บทสรุปถก พ.ร.บ.งบฯ 65 ยืมมือเวทีสภาต่อรองอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

 

ผ่านไปแล้วสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 269 ต่อ 201 งดออกเสียง 2

          หลังจากนี้จะเป็นการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง จำนวน 72 คน โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง

ภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตลอด 3 วัน ส่วนใหญ่เน้นหนักกันไปที่งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ตลอดจนฝ่ายค้าน โจมตีประเด็นเรื่องการจัดงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

           กับอีกประเด็นคือ งบของกระทรวงกลาโหม ที่ตกเป็นเป้าการอภิปรายในทุกๆ ครั้ง โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพในช่วงที่ประเทศควรต้องนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

           แต่ที่ดูจะเป็นไฮไลต์ที่สุดของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นความระหองระแหงกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล หลัง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ดาหน้าถล่มการจัดทำงบประมาณตลอด 3 วันติดต่อกัน

ดีกรีการอภิปรายร้อนแรงในระดับที่ใครฟังยังคิดว่า พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือไม่ เพราะค่อนข้างโดดเดี่ยวในสภาเหลือเกิน

            ถึงขนาด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องนำเรื่องนี้ไปตัดพ้อในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ดูแลลูกน้อง ปล่อยให้ออกมาซัดโครมๆ กันกลางสภา

            อย่างไรก็ดี พอถึงเวลาลงมติ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลต่างแถวตรงดิก ลงมติเห็นชอบกันท่วมท้น ย้อนแย้งกับสิ่งที่ได้อภิปรายเอาไว้ที่ประหนึ่งจะคว่ำเช่นเดียวกับฝ่ายค้าน

มันเลยเป็นการเฉลยว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่อภิปรายเป็นฟืนเป็นไฟ แท้จริงแล้วเป็นแค่การยืมเวทีสภา เอาผลประโยชน์ประชาชนมาบังหน้าเพื่อมาต่อรองผลประโยชน์ภายในกันเอง

และมันเป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำให้เห็นว่า มันมีปัญหามากมายภายในพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนกับที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ แม้จะมีการออกมาปฏิเสธหรือยืนยันว่าแน่นแฟ้นกันดีก็ตาม

โดยเฉพาะปัญหาระหว่างผู้ใหญ่ในรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย เรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ช่วงที่ผ่านมามีข่าวออกมาตลอดว่า พรรคภูมิใจไทยไม่พอใจกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์รวบอำนาจการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เอาไว้ที่ตัวเองเพียงคนเดียว ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ที่ควรจะเป็นฟันเฟืองสำคัญเพราะดูแลกระทรวงหมอแทบจะไร้พื้นที่ทำงาน

            ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคภูมิใจไทยมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้เกียรตินายอนุทินเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นหลายครั้งที่ออกมาเบรกการดำเนินการต่างๆ ทั้งเรื่องวอล์กอิน หมอพร้อม จนทำให้นายอนุทินเสียหน้า หรือแม้กระทั่งเรื่องการมอบหมายงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นถึง รมว.สาธารณสุข แต่กลับเอามานั่งเป็นแค่ที่ปรึกษาของฝ่ายประจำในคณะกรรมการเฉพาะกิจบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน

           “พวกผมทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยความจริงใจ ขณะที่คุณอนุทินก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่การโอนอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ที่ ศบค. ซึ่งมีการดำเนินการโดยเลขาฯ สมช. ซึ่งเป็นข้าราชการซี 11 แต่กลับมีอำนาจมากกว่า ท่านนายกฯ จะรู้หรือไม่ว่าเรารู้สึกอย่างไร” นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ระบุ

            เช่นเดียวกับคำพูดของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะอภิปรายเรื่องการลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ทำให้เห็นได้อย่างแจ่มชัดว่า พรรคภูมิใจไทยต้องการใช้สภาเพื่อระบายความไม่พอใจของพรรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

            “ผมอยากให้สภาพัฒน์พิจารณาและดูบทบาทหน้าที่ตัวเองใหม่ เพราะแทนที่ท่านจะทำหน้าที่วิเคราะห์แนะนำรัฐบาล แต่กลับมาพิจารณางบเสียเอง หรือสำนักงบประมาณคิดว่านายกฯ จะไม่รักคุณอนุทินเสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”

มันชัดว่า ตลอด 3 วันที่ผ่านมา เหตุใด ส.ส.พรรคภูมิใจไทยถึงพร้อมใจกันถล่มการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ทางหนึ่งคือ แสดงความไม่พอใจ และอีกทางหนึ่งคือ ปกป้องหัวหน้าพรรคตัวเอง

            นอกจากนี้ แกนนำรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยยังมีปัญหาที่กินแหนงแคลงใจกันหนักๆ ที่ยังคาราคาซังอยู่ อย่างเรื่องการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กระทรวงคมนาคมภายใต้การดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คัดค้านทุกประตูเพื่อไม่ให้มีการขยาย ในขณะที่กรุงเทพมหานครและแกนนำรัฐบาลต้องการจะขยายสัมปทานให้เอกชนเพื่อจบปัญหา

            ประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน มีการทำสงครามผ่านสื่อกันหลายครั้ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเดินหน้ายื่นเรื่องให้ศาลปกครอง ตลอดจนล่าสุดที่ออกมาปล่อยข่าวดักคอว่าจะมีการนำเรื่องการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายไม่มีวาระเรื่องนี้

มันเป็น สนิมแต่เนื้อในตน ที่เกิดขึ้นมาตลอดภายในรัฐบาล แม้ทุกครั้งทั้งสองฝ่ายจะออกมายืนยันว่าไม่มีปัญหา ช่วยเหลือกันได้ แต่เบื้องหลังมันกลับเต็มไปด้วยสงครามเย็น

            หลายครั้งหลายหนที่มีการระบุว่า เคลียร์ใจกันแล้ว แต่หลังจากนั้นมันก็เกิดการขบเหลี่ยมกันออกมาเสมอ เพราะแผลที่เกิดขึ้นมันยังไม่ได้รับการรักษา

            เช่นเดียวกับการแก้ไขโควิด-19 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นมาชี้แจงประเด็นตัดพ้อของนายศุภชัยที่ว่า ไม่ให้เกียรตินายอนุทิน

            “ผมถามว่าท่าน (นายอนุทิน) จะเอาคืนไปหรือยัง ท่านบอกว่ายังหรอกครับ กระทรวงสาธารณสุขทำไม่ไหวครับ เพราะผมไปสั่งใครเขาไม่ได้ ผมสั่งได้แต่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ผม (พล.อ.ประยุทธ์) อยากจะคืนท่านไปตั้งนานแล้ว ท่านบอกว่าเอาไว้ก่อน นี่คือข้อเท็จจริง ผมไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น”

            ฟังที่ พล.อ.ประยุทธ์พูด เหมือนนายอนุทินไม่ได้ติดใจอะไร แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยจะกวนน้ำให้ขุ่นทำไม ที่สำคัญพฤติกรรมแบบนี้มันสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ไม่มีทางทำโดยพลการหากไม่ได้รับไฟเขียวจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคก่อน

            ขณะเดียวกัน นายอนุทินจำเป็นต้องตอบกับ พล.อ.ประยุทธ์เช่นนั้นก็เป็นเพียงมารยาท แต่ในใจลึกๆ มันอาจแตกต่างกับคำพูดที่ตอบไป

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะรับรู้กันได้ว่าเจตนาของพรรคภูมิใจไทยคือ การปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ พล.อ.ประยุทธ์รับรู้ว่า มันยังมีอีกปัญหาในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นคือ ความไม่พอใจของผู้ร่วมงาน

โดยเฉพาะการนำคนรอบข้าง ทหาร นักวิชาการ มาเป็นคณะทำงานตัดสินใจหลายเรื่องที่สำคัญ ในขณะที่รัฐมนตรีกลับถูกลดโทนให้เหลือไม่ต่างจากไม้ประดับ

และหากมองข้ามประเด็นการต่อรอง ก็ถือว่าจะได้หันกลับมาทบทวนการทำงานเรื่องการแก้ไขโควิด-19 ตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า เหตุใดจึงตะกุกตะกัก และเหตุใดจึงโดดเดี่ยว

ปัญหาของแกนนำรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย แม้ถือว่าไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองมาก เพราะสุดท้ายแล้วพรรคภูมิใจไทยก็ไม่กล้าตีจากรัฐบาล จะคำรามดังราชสีห์แต่ลงมติเหมือนหนูอย่างที่ฝ่ายค้านปรามาสไว้ แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าเขี่ยพรรคภูมิใจไทยทิ้งเช่นกัน เพราะต้องประคองกันไปจนสิ้นสุดวาระนี้ก่อน แต่ความขัดแย้งลักษณะนี้ก็จะเป็นลิ่มบั่นทอนการทำงานไปตลอดอายุขัยของรัฐบาล

            ทุกๆ ครั้งที่เกิดความไม่พอใจในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ตบตีต่อรองอำนาจ เคลียร์ได้ก็หันมาจูบปากจับมือ เป็นปาหี่การเมืองที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"