหาไฟป่าและกลุ่มควัน ม.แม่โจ้โชว์ผลงานเด็ด สนับสนุนชาวบ้านเพาะเห็ดป่าช่วยรักษาป่า 20,000 ไร่ นำใบไม้ชนวนเชื้อเพลิงมาทำจานชาม กระถางเพาะต้นไม้ ลดการเผาไม้ ลดการใช้พลาสติค นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอดึงบริษัทผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากพืชไร่ จัดระบบขนส่งสาธารณะไฟฟ้า-ส่งเสริมการขี่จักรยานในเมืองเพื่อลดฝุ่นควัน
เพราะ “เรามีลมหายใจเดียวกัน”
‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ เป็นองค์กรภาคประชาสังคม จัดตั้งขึ้นมาในเดือนกันยายน 2562 เพื่อรณรงค์และร่วมมือกับทุกภาคส่วนหาทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหาต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี โดยสภาฯ มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น นักวิชาการ ข้าราชการ ศิลปิน สื่อมวลชน นักการเมือง นักธุรกิจ ภาคเอกชน นักพัฒนา ตัวแทนภาคประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมมีอากาศสะอาดทุกฤดูกาล ภายใต้แนวคิด “เรามีลมหายใจเดียวกัน”
ส่วนสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่มีหลากหลายสาเหตุ เช่น ฝุ่นควันจากในเมืองเกิดจากการใช้ยานพาหนะในการเดินทางและขนส่ง ฝุ่นควันจากการก่อสร้าง การทำอาหาร ปิ้งย่าง โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ฝุ่นควันจากพื้นที่เกษตรกรรม จากการเผาไหม้เศษซากพืชไร่และไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-จนถึงเดือนพฤษภาคม ทำให้ฝุ่นควันกระจายไปทั่ว
รวมทั้งฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งออก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ ประกอบกับเชียงใหม่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ ทำให้อากาศระบายได้ไม่ดี ฯลฯปัญหาฝุ่นควันที่มีสาเหตุหลากหลายเหล่านี้จึงกลายเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ ส่งผลกระทบด้านระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชน รวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดับไฟป่าด้วย
ฝุ่นควันจากไฟป่า-ภาพจากกลุ่มพารามอเตอร์ จ.เชียงใหม่
โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เนื่องจากฝุ่นควันจากการเผาไหม้ทำให้เกิดก๊าซอันตรายต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และที่สำคัญคือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 (ค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ โดยใช้ค่า Particulate Matters : PM) ซึ่งนอกจาก PM 2.5 จะเข้าไปในปอดทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและเป็นมะเร็งได้แล้ว ยังสามารถเข้าสู่ถุงลมปอดและเส้นเลือดได้ด้วย ทำให้เกิดการอักเสบและการอุดตันของเส้นเลือดในระบบต่าง ๆ เช่น หัวใจและสมอง นอกจากนี้ PM 2.5 ยังลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานและลอยไปได้ไกล จึงมีโอกาสที่จะถูกสูดเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะตกลงสู่พื้น
ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม - 5 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ประกอบด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด และสมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยในเดือนมกราคม มีจำนวนผู้ป่วย 22,554 คน เดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้ป่วย 9,084 คน และเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 5 มีนาคม) จำนวน 150 คน รวมผู้ป่วยทั้งหมด 31,788 คน
สรุปบทเรียนการทำงานรอบ 1 ปี
วันนี้ (6 มิถุนายน) ระหว่างเวลา 9.00-15.00 น. ที่กรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่เปิดเวทีสรุปบทเรียนการทำงาน 1 ปี (พฤษภาคม 2563-พฤษภาคม 2564) และวางแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานของสภาลมหายใจในช่วงต่อไป โดยมีนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ ภาคีเครือข่าย ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ และคณะกรรมการและสมาชิกสภาลมหายใจเชียงใหม่ เข้าร่วมประมาณ 50 คน นอกจากนี้ยังประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ด้วย
ทั้งนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่าน สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ทั้งในเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่เกษตรกรรมในชนบท รวมทั้งหมด 6 แผนงาน 10 โครงการ มีอาสาสมัครทำงานกว่า 100 คน ยึดหลักการทำงานแบบ “ล่างขึ้นบน” (เปลี่ยนจากระบบสั่งการแบบราชการ “บนลงล่าง”) โดย “ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง ใช้ท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน”
กิจกรรมที่จัดในเมืองเชียงใหม่ เช่น การจัดเวทีเสวนาวิชาการ จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้รถยนต์หันมาปั่นจักรยานในเมือง ลดการใช้พลาสติก ลดการเผาขยะ สร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง กิจกรรมระดมทุนสู้ฝุ่นควัน ฯลฯ
ส่วนพื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 24 อำเภอ รวม 204 ตำบล ประมาณ 2,066 หมู่บ้าน สภาลมหายใจฯ ได้ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งและเป็นองค์กรของชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้วเป็นพื้นที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่
เช่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพื่อเสนอเป็นทางออกให้แก่ชาวบ้านและชุมชน โดยศูนย์วิจัยเห็ดป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอบรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า เช่น เห็ดถอบ (เห็ดเผาะ) เห็ดฮ้า (เห็ดตับเต่า) ให้แก่ชาวบ้านในตำบลต่างๆ เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่าการเผาป่าในช่วงฤดูแล้งจะทำให้เห็ดป่าออกดอกได้ดี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่า
อบรมการเพาะเห็ดป่าที่บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่
ฝึกอบรมการทำถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวมวลจากใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า ฟางข้าว เหง้ามันสําปะหลัง ซังและต้นข้าวโพด โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด เพื่อนำถ่านไบโอชาร์มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ลดระยะเวลาการปลูก ใช้เป็นวัสดุเพาะต้นกล้า ช่วยทำให้พืชเติบโตได้ดี
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำวนเกษตร ปลูกพืชยืนต้น หรือพืชหลายชนิดแทนพืชเชิงเดี่ยว เช่น กาแฟ ไผ่ นำฟางข้าว กิ่งลำไย ใบไม้ต่างๆ มาบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบการชิงเผา-ไม่เผาเพื่อเป็นแนวป้องกันไฟป่า ฯลฯ นำวัสดุทางการเกษตร เช่น นำใบไม้ ใบตองตึงนำมาทำจานใส่อาหารทดแทนการใช้พลาสติก และลดการเผาใบไม้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ
ขณะเดียวกัน สภาลมหายใจได้จัดกิจกรรมระดมทุนต่างๆ และเปิดรับบริจาค เพื่อนำสิ่งของ อุปกรณ์ในการดับไฟ มอบให้ตำบลต่างๆ เพื่อใช้ในการป้องกันและดับไฟป่า โดยในปี 2563 มอบสิ่งของไปแล้ว 140 หมู่บ้าน 17 อำเภอ 90 ตำบล ส่วนในปี 2564 ส่งมอบอุปกรณ์ไปเมื่อกลางเดือนมกราคมให้กับ 35 ตำบล และ 1 ผืนป่านำร่องในพื้นที่รอบดอยสุเทพ รวม 295 หมู่บ้าน
เช่น เครื่องเป่าลม 250 เครื่อง เครื่องพ่นน้ำ 30 เครื่อง ถังฉีดน้ำ 100 ถัง เครื่องตัดหญ้า 100 เครื่อง เลื่อยยนต์ตัดไม้ 20 เครื่อง ถังเปล่า 200ลิตร 100 ถัง ไม้ตบไฟ 800 อัน คราดมือเสือ 1,000 อัน ไฟฉายคาดหัว 800 อัน กล้องส่องทางไกล 100 ตัว และวิทยุสื่อสาร 120 เครื่อง รวมมูลค่า 2,300,000 บาท
ชาวบ้านช่วยกันทำแนวป้องกันไฟ
“เชียงใหม่โมเดล”
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันโดยใช้แนวทาง “เชียงใหม่โมเดล” โดยเปลี่ยนแนวทางการทำงานแบบราชการที่ใช้ระบบ “จากบนลงล่าง” เป็น “จากล่างขึ้นบน” โดย “ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง ใช้ท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน” โดยเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน
โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และสภาองค์กรชุมชนผนึกกำลังร่วมกัน โดยใช้มาตรการเชิงป้องกันการเผาไหม้แทนการไล่ดับไฟเหมือนที่ผ่านมา และใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ด้านวิชาการ และเทคโนโลยีมาสนับสนุน ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ และเป็น ‘เชียงใหม่โมเดล’
โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญ คือ ใช้พลังความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนที่มีวิธีคิด ความชำนาญ หรือประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาร่วมกันทำงาน เปลี่ยนจากการทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และทำงานร่วมกันโดยใช้ฐานข้อมูลที่เป็นจริงทางวิชาการ
จากการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันได้สะท้อนมุมมองออกมา เช่น “การทำงานของสภาลมหายใจทำให้เกิดความตื่นตัวในภาคประชาชนมากขึ้น จากเดิมที่เป็นบทบาทของภาครัฐในการดำเนินการเพียงอย่างเดียว เช่น การประกาศห้ามเผา ซึ่งทำให้เกิด feed back ที่แข็ง แต่พอมีสภาลมหายใจเข้ามา กลายเป็นตัวแทนของภาคประชาชนที่ให้ความรู้กันเอง สามารถกระตุ้น สร้างความร่วมมือดีขึ้น”
“สภาลมหายใจมีส่วนช่วยในการประสานงานกับภาคประชาชน ภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ รวมถึง เป็นตัวแทนของจังหวัดในการรับบริจาค และประชาสัมพันธ์กับประชาชน ทำให้เกิดการลดปัญหาฝุ่นควันและการป้องกันไฟได้”
ขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า “เมื่อก่อนชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองเป็นจำเลยในเรื่องปัญหาฝุ่นควัน แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนมากขึ้น โดยชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา วางแผน ปฏิบัติการ และร่วมสรุปบทเรียน ซึ่งจะเป็นพลังพื้นฐานที่สำคัญและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ประสบผลสำเร็จต่อไป”
แปรใบไม้ กิ่งไม้ ขยะอินทรีย์เป็นรายได้สร้างเศรษฐกิจชุมชน
ดร. สุมิตร อธิพรหม ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยฯ ได้จัดอบรมและส่งเสริมการเพาะเห็ดป่าให้แก่ชาวบ้านทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงไปแล้วประมาณ 200 ชุมชน โดยใช้เศษวัสดุต่างๆ เช่น ฟาง ใบไม้ ลำไม้ไผ่ กิ่งไม้ผุ มาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ด แล้วใส่เชื้อเห็ดป่า เช่น เห็ดตับเต่า เห็ดถอบลงไป ใช้ฟางหรือลังกระดาษคลุมกองเห็ด หมั่นรดน้ำให้ชุ่ม ไม่นานก็จะได้เห็ดนำมากินหรือขาย สร้างรายได้ให้ชาวบ้านโดยไม่ต้องเผาป่า นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้าน 50 ชุมชน นำใบไม้ที่ร่วงหล่นมาขึ้นรูปอัดเป็นจาน ชามใบไม้ เอาไว้ใส่อาหาร และทำเป็นกระถางเพาะต้นไม้ ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติค
ดร.สุมิตรกับเห็ดตับเต่าที่เพาะได้ขนาด 3 กิโลกรัม
“จากการคำนวณ เราพบว่าการเพาะเห็ดป่าโดยไม่เผาป่า จะช่วยป้องกันการเผาป่าในพื้นที่ป่าชุมชน 200 ชุมชน ได้ประมาณ 20,000 ไร่ ลดการเกิดจุด Hot Spot (จุดความร้อน) ได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และช่วยปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 100,000 ต้น นอกจากนี้ยังนำใบไม้ที่จะเป็นเชื้อเพลิงน้ำหนัก 1 กิโลกรัมมาทำกระถางเพาะต้นไม้ได้ 10 ใบ” ดร.สุมิตร ยกตัวอย่างการลดปัญหาฝุ่นควัน
เขาบอกว่าการส่งเสริมให้ชาวบ้านลดปัญหาการเผา เป็นการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ แต่จะต้องช่วยกันส่งเสริมทางปลายน้ำ หรือด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันอุดหนุนผลผลิตเหล่านี้ด้วย จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
ศิรินันท์ โซเมอร์แดค แม่หลวง หรือผู้ใหญ่บ้านห้วยอ่าง ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด บอกว่า หมู่บ้านของเธอได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การทำแนวกันไฟจากสภาลมหายใจ เช่น เครื่องเป่าพ่นลม เพื่อเป่าเศษใบไม้ไม่ให้มากองรวมกัน พร้อมทั้งใช้คราดกวาดไปไม้ออกไป ทำเป็นแนวป้องกันไฟให้มีความกว้างประมาณ 6-8 เมตร ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตรหากเกิดไฟไหม้ป่าในจุดใดก็จะทำให้ดับไฟได้ง่าย และไฟจะไม่ลามไปอีกฝั่งหนึ่ง
