6 มิ.ย.64- นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,984 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,095 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 889 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 604 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 177,467 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 2,242 ราย หายป่วยสะสม 126,517 ราย อยู่ระหว่างรักษา 49,714 ราย อาการหนัก 1,209 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 361 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 23 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 11 ราย อยู่ใน กทม. 13 ราย สมุทรปราการ 4 ราย ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สระบุรี สระแก้ว ระยอง จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,236 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 173,717,565 ราย เสียชีวิตสะสม 3,736,092 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 ราย ในจำนวนนี้มี 76 ราย มาจากกัมพูชา โดย 16 รายลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ ขณะที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 173 ราย จึงเน้นย้ำว่าคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ขอให้เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย สามารถลงทะเบียนออนไลน์ หรือขอหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่แต่ละประเทศเพื่อจะเข้ามาได้ หากเข้ามาแล้วไม่พบเชื้อจะให้กักตัวในสถานกักตัวของรัฐ 14 วัน แต่หากพบเชื้อจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ เรามีจุดผ่านแดนที่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางกลับเข้าประเทศ 23 ช่องทาง ใน 22 จังหวัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในส่วนของ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กทม. 675 ราย สมุทรสาคร 288 ราย เพชรบุรี 196 ราย นนทบุรี 163 ราย สมุทรปราการ 124 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ที่เขตอุตสาหกรรมฟอกหนัง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้นำเสนอภาพการพบผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด พบว่ามีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มีการติดเชื้ออยู่แล้ว หลายจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่พบว่าเชื่อมโยงกับ กทม. ดังนั้น การควบคุมโรคจึงไม่ได้อยู่ที่พื้นที่อย่างเดียว แต่มาจากบุคคลที่มีการเคลื่อนย้าย การที่เราจะมีมาตรการอะไรจึงส่งผลต่ออีกด้านหนึ่งเสมอ ฉะนั้น มาตรการที่เกิดขึ้นในแห่งหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบต่อคน สังคม และจังหวัดอื่นตามมา
สำหรับสถานการณ์ใน กทม. มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง 63 แห่ง พบใหม่ 5 แห่งใน 4 เขต ได้แก่ ตลาดเทวราชหรือตลาดเทเวศร์ เขตดุสิต ชุมชนเพชรบุรีซอย 10 เขตราชเทวี แคมป์ก่อสร้างบริษัทชิโนทัย เขตลาดพร้าว ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ เขตวัฒนา นอกจากนี้ กทม.รายงานว่า ขณะนี้มีการตรวจตลาดและประเมินสุขาภิบาลของตลาดต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับ กทม.ไว้แล้ว 102 แห่ง ขณะที่ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 367 แห่ง พบว่า ผ่านแกณฑ์ 270 แห่ง ไม่ผ่านการเกณฑ์ 97 แห่ง ซึ่งในส่วนของมาตรการนายจ้าง จะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการวางแผนเตรียมความพร้อมเมื่อพบผู้ป่วย ปรับปรุงเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ต้องสื่อสารกับลูกจ้าง โดยเฉพาะเรื่องภาษา ปรับปรุงที่นั่งรับประทานอาหารที่ไม่มีการจัดเตรียมไว้ให้ ทำให้แรงงานต้องไปนั่งจับกลุ่มกัน ปรับปรุงห้องน้ำที่ยังไม่มีความเหมาะสม รวมถึงการป้องกันการรวมตัวกันทำกิจกรรมสังสรรค์ดื่มกินหลังเลิกงาน
" โควิด-19 อยู่กับเรามาปีกว่า เรายึดหลักและรับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. บางครั้งชุดข้อมูลต่างๆ ไม่มีความชัดเจน แต่ไม่ได้มีเจตนาปกปิดอะไร และขอให้เครดิตกับผู้ทำงานเบื้องหลังที่ทำกัน 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุดเพื่อให้ได้ข้อมูลมารายงานแก่ประชาชน ส่วนที่มีอะไรไม่ถูกต้องตนขอน้อมรับไว้ ข้อมูลส่วนใหญ่ 99% ไม่มีเจตนาจะปกปิด แต่บางครั้งมีความไม่เรียบร้อยของข้อมูล ซึ่ง ผอ.ศบค.เน้นว่าให้ยึดความถูกต้อง ทันการณ์ ทันเวลา โดยเอาความถูกต้องขึ้นก่อน และถ้าทันการณ์และทันเวลาได้จะดี ระบบข้อมูลอาจจะช้าหน่อย แต่ความเร่งรีบเราต้องบอกประชาชนให้ได้โดยเร็ว เราทำทุกอย่างอย่างเต็มที่และดีที่สุด"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |