'ทาคาชิมา' และปลาภูเขา


เพิ่มเพื่อน    

Austin Healey-Sprite (Mark I) หรือ “เจ้าตากบ” รถเปิดประทุนจิ๋วอายุราว 60 ปี หาชมได้ยากในปัจจุบัน

แดดเช้าช่วงต้นฤดูใบไม้เปลี่ยนสีให้ความอบอุ่นและช่วยสลัดอาการงัวเงียเพราะนอนไม่เต็มที่ออกไปได้บ้าง

จากดาดฟ้าที่แบ่งครึ่งหนึ่งออกไปจากหลังคาบ้าน มองเห็นทะเลสาบบิวะได้เต็มตา 180 องศา บ้านพักตากอากาศหลังนี้จะถูกขายในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และเมื่อคืนที่ผ่านมาถือเป็นคืนสุดท้ายที่เจ้าของคนเก่าได้ใช้ประโยชน์โดยการให้ลูกสาว ลูกเขย และเพื่อนของลูกเขยมาพักผ่อนแกมสังสรรค์ จากนี้ไปก็เป็นการทยอยเก็บของออกจากบ้าน

ทุกคนตื่นนอนกันหมดแล้ว เมื่อผมลงไปยังห้องครัว (ชั้นที่ 2) “โจมิซัง” หรือ “โจ” อาจารย์ชาวตากาล็อกจากมหาวิทยาลัยเกียวโตกำลังเตรียมมื้อเช้า “เอมิซัง” ลูกสาวเจ้าของบ้านคอยช่วยเหลือ และ “ฮิโรกิ” สามี ลงไปเล่นกีตาร์ของพ่อตาอยู่ในห้องนั่งเล่นชั้นล่าง

หลังมื้อเช้าเรายังอ้อยอิ่งอยู่อีกพักใหญ่ กว่าจะได้ออกจากบ้านก็เป็นเวลาราว 10 โมงครึ่งแล้ว จึงพลาดโอกาสที่จะไปถ่ายรูปอุโมงค์ต้นไม้บนถนนที่ไปยังตำบลมากิโน ที่ตั้งของศูนย์ออนเซ็นที่เราไปใช้บริการอาบน้ำและกินมื้อค่ำเมื่อวานนี้

ฮิโรกิจอดรถที่จุดแวะพักริมถนนของหมู่บ้านคุตซึกิ (Kutsuki) มีร้านอาหารและร้านขายของกินของที่ระลึกประจำท้องถิ่น แต่ไม่มีร้านกาแฟ มีเพียงตู้กดซึ่งมีเฉพาะกาแฟเย็นแบบกระป๋อง หลังจากซื้อขนมโดรายากิไส้ชาเขียวและแมวหนีบกระดาษแล้วผมก็ข้ามไปซื้อกาแฟร้อนจากร้านสะดวกซื้ออีกฝั่งถนน

ถนนที่เราเดินทางไปมีลำธารไหลสวนมาอยู่ด้านขวามือ เมื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเล็กๆ ก็ยังมีลำธารอีกสายที่ไหลมาจากภูเขาเคียวกาทาเกะเบื้องหน้า

มอเตอร์ไซค์ที่ช็อปเปอร์ขาใหญ่ใฝ่ฝันที่จุดแวะพักของหมู่บ้านคุตซึกิ เมืองทาคาชิมา

ทางเลียบลำธารค่อนข้างแคบ รถยนต์หมดสิทธิแซงกัน ที่ขับสวนมาก็ต้องเบียดริมทางชนิดติดไหล่เขา เฉียดต้นไม้ข้างทาง ลำธารที่ไหลผ่านช่องเขา แม้ไม่ลึกและชันนัก แต่ทางบางช่วงที่ไม่มีต้นไม้กั้นก็น่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน

เวลาประมาณเที่ยงก็ถึงที่จอดรถของศูนย์ตกปลาลำธารบนภูเขาคุตซึกิ หรือ Kutsuki Mountain Stream Fish Center) แต่หากป้อนข้อความนี้ลงในแผนที่กูเกิลเราจะไม่เจอ ต้องป้อนคำว่า Kuchiki ลงไปแทน Kutsuki ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาในการใช้ภาษาอังกฤษเทียบกับเสียงอ่านภาษาญี่ปุ่นที่จะต้องสับสนกันบ้าง

ศูนย์แห่งนี้ให้บริการตกปลาที่ไหลมาตามลำธารโดยการทำบ่อแยกย่อยเรียงกันและลดหลั่นลงไปเป็นชั้นๆ เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปได้ตลอด ใครคิดจะเช่าเบ็ดตกปลาเองแล้วนำปลาที่ได้ไปย่างบาร์บีคิวริมลำธาร หรือจะสั่งมาปิ้งย่างเองโดยไม่ต้องตกให้เหนื่อยก็ได้ หรือถ้าอยากสบายกว่านั้นจะเดินเข้าร้านอาหารของศูนย์ไปเลยก็ไม่มีใครว่า

ห่างจากศูนย์ไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีจุดตกปลาแบบ Fly Fishing ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคคันไซ การตกปลาแบบ Fly Fishing ก็คือการตีเหยื่อปลอมเหนือน้ำ ระยะตกระหว่าง 20 – 30 เมตร น่าเสียดายที่เราไม่ได้ไปดู

ราคาค่าหัวสำหรับอาหารหนึ่งมื้อคนละเท่าไหร่ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะฮิโรกิเก็บจากผมและอาจารย์โจพอเป็นพิธีเพียงคนละ 700 เยน และเราก็ไม่ตกปลาให้เสียเวลา นอกจากราคาจะแพงกว่าสั่งโดยตรงจากร้านที่สดพอๆ กันแล้ว ก็ยังมีเนื้อสัตว์พวกหมู เนื้อ ไก่ ไส้กรอก ข้าวสวยสามเหลี่ยม และผักอีกด้วย

นกกระยาง (คาดว่า) จ้องจิกปลาในลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านคุตซึกิ

ส่วนเตาถ่านนั้นมีลักษณะเป็นร่องตรงกลางไปตามโต๊ะยาว มีตะแกรงเหล็กวางเหนือเตาไฟในระดับเดียวกับโต๊ะ ผู้ใช้บริการก็นั่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ ทั้งสองฝั่งคอยเติมถ่าน คอยปิ้ง หากฝนตกหรือแดดแรงก็ไม่เป็นไรเพราะมีหลังคากันไว้อย่างดี

โอโต้ซัง คุณพ่อของเอมิซังตามมาทีหลัง ซื้ออาหารอย่างอื่นมาด้วยจำพวกที่ปรุงสุกมาแล้ว แกบอกว่าแอบเอามา แต่ถ้าพนักงานของศูนย์เห็นก็ไม่มีปัญหาอะไร เขาไม่ได้เคร่งครัดเข้มงวดมากนัก แต่ไม่ควรนำมามากเกินไปและต้องสั่งของจากศูนย์ด้วยเท่านั้นเอง

ฮิโรกิและโอโต้ซังเป็นคนจัดการปิ้งย่าง และบอกให้ผมและอาจารย์โจนั่งเฉยๆ รอรับประทานเท่านั้นเพราะเป็นแขกของพวกเขา หน้าที่ของผมคือเติมไวน์แดงให้กับอาจารย์โจ และชิมวิสกี้ Sun Peace ที่ฮิโรกิให้เป็นของขวัญต้อนรับเมื่อวานนี้

คนอื่นๆ ไม่มีใครแตะแอลกอฮอล์ ฮิโรกินั้นเมาง่ายและต้องขับรถ เอมิซังไม่ดื่ม ส่วนโอโต้ซังเลิกไปนานแล้ว แกบอกว่าถ้าภรรยาแกมาด้วย ผมจะมีเพื่อนดื่มเพิ่มอีกคนอย่างแน่นอน

เราปิดท้ายอาหารคาวด้วยปลาอิวานะย่าง ซึ่งเป็นปลาเทราต์น้ำจืดชนิดหนึ่ง พบได้ในเอเชียตะวันออก ชอบอยู่ในน้ำเย็น ฮิโรกิบอกว่ามันอยู่ได้เฉพาะในน้ำที่ใสสะอาดเท่านั้น

เหล็กแหลมเสียบหัวท้ายมาจากร้านแล้ว เราเพียงแค่ย่างบนไฟอ่อนๆ เป็นอาหารชิ้นแรกที่ผมต้องดูแลด้วยตัวเอง เมื่อเห็นว่าของคนอื่นสุกแล้ว ของผมก็สุกด้วยเพราะย่างพร้อมๆ กัน รสชาติของปลาทั้งสดและหวานอร่อย กินได้ทั้งตัวรวมก้างด้วย เข้ากับ Sun Peace ได้อย่างไม่แปลกแยกขัดเขิน

ป่าสนให้ความร่มรื่นแก่ผู้เดินทาง

หลังจากกินปลาหมด โอโต้ซังก็หยิบเอาผลไม้สีส้มๆ ยื่นให้ผม แกว่า “กินสิ หวานดี” ผมรู้ทันว่านี่คือบ๊วยดอง จึงบอกว่า “ผมจะเก็บไว้กินทีหลัง” แกก็หัวเราะ

“ตอนผมเด็กๆ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่เพิ่งฟื้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เราไม่ค่อยมีอะไรกินมากนัก อาหารเที่ยงสำหรับกินที่โรงเรียนก็คือข้าวสวยและบ๊วยดองสีออกแดงๆ วางอยู่ตรงกลาง เปิดกล่องข้าวมาก็จะเห็นเหมือนธงชาติญี่ปุ่นเลย” โอโต้ซังเล่าให้ฟัง

เราแยกย้ายกับโอโต้ซังตรงที่จอดรถและขับตามออกมา เมื่อออกถนนใหญ่ก็เห็นรถสปอร์ตเปิดประทุนคันเล็กๆ วิ่งอยู่ข้างหน้า คู่รักในรถสวมหมวกเก๋ไก๋ทั้งสองคน ฝ่ายหญิงปีกกลมกว้างเป็นพิเศษ อาจารย์โจขอให้ฮิโรกิเร่งความเร็วเข้าไปใกล้ๆ เพื่อจะดูว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร ก็ดูไม่ออก กระทั่งพวกเขาแวะที่จุดจอดพักข้างทางจุดเดียวกับที่เราแวะเมื่อขามา

อาจารย์โจสั่งฮิโรกิว่า “อย่าเข้าไปจอดติดกับเขานะ เดี๋ยวเขาจะรู้ว่าเราตามมา”

ฮิโรกิบอกว่าเขาเห็นคนขับมองกระจกมองหลังสังเกตพวกเราอยู่นานแล้ว แต่ก็ยังรักษาเชิงเข้าไปจอดห่างกันหลายวา รอให้คู่รักเดินออกจากรถจนลับตา แล้วเราทั้งหมดก็เดินไปดูรถคันนั้นใกล้ๆ

ศูนย์ตกปลาลำธารบนภูเขาคุตซึกิ นิยมมากันเป็นครอบครัว

มันคือ Austin รถยนต์สัญชาติอังกฤษ รุ่น Sprite Mark I หรือเรียกกันทั่วไปว่า Frog Eye เพราะไฟหน้าละม้ายคล้าย “ตากบ” ผลิตในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1960 อาจจะเป็นรถที่ Austin ส่งออกไปยังอเมริกา แล้วมีคนซื้อเข้ามาใช้ในญี่ปุ่นอีกที เพราะพวงมาลัยอยู่ด้านซ้าย แต่ก็เป็นข้อสันนิษฐาน หรือเดาล้วนๆ

อีกมุมหนึ่งของจุดแวะพัก มีผู้คนกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะ “ไอ้มดเขียว” หรือ คาเมนไรเดอร์ V 3 ได้ขับมอเตอร์ไซค์เฮอร์ริเคนเข้ามาจอด คนขอเข้าไปถ่ายรูปราวครึ่งหนึ่งของคนแวะพักทั้งหมด ยกเว้นพวกเด็กๆ ที่เกิดไม่ทัน ไอ้มดเขียวเต็มใจเป็นอย่างยิ่งเพราะพี่แกแต่งชุดมาเพื่อการนี้อยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าแฟนๆ คาเมนไรเดอร์เบาบางลงไปผมก็บอกฮิโรกิที่ถือกล้องอยู่ในมือให้เข้าไปขออนุญาต

ทั้งผมและไอ้มดเขียวชู 2 นิ้วรับเสียงแชะอย่างอัตโนมัติ ก่อนจะขอลาซูเปอร์ฮีโร่ของเด็กญี่ปุ่นในอดีตข้ามถนนไปซื้อกาแฟร้อนเหมือนตอนแวะพักรอบเช้า

สองข้างถนนของเมืองทาคาชิมาที่เป็นพื้นราบ เท่าที่สังเกตดูมีนาข้าวอยู่เยอะพอสมควร จนอาจารย์โจขอให้ฮิโรกิแวะที่นาแปลงหนึ่งที่กำลังออกรวงสีเหลืองทอง เธอเป็นคนฟิลิปปินส์ที่ไม่ค่อยได้อยู่ฟิลิปปินส์จึงไม่เคยสัมผัสนาข้าว ติดกับนาข้าวมีโรงนาเล็กๆ และข้างโรงนาได้ปลูกต้นพลับหรือ “คาขิ” ไว้ ลูกพลับกำลังสุกได้ที่น่ากินมาก จนผมเกือบเผลอเอื้อมมือไปปลิดกิน

ไอ้มดเขียว หรือ “คาเมนไรเดอร์ V3” ออกพบประชาชนพร้อม “เฮอร์ริเคน” มอเตอร์ไซค์คู่ใจ​​​​​​​

เมื่อถึงบ้านพักเราก็เจอโอโต้ซังอีกครั้ง และกล่าวลากันตอนที่เรากำลังเก็บกระเป๋า และก่อนจะกลับเมืองโอสึ ฮิโรกิก็ยังแวะไปคืนกุญแจที่บ้านแกในเขตเมืองทาคาชิมา

จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบบิวะ ฮิโรกิขับเลียบลงใต้ไปเรื่อยๆ รถค่อนข้างติดเพราะเป็นเวลาเย็นของวันอาทิตย์ คนทั้งจากเกียวโตและบางเมืองในจังหวัดชิกะตอนล่างกลับจากพักผ่อนวันหยุด เมื่อหาทางออกไปยังถนนสายเล็กๆ ได้ รถจึงวิ่งคล่องขึ้นมาก

ฮิโรกิแวะเติมน้ำมันให้รถยนต์และยอมรับเงินจากผมไปส่วนหนึ่ง จากนั้นเราก็แวะส่งอาจารย์โจขึ้นรถไฟกลับเกียวโต แล้วฮิโรกิก็ขับรถไปคืนศูนย์เช่าใกล้ๆ บ้าน

ผมเพิ่งตัดสินใจว่าคืนนี้จะพักที่อพาร์ทเมนต์ของฮิโรกิและเอมิซัง ทั้งที่ได้รับคำชวนมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เอมิซังต้องขอเตรียมที่หลับที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยอาคันตุกะเพียงแค่วางกระเป๋าไว้หลังประตู จากนั้นฮิโรกิก็ชวนออกไปซื้อกับข้าว

ที่แผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ของห้าง AEON ใกล้บ้าน มีอาหารทั้งสด แห้ง และปรุงสุกแล้ว อยู่ในอาณาบริเวณที่ใหญ่โตมาก เราเลือกกันอยู่นานก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนเอมิซังมาสมทบทีหลัง การหยิบจับข้าวของลงตะกร้าจึงง่ายดายขึ้น

ระหว่างที่เอมิซังทำอาหาร ผมก็เปิด Sun Peace ดื่มหน้าทีวี ส่วนฮิโรกิดื่มไวน์ที่ปรุงพิเศษ ออกไปทางน้ำองุ่นผสมน้ำผลไม้รวมมากกว่า แอลกอฮอล์แค่ 7เปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็หน้าแดงอย่างรวดเร็ว

นาข้าวญี่ปุ่น เมล็ดข้าวอ้วนกลมรอการเก็บเกี่ยว

กับข้าวฝีมือเอมิซังอร่อยไม่เบา เธอค่อยๆ ทยอยมาทีละอย่าง ที่เด็ดสุดต้องยกให้ข้าวหุงใส่หอยเชลล์ ผมเกือบลืมที่จะกล่าวชมและขอบคุณสำหรับอาหาร กว่าจะนึกขึ้นได้ก็ตอนที่เธอกำลังเก็บโต๊ะแล้ว เรื่องนี้คนญี่ปุ่นเขาค่อนข้างถือ พอๆ กับตอนก่อนจะกินคำแรกที่ต้องพูดเหมือนกันว่า “กินแล้วนะครับ/คะ”

ทีวีญี่ปุ่นกำลังมีการประกวดการแสดงตลกระดับประเทศ แต่ก็ไม่ทำให้ฮิโรกิฝืนอาการง่วงนอนได้นานนัก ผมจึงคุยกับเอมิซังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เธอพูดภาษาอังกฤษสำเนียงฟังง่ายเพราะเกิดและโตที่อเมริกาจนถึงชั้นประถมฯ ก่อนที่พ่อแม่จะย้ายกลับมาญี่ปุ่น และในระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ก็ได้พบกับฮิโรกิ เพื่อนร่วมภาควิชาภาษาอังกฤษ

วันรุ่งขึ้น ผมตื่นค่อนข้างสาย เอมิซังออกไปทำงานแล้ว ส่วนฮิโรกินั้นเป็นฟรีแลนซ์ทำงานเขียนอยู่กับบ้าน เสร็จจากอาหารเช้าฝีมือพ่อบ้านผมก็จองที่พักในเมืองโกเบ

ฮิโรกิเดินไปส่งที่สถานีรถไฟโอสึเกียว ร่ำลากันด้วยคำว่า “มาตาเนะ” พบกันใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"