แม่หลวงบ้านห้วยอ่างบอกว่า ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ชาวบ้านในหมู่บ้านช่วยกันทำแนวป้องกันไฟ และช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าชุมชนประมาณ 690 ไร่ไม่ให้มีการจุดเผาป่า จึงทำให้ป่าชุมชนบ้านห้วยอ่างไม่เกิดปัญหาไฟไหม้ป่า นอกจากนี้ยังนำใบตองตึงมาทำเป็นจานชามขาย โดยผลิตได้วันละประมาณ 500 ใบ
“เราขายใบละ 3 บาท 20 ใบราคา 50 บาท รายได้จะเอามาเข้ากลุ่มและเป็นทุนผลิตต่อไป โดยรับซื้อใบตองตึงจากชาวบ้าน ราคา 6 ใบต่อ 1 บาท คนที่มาช่วยงานก็จะมีรายได้วันละ 100 บาทขึ้นไป ตอนนี้มีคนมาช่วยประมาณ 6-7 คน” แม่หลวงบอก
จานชามที่ทำจากใบตองตึง
นอกจากนี้ยังมีมีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านช่วยกันลดการเผาเศษใบไม้ กิ่งไม้แห้ง รวมทั้งขยะเปียก โดยนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำเอาสิ่งเหล่านี้มาใส่ในเครื่องบดย่อยเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จากการคำนวณพบว่า ขยะอินทรีย์ 100 ครัวเรือน จะมีน้ำหนักประมาณ 18 ตัน เมื่อนำมาบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์จะได้ 4 ตัน ราคาขายตันละ 1,000 บาท จะทำให้ชุมชนมีรายได้ 4,000 บาท และหากมี 1,000 ครัวเรือน จะมีรายได้ 40,000 บาท
ข้อเสนอและทิศทางการทำงานปี 2565
การประชุมในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อนำมาประมวลและจัดทำเป็นแผนการทำงานระยะเร่งด่วน 6 เดือน แผน 1 ปี และ 3 ปีต่อไป โดยที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น
การลดฝุ่นควันในเมือง เนื่องจากการฝุ่นควันจากพื้นที่เกษตรกรรมหรือชนบทส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม โดยการเผาซากพืชไร่ เช่น ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนในเมืองจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันตลอดปี ส่วนใหญ่ประมาณ 60 % จะมีสาเหตุมาจากการใช้รถยนต์หรือการจราจรในเมือง ซึ่งในเมืองเชียงใหม่จะมีปริมาณการใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ประมาณ 600,000 คันต่อวัน จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและควันพิษ
“ดังนั้นจึงจะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนส่งจังหวัด เพื่อลดการใช้รถยนต์ หันมาใช้จักรยานในเขตเมืองเก่า การบริการรถโดยสารไฟฟ้า เช่น รถราง หรือรถบัสไฟฟ้า ซึ่งเริ่มมีการใช้แล้วในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ข้อเสนอจากที่ประชุมระบุ
บรรยากาศในห้องประชุม
อุดม อินจันทร์ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เสนอว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ มีทั้งหมดประมาณ 207 ตำบล และมีประมาณ 1,100 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่า ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องไฟป่าและฝุ่นควันจากการเกษตร และจะต้องมีการทำแนวกันไฟ แต่ที่ผ่านมาสภาลมหายใจสามารถสนับสนุนอุปกรณ์การทำแนวป้องกันไฟและดับไฟป่าได้ประมาณ 300 หมู่บ้าน โดยเฉพาะเครื่องพ่นลมซึ่งมีเพียงหมู่บ้านละ 1 เครื่องซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ ขณะที่อีกหลายร้อยหมู่บ้านยังขาดอุปกรณ์เหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากผู้เสนออื่นๆ เช่น ควรให้บริษัทที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ควรมีหน่วยยุทธศาสตร์พิเศษ เพื่อวางแผนการเคลื่อนงานแบบก้าวหน้า กระตุ้นการทำงานภาครัฐ หรือทีมล็อบบี้ ผลักดันปัญหา “ฝุ่นควัน” ไปสู่ประเด็นวิชาการ (นโยบายการวิจัย) ระดับประเทศ ผลักดันให้ อปท.ทุกแห่งจัดทำแผนงานด้านฝุ่นควันและงบประมาณ ติดตามเรื่องงบประมาณเพื่อนำมาสนับสนุนท้องถิ่น ฯลฯ
หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน จัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสภาลมหายใจเชียงใหม่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |