ห้ามเลื่อนฉีดวัคซีน ‘หมอตี๋’สั่งทุกรพ.ทำตามมติสธ.‘ซิโนแวค’มาเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    

 

"ซิโนแวค" จีนบริจาคเพิ่ม 5 แสนโดสถึงไทยแล้ว เตรียมการคึกคัก 7 มิ.ย.ปูพรมฉีดทั่วประเทศแน่นอน แต่บางจุดป่วนเลื่อนฉีด "หมอตี๋" โผล่กำชับทุกโรงพยาบาลห้ามเลื่อนเด็ดขาด เพราะวัคซีนกระจายไปครบแล้ว แต่หลายจังหวัดได้ฉีดวัคซีนล็อตแรกเป็นน้ำจิ้ม เพราะได้รับแค่หลักพัน โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ จัดสรรงบฯ 2,806 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ

    เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เพจ Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า วัคซีนซิโนแวคล็อตที่ 2 ที่บริจาคโดยรัฐบาลจีนจำนวน 500,000 โดสส่งถึงไทยแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้บริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1 ล้านโดส
    วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีจำนวนมากที่สุดทั้งในประเทศจีนและในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 จนถึงวันที่ 30 พ.ค.2564 ประเทศจีนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วทั้งหมด 639 ล้านโดส โดยวัคซีนจำนวน 316 ล้านโดสเป็นวัคซีนซิโนแวค ณ ขณะนี้ จีนได้ส่งออกและบริจาควัคซีนซิโนแวคให้แก่ไทยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านโดส
    วันเดียวกันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามพร้อมเป็นประธานในพิธีเปิดการฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ต้องขังที่เรือนจำพิเศษพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อป้องกันแพร่ระบาดตามมาตรการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดระบาดในเรือนจำ โดยมีนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมงานด้วย
    โดย รมว.ยุติธรรมได้นำเข็มฉีดยาฉีดเข้าไปที่หุ่นเชื้อไวรัสจำลองเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพิธีเปิด พร้อมกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีความต้องการให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ กลุ่มเปราะบาง เช่น ในเรือนจำพิเศษพัทยาซึ่งอยู่ในเมืองท่องเที่ยวคือจังหวัดชลบุรีต้องปลอดโควิด จึงเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ซึ่งขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ที่ทยอยส่งวัคซีนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่คลัสเตอร์ในเรือนจำที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมากนั้น มั่นใจว่าหลังจากได้รับวัคซีนยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง และจากการดูแลรักษาพร้อมกับตัวเลขที่รายงานในแต่ละวัน อย่างเช่นวันนี้ประมาณกว่า 300 คนเท่านั้น
    ขณะที่การบริหารจัดการวัคซีนแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดพื้นที่สีแดง แต่เป็นเรือนจำสีขาว คือยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 38 เรือนจำ จำเป็นต้องใช้วัคซีนจำนวนพอสมควร จึงประสานขอวัคซีนกับกรมควบคุมโรคแล้ว ซึ่งพร้อมทยอยส่งให้เร็วนี้ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องมีมาตรการป้องกันและเตรียมความพร้อมอย่างเข้มงวดในการฉีด
    เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการขนส่งวัคซีนไปยังเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล นายสมศักดิ์เชื่อว่าไม่มีปัญหาในส่วนนี้ เพราะวัคซีนต้องถูกควบคุมโดยอุณหภูมิติดลบ 70 องศา จึงมีการวางแผนเวลาขนส่งแบบวันต่อวัน และให้ขนส่งผ่านทางเครื่องบินเพื่อความรวดเร็วที่สุด โดยตอนนี้ยังต้องการวัคซีนอีก 6.2 แสนโดส เพื่อฉีดให้ผู้ต้องขังในพื้นที่สีแดงกว่า 3.1 แสนคน และในส่วนของเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วย
กทม.ยืนยัน 7 มิ.ย.ปูพรม
    “การฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มเรือนจำสีขาว กลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน มะเร็งและเบาหวาน เป็นต้น ขณะนี้มี 14 เรือนจำจะทำให้เสร็จก่อนวันที่ 7 มิ.ย.2564 ซึ่งการฉีดวัคซีนที่เรือนจำพิเศษพัทยาวันนี้ มียอดทั้งหมด 480 โดส จากจำนวนผู้ต้องขังกว่า 3,252 คน” นายสมศักดิ์กล่าว
    ขณะที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ประชุมทางไกลร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องการให้บริการวัคซีน เป็นแนวทางเดียวกัน
    ทั้งนี้ ตั้งแต่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่ได้แจ้งความประสงค์รับวัคซีนโดยลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม จำนวน 463,861 ราย พร้อมทั้งฉีดเข็มที่ 2 ให้กลุ่มดังกล่าวซึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วอีก 520,000 ราย จึงขอให้ผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้ไปตามวัน เวลาและโรงพยาบาลที่กำหนด ซึ่งทุกคนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม จะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี แจ้งว่า สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อม และได้รับนัดฉีดวัคซีนในวันที่ 7-19 มิถุนายน 2564 นี้ ขอให้ไปรับการฉีดวัคซีนได้ตามวัน เวลา และโรงพยาบาลที่ได้รับนัดหมาย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้
    สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ "นนท์พร้อม" จะสามารถเริ่มทำการนัดหมายในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ www.นนท์พร้อม.com (พิมพ์ติดกัน) คลิกลิงก์ https://www.xn--o3cdavpl4ezlya.com/ เพื่อบริการฉีดวัคซีนในช่วง 26-27 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์ฉีดสนาม 4 แห่ง
    อย่างไรก็ตาม พบว่าหลายพื้นที่ไม่ได้รับการกระจายวัคซีน ทำให้ต้องเลื่อนการฉีดออกไป เช่น เพจเฟซบุ๊ก "โรงพยาบาลรามคำแหง Ramkhamhaeng Hospital" ออกประกาศเรื่องการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จากภาครัฐ โดยข้อความระบุว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการกระจายวัคซีนของภาครัฐ และวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้โรงพยาบาลไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนครบตามจำนวนที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้ ทางโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องทำการจัดระบบการให้บริการฉีดวัคซีนของท่านใหม่ให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับในแต่ละสัปดาห์
    ทั้งนี้ ท่านที่ได้ลงทะเบียนไว้ในวันที่ 7-13 มิถุนายน โปรดรอข้อความการยืนยันการนัดหมายของท่านอีกครั้ง ทางโรงพยาบาลคาดว่าจะได้รับวัคซีนสำหรับสัปดาห์แรกในคืนวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน เราจะรีบดำเนินการส่ง SMS ให้ท่านทราบทันที โปรดรอการติดต่อจากทางโรงพยาบาล
    เช่นเดียวกับ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเลย ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดเลย ได้ออกคำสั่งประกาศจังหวัดเลย แจ้งยกเลิกใบนัดหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดเลย
ชลบุรีได้ 2.4 หมื่นโดส
    อย่างไรก็ตาม ต่อมานายชัยธวัช  แถลงข่าวอีกครั้งว่า ขณะนี้จังหวัดเลยได้รับการจัดสรรวัคซีนมาบางส่วนแล้ว โดยจะเริ่มฉีดให้กับชาวจังหวัดเลยในวันที่ 7 มิถุนายนนี้
    ส่วนกรณีที่มีข่าวสารที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการยกเลิกการจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ยืนยันว่า ไม่มีการยกเลิกการจองฉีดวัคซีนของกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม แต่เป็นการยกเลิกนัดหมายเก่า เพื่อเลื่อนนัดให้มาฉีดเร็วขึ้นในวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีนแน่นอน              
    นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า จังหวัดนราธิวาสได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 จากรัฐบาล วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 3,600 โดส และจะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งจะฉีดให้กับประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนไปแล้ว พร้อมกับจังหวัดอื่นทั่วประเทศ โดยเริ่มในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ภาพรวมแผนการฉีดวัคซีนและสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทั้ง 13 อำเภอ และโรงพยาบาลกัลยาณิวัฒนาการุณย์ อำเภอเมืองนราธิวาส เฉพาะเดือนมิถุนายน 2564 รวมทั้งสิ้น 14 จุด
    นายภาควัต ศรีสุรพล ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแนบเอกสารสำนักงานสาธารณสุขขอนแก่นที่แจ้งถึงการจัดสรรวัคซีน พร้อมกับเขียนข้อความว่า รับไม่ได้จริงๆ จากที่จะได้รับมา 400,000 โดส ถูกปรับเหลือ 40,000 โดส ล่าสุดถูกปรับเหลือ 3,600 โดส
    ที่ห้องประชุมสุดสุข ชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกระจายวัคซีนระดับจังหวัด เพื่อเตรียมให้บริการวัคซีน ดีเดย์พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 7 มิถุนายนนี้
       โดยนายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รายงานการได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ล็อตแรกจำนวน 24,000 โดส กำหนดวิธีฉีดให้ 12 คนต่อโดส จะได้เป้าหมายประมาณ 28,800 คน ในกลุ่มที่จองผ่านแอปหมอพร้อม และลงนัดวันที่ 7 มิถุนายน 8,580 คน บุคลากรการแพทย์ 1,801 คน เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 5,235 คน ครูใน 3 พื้นที่ระบาดสูง คือ อำเภอเมืองชลบุรี ศรีราชา และบางละมุง รวม 5,763 คน จัดสรรพื้นที่ดำเนินการ 6,809 คน และสำรองควบคุมโรค 612 คน
ห้ามเลื่อน
ห้ามเลื่อนฉีดวัคซีน
    ทั้งนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ “หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ” ระบุข้อความว่า ขณะนี้วัคซีนล็อตแรก 1.8 ล้านโดส ได้ดำเนินการจัดส่งไปแต่ละจังหวัด เพื่อฉีดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อม 2 กลุ่มเสี่ยง ในวันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป ขอให้ทุกโรงพยาบาลทำตามมติของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีการยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนแผนการฉีดใดๆ
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้คนไทยมีศักยภาพในการคิดค้นและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง จึงได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ และสำหรับเป็นทุนหนุนในการเพิ่มศักยภาพประเทศของไทย พร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
    นายอนุชากล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณวงเงิน 1,810.68 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 995.03 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินกว่า 2,805.71 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการผลิตวัคซีน โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเป็นทุนสนับสนุนการวิจัยให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ดังนี้
    1.บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (650 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA 2.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (200 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้นแบบที่พร้อมทดสอบทางคลินิกและการเตรียมพร้อมผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับการระบาดของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์
    3.บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (160 ล้านบาท) เพื่อการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ 4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (562 ล้านบาท) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ตามความต้องการของประเทศ โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ด้านการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของยาชีววัตถุและวัคซีนรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นใช้เองในประเทศ
    5.องค์การเภสัชกรรม (156.8 ล้านบาท) เพื่อเตรียมความพร้อมการแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ 6.บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (81.88 ล้านบาท) เพื่อขยายศักยภาพการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมรองรับการผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนไทยด้วย
พึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในอนาคต
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 995.03 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อเป็นทุนสำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีน และการสร้างศักยภาพการผลิตเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยหน่วยงานผู้รับทุนมีดังนี้
    1.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (365 ล้านบาท) 2.บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (596.24 ล้านบาท) ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลจะได้รับทุนคืนทั้งหมด โดยได้มีการระบุไว้ในสัญญาการรับทุนว่า เมื่อบริษัทสามารถผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว จะส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนฯ จึงไม่ใช่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในขั้นต้นเพื่อให้เป็นผลสำเร็จเท่านั้น 3.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (33.79 ล้านบาท)
    “วงเงินงบประมาณกว่า 2,806 ล้านบาทนี้ จะช่วยในการสร้างรากฐานและพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยวัคซีนของประเทศเพื่อรับมือการระบาดในครั้งนี้ และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสุขภาพ พึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ในอนาคต รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนของภูมิภาคในอนาคตด้วย” นายอนุชาระบุ
    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่ได้ติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่ายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงขอชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้สบายใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างสูงสุด และได้จัดสรรวงเงินที่จะใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข เบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท และในส่วนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 65 ยังจัดงบประมาณด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามภารกิจของหน่วยงาน ที่ประกอบด้วยงบของกระทรวงสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย วงเงินรวมอีก 2.95 แสนล้านบาท
ทวงคำท้า"วิโรจน์"ก้าวไกล
    นางสาวรัชดากล่าวว่า โดยในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 รัฐบาลจัดสรรวงเงินงบประมาณจากทั้งงบกลาง กรณีฉุกเฉิน และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 87,862 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม และ อสม. 22,146 ล้านบาท การจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1,824 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 29,304 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน ทั้งการวิจัยพัฒนาในประเทศ รวมไปถึงค่ารักษากรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนด้วย 21,134 ล้านบาท การเฝ้าระวัง ป้องกันและค้นหาเชิงรุก 6,483 ล้านบาท การจัดตั้งสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine - SQ) และสถานที่กักกันโดยองค์กรต่างๆ (Organizational Quarantine - OQ) 6,452 ล้านบาท การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 519 ล้านบาท
    นางสาวรัชดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด ฉบับเพิ่มเติม ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา อีกจำนวน 30,000 ล้านบาท (จากกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท) เพื่อเตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จาก พ.ร.ก.เงินกู้ จะทำได้เร็วกว่าและทันสถานการณ์มากกว่าการรอใช้จาก พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่กว่าจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.2564
    นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เคยท้าให้ รมว.สาธารณสุขลาออกจากตำแหน่ง หากวันที่ 7 มิ.ย.ไม่มีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้บริการว่านายวิโรจน์ จะออกมารับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองอย่างไร ทำไมไม่ลาออกจาก ส.ส.ตามคำพูด แสดงว่าไม่มีสัจจะไม่รักษาคำพูดตนเอง อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้กำหนดเอาไว้ มีวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน
    “นายวิโรจน์ควรหยุดพูด หยุดกุข่าวที่ไม่เป็นความจริงได้แล้ว ในขณะที่ประเทศเกิดวิกฤติและต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่าทำตัวมือไม่พายเท้าราน้ำ อย่าเป็นตัวถ่วงคนอื่น เป็นถึงผู้แทนของประชาชนหัดใช้สมองที่มีคิดเรื่องประชาชน ประเทศชาติจะดีกว่า อย่าเอาเวลานี้มาตีกินทางการเมือง อย่ามาหวังลมๆ แล้งๆ ที่จะล้มรัฐบาลในตอนนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ นายวิโรจน์และพรรคก้าวไกลมีแต่จะตกต่ำ ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชน ตนเองยังขอแนะนำหากนายวิโรจน์และพรรคก้าวไกล ไม่อยากทำตัวเป็นประโยชน์ช่วยประชาชนและประเทศชาติ เพียงแค่หุบปากไม่ตำหนิ โจมตีใคร ก็อาจกู้ความศรัทธาจากประชาชนได้ ไม่แน่เลือกตั้งครั้งหน้าอาจได้เข้ามาอีก” นายเสกสกลกล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"