จบโควิด ทุกกลุ่ม ออกมาขับไล่รัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 

ประยุทธ์ มาสุดทางแล้ว ใครอยู่เบื้องหลัง กลุ่ม ปชช.คนไทย?

            ผลการลงมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 2  มิ.ย. ที่ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงมติรับหลักการแบบไม่มีแตกแถว 269 เสียง แม้ก่อนหน้านั้นจะมีข่าวความระหองระแหงทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลออกมาเป็นระยะก่อนการลงมติ จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสภาแข็งแรงมาก หากไม่สะดุดขาตัวเองก็ยากที่ฝ่ายค้านจะล้มได้ ขณะที่การเมืองนอกรัฐสภา กลุ่มการเมืองบางกลุ่มยังคงมีการเคลื่อนไหวกดดันพลเอกประยุทธ์ให้ลาออก บนเป้าหมายที่กลุ่มต่างๆ ประกาศแล้วว่าจบโควิดเมื่อไหร่ จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

             นิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย อีกหนึ่งกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก เพื่อให้มีนายกฯ คนนอกมาตั้งรัฐบาลสร้างชาติ ยืนยันว่าหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์จะเจอศึกใหญ่ เพราะหลายกลุ่มการเมืองจะออกมารวมตัวเคลื่อนไหว พร้อมทั้งย้ำว่านายกฯ คนนอกมีหลายชื่อที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง เช่น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร (อดีต รมว.สาธารณสุข  และประธานคณะที่ปรึกษา ศบค.) เพื่อให้มาเป็นนายกฯ ต่อจากพลเอกประยุทธ์ เพราะตอนนี้ดูแล้วพลเอกประยุทธ์เดินมาสุดทางแล้ว  

                -ในฐานะเคยมีส่วนร่วมและเคยทำการเมืองบนท้องถนนมาหลายยุค เช่น คปท.-กปปส. มองว่าเมื่อจบโควิด หลายกลุ่มการเมืองพร้อมจะออกมาขับไล่นายกฯ และรัฐบาลทันทีเลยหรือไม่?

            ผมว่าทุกกลุ่มจะออกมาหมดแน่ และประชาชนจะเห็นประจักษ์ทันที โดยประชาชนทุกฝ่ายก็จะออกมาแสดงตัวตน โดยพุ่งเป้าไปที่การจัดการรัฐบาลให้พ้นไป รวมถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่ารอบนี้ประชาชนไปไกลกว่าแค่เรื่องการล้มประยุทธ์เยอะ เพราะประชาชนต้องการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ โดยหลังจากนี้ประชาชนจะคิดถึงเรื่องชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์มากกว่าการต่อสู้ที่ผ่านมา ที่บางฝ่ายสู้เพื่อนักการเมือง สู้เพื่อพรรคการเมือง บางฝ่ายสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ แต่การที่ประชาชนจะออกมารอบหน้า จะมีตัวตั้งเหมือนๆ กันคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นตัวตั้ง

เป้าหมายของกลุ่มประชาชนคนไทยจึงเรียกว่า รัฐบาลสร้างชาติ แต่บางคนเช่น นพ.ประเวศ วะสี เรียกว่า รัฐบาลเฉพาะกาล คือมีภารกิจเฉพาะ ซึ่งที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศเดินไปแบบตามบุญตามกรรมภายใต้มือของนักการเมือง ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเท่าไหร่ อย่างหากดูจาก ครม.ชุดนี้เป็นตัวตั้งแล้ว เปลี่ยนหน้านายกฯ จากพลเอกประยุทธ์เป็นทักษิณ ชินวัตร ถามว่ามันต่างกันตรงไหน แล้วที่พลเอกประยุทธ์ออกมาประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะปราบโกง แต่อยากบอกว่า รัฐบาลก็ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย อย่างวันนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีได้แล้ว การที่ผู้นำรัฐบาลไปเอาธรรมนัสมาเป็นรัฐมนตรี หรือการปล่อยให้อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขบริหารงานแบบนี้ ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ครม.ชุดนี้ต้องไปทั้งคณะ ยืนยันว่าหากต่อไปถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทุกอย่างจะดีขึ้นแน่

สำหรับเวลาของพลเอกประยุทธ์ตอนนี้ ผมว่าถ้านับ 1 ถึง 10 ตอนนี้น่าจะนับถอยหลังไปที่เลข 5 แล้ว เป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังอยู่ได้ลำบาก เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนรู้สึกอยากฝากชีวิตฝากความหวังไว้ได้

ไม่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มจตุพร

                นิติธร-ทนายนกเขา-อดีตแกนนำ คปท.และแนวร่วม กปปส. ย้ำว่า ข้อเสนอของคณะประชาชนคนไทยคือ ขอให้พลเอกประยุทธ์เสียสละลาออก เพราะเราไม่ได้มองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นแม่ทัพที่อยู่กลางศึก และผมก็ไม่เชื่อด้วยว่าพลเอกประยุทธ์ขี่ม้าอยู่ ผมไม่รู้ว่าแกขี่รถบรรทุกเงินหรือเปล่า แต่ผมคิดว่านายกฯ ไม่ได้อยู่กลางศึก เพราะตอนนี้ยังเข้าไม่ถึงใจกลางเลย เข้ามาอยู่ในเขตวงที่เกิดศึกหรือไม่

ข้อเรียกร้องให้นายกฯ เสียสละ กลุ่มประชาชนคนไทย มองว่าไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์โควิดจบก่อน เพราะเรื่องโควิดก็ปล่อยให้แพทย์เขาทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่ง ก็สนับสนุนเขาไปเช่นการให้งบประมาณต่างๆ การอำนวยความสะดวกเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ฝ่ายการเมืองไม่ต้องไปยุ่ง ให้แพทย์ทำกันเอง เพราะมันพิสูจน์แล้วว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งไปทำมันออกมามั่ว

            -สถานการณ์วันข้างหน้า เมื่อแต่ละกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวกันมากขึ้น กลุ่มประชาชนคนไทยและตัวทนายนกเขาพร้อมจะไปร่วมเคลื่อนไหวหรือขึ้นเวทีเดียวกับกลุ่มไทยไม่ทนของจตุพร พรหมพันธุ์ หรือไม่?

            การร่วมเวที แต่ละคนก็มีแนวทาง มีกลุ่มคนของตนเอง แต่ว่าผมก็จะสื่อสารไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ใครจะไปเวทีไหนก็ไป ใครจะมาเวทีผมก็มา เพราะเป็นเรื่องของรสนิยม ลีลา การชอบในเรื่องของตัวบุคคล แต่การไปรวมกันอย่างที่ถามผมคงไม่ไปรวม แต่ถ้าถึงวันที่ต้องตัดสินใจ เช่นการเดินหน้าปฏิวัติประชาชน ก็อาจขอความร่วมมือจากทุกเวทีมารวมพลังประชาชน แล้วต่างคนก็ต่างนำมวลชนเข้าสู่เป้าหมายเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องรวมเวที เพราะการไม่รวมเวทีก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน หากเรามีเป้าหมายเดียวกัน เพราะยิ่งมีหลายเวทีแต่มีเป้าหมายเดียวกัน จะยิ่งสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น จนประชาชนมีพลังมากขึ้น เพราะการขับเคลื่อนมีเป้าหมายเดียวกันคือให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

                "จริงๆ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์โควิดจบก่อนก็ได้ ถ้าผมคิดว่าสถานการณ์มันเกินที่จะรับไหว ผมก็พร้อมรับผิดชอบทางกฎหมาย ผมก็พร้อมจะไปจนถึงตัวพลเอกประยุทธ์และที่ทำเนียบรัฐบาล จะคนมากหรือคนน้อยก็แล้วแต่ ผมก็จะทำ แต่ถ้าจบโควิดแล้วจะมีคนออกมาเยอะ ผมก็ทำ แต่ถ้าสถานการณ์รัฐบาลมันหนักเกินจะรับไหว รอไม่ได้ ผมคนเดียวก็ต้องทำ

เมื่อถามย้ำว่า แนวทางคือต้องการให้มีนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยประกาศตอนเลือกตั้งใช่หรือไม่ นิติธร ระบุว่าควรต้องให้มันเกิดขึ้น เพราะจากสถานการณ์เวลานี้จะให้เชื่อใจใครได้ จะให้เชื่อใจแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่เสนอตอนเลือกตั้งอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยหรือ คนก็เห็นแล้วหากนำปัญหาต่างๆ ในเรื่องโควิดมาประเมิน ต้องออกจากตำแหน่งไปแล้ว หรือจะให้เชื่อใจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หรือ คนก็เห็นกันมาแล้วว่าอภิสิทธิ์บริหารประเทศยังไง  หรือจะไปเชื่อใจคนอย่างชัยเกษม นิติสิริ จากเพื่อไทยหรือ

...ในเมื่อรายชื่อคนที่เหลืออยู่ตอนนี้ ไม่มีใครน่าเชื่อถือ น่าเชื่อใจ ประชาชนก็ต้องร่วมใจกันค้นหาบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ มาแทนพลเอกประยุทธ์ แล้วก็ใช้ช่องทางรัฐสภาในการโหวตให้มีนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อตามมาตรา 272 ควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ

ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ไร้ปัญญาในการค้นหาคนมาเป็นผู้นำประเทศ เรื่องนี้อย่าดูถูกประชาชน อย่าเอาความจำนนทางการเมืองไปใส่หัวประชาชนในยามประเทศมีวิกฤติแบบตอนนี้ แต่ต้องเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน  เพื่อให้ประชาชนได้เลือก ได้ตัดสินใจ ให้เขาได้มีโอกาสแก้ปัญหาของตัวเองและปัญหาของชาติ เพราะข้อเสนอนายกฯ นอกบัญชีไม่ใช่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้อย่างเดียว  แต่จะทำให้เราได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเข้ามา และนำประเทศเข้าสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง

-คนบอกว่าข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกหรือการกดดันรัฐบาลไม่ควรทำช่วงนี้ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เหมือนเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก?

ผมว่ามันเหมาะสม จะเอาชีวิตไปแขวนไว้แบบนี้หรือ  ควรนำข้อเสนอของกลุ่มประชาชนคนไทยไปพิจารณา  วันนี้ยืนยันว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วอาจไม่มีรัฐบาลสักระยะ มันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการจัดการกับปัญหาโควิดเป็นภารกิจของหมอ ส่วนรายชื่อนายกฯ คนนอกว่าควรเป็นใคร ก็อยู่ที่ประชาชนควรช่วยกันเสนอชื่อกันออกมา อย่างที่ทางกลุ่มคณะประชาชนคนไทยก็เคยเสนอชื่อออกมา เช่นหากเราได้คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เพราะปัญหาข้างหน้าคือเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ  อีกทั้งถ้าได้คนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองด้วย โดยเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และเป็นบุคคลที่ประชาชนเชื่อว่าจะนำพาประเทศออกจากวิกฤติในขณะนี้ได้ ก็มีตัวอย่างเช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์  อดีต ผอ.องค์การการค้าโลก ก็ยังไปได้ หรือคนที่คลุกคลีและเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองก็อย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นอดีต รมว.ยุติธรรม)

ประเทศเราไม่ได้ไร้คนจนถึงขนาดหาใครมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ ขอให้เป็นใครก็ได้ถ้าประชาชนยอมรับ และต้องเป็นคนที่นำคน นำงาน นำความคิด โดยทำงานอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ  แม้แต่จะนำหมอมาเป็นนายกฯ ก็ยังได้ เช่น นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร โดยเมื่อคนนอกเหล่านี้เข้ามา เขาก็ไปหาทีมงานต่างๆ มาทำงานด้านต่างๆ ได้ ทีมงานที่ประชาชนเชื่อได้ว่าในยามวิกฤติจะไม่ถูกแอบขโมยแดก

...การมาบอกว่าเปลี่ยนตัวนายกฯ ไม่ได้เพราะเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก แต่หากย้อนกลับไปดูเช่นประเทศอังกฤษ ที่มีการเปลี่ยนนายกฯ ตอนเกิดสงครามกับเยอรมัน เขาก็เปลี่ยนเอา วินสตัน เชอร์ชิล เข้ามา แล้วเป็นผลดีหรือไม่ ก็พบว่าดี ก็ในเมื่อแม่ทัพกำลังจะพาไปตาย จะพาไปตกเหว ยังจะเอากันหรือไม่ ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ใช่ไปเอาเรื่องวลีสุภาษิตมาอ้างกัน แต่ต้องมองความเป็นจริง ไม่ใช่มองที่ความเป็นพวก

เหตุผลทำไม 'บิ๊กตู่' ต้องลาออก 

            เราวกกลับมาคุยกันยาวๆ ถึงที่มาที่ไปของกลุ่มประชาชนคนไทย และเหตุผลทำไมถึงมองว่า พลเอกประยุทธ์ควรต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้มีนายกฯ คนนอก ประเด็นนี้ นิติธร-แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย อธิบายที่มาที่ไปทั้งหมดโดยสังเขปว่า ที่กลุ่มประชาชนคนไทยตั้งกลุ่ม เพราะก่อนหน้านี้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรฯ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงของชาติ กระทบต่อระบอบการปกครองและอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชนคนไทย เช่นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งวิธีการเคลื่อนไหว ก็ใช้ข้อมูลห่างไกลจากความเป็นจริง ทางกลุ่มประชาชนคนไทยเลยเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เช่นไปหน้าสถานทูตสหรัฐฯ  ประจำประเทศไทย หลังมีขาวว่าสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุม ที่มีบุคลากรในสถานทูตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย กลุ่มประชาชนคนไทยก็ไม่สบายใจ เลยไปยื่นข้อห่วงใยต่อสถานทูต ส่วนข้อเรียกร้องอื่น เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การขับไล่รัฐบาล ผมก็มองว่าเป็นเสรีภาพที่ทำได้ปกติและมีความสมเหตุสมผล

กลุ่มประชาชนคนไทยมองปัญหาเวลานี้โดยมองย้อนกลับไป เช่นความหย่อนยานของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทย รวมถึงการปล่อยให้มีแหล่งกระจายเชื้อ จนทำให้ประชาชนและประเทศได้รับผลกระทบแสนสาหัส เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท  ทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาด ความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน

            สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อจะประเมินการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์แบบภาพรวม เราก็ไปดูว่านับแต่พลเอกประยุทธ์ทำรัฐประหาร มีอำนาจเต็ม powerful ในช่วงห้าปีของรัฐบาล คสช. เอาแค่เรื่องการประกาศใช้มาตรา  44 จำนวนมาก ก็พบว่าตลอดห้าปีของการใช้มาตรา 44 ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ประกาศไว้ตอนทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 เช่นเรื่องการปฏิรูปประเทศ  การสร้างความปรองดอง ลดความแตกแยกในชาติ การปราบทุจริตคอร์รัปชัน ก็ไม่มีออกมาให้เห็น

แล้วพอมาวันนี้บอกว่าเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง  ก็พบว่ามีการวางกติกาที่ไม่เป็นธรรม เช่นการวางตัวสมาชิกวุฒิสภา 250 ที่มาจากการเลือก-สรรหาของคนใน คสช. ไปรอโหวตเลือกนายกฯ ไว้ก่อนการตั้งรัฐบาลแล้ว  โดยขัดกับหลักเรื่อง ความมีส่วนได้ส่วนเสีย ในทางกฎหมายปกครอง เพราะผู้เห็นชอบและเสนอรายชื่อคนเป็น ส.ว.คือพลเอกประยุทธ์ แล้วพลเอกประยุทธ์ก็ไปลงสมัครเป็นนายกฯ ในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ โดย ส.ว.ทั้งหมดที่พลเอกประยุทธ์คัดเลือก ก็ไปรออยู่ก่อนแล้วที่จะโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ  ทั้งที่กฎหมายปกครองยังกำหนดเงื่อนไขป้องกันความมีส่วนได้เสียไว้เลย แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดที่ต้องเป็นหลักของกฎหมายทั้งหมดในประเทศ กลับมาทำเรื่องการให้มีส่วนได้ส่วนเสียในการโหวตเลือกนายกฯ เสียเอง โดยการนำเรื่องที่มาของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ที่ให้ คสช.เลือกและอำนาจของ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ มาไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งบทเฉพาะกาลโดยทางกฎหมาย ตัวมันเองถือว่ามีความสำคัญน้อยที่สุด จึงไว้ตอนท้ายของ รธน.และกฎหมายต่างๆ แต่กลายเป็นว่าบทเฉพาะกาลเรื่องที่มา ส.ว.และอำนาจโหวตนายกฯ ที่อยู่ในมาตรา 272 กลายเป็นบทบัญญัติที่มีศักยภาพสูงสุดในทางการเมือง อีกทั้งยังไปตัดเจตนารมณ์ของประชาชน เช่นการที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ ส.ส.ที่เลือกไปโหวตเลือกนายกฯ  เพราะเท่ากับพลเอกประยุทธ์มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนรอไว้แล้ว เท่ากับมาตรา 272 ไปฆ่าเจตจำนงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งที่ต้องการให้มีสภาและมีฝ่ายบริหาร มีนายกฯ  เพราะ ส.ว.ชุดนี้เข้ามาโดยการสรรหาคัดเลือกของอดีต คสช.ที่ทำบัญชีไว้ก่อนเลือกตั้ง ส.ส.เสียอีก เพียงเท่านี้ก็ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายปกครองแล้ว ทุกอย่างถูกล็อกไว้แล้วว่าทำเพื่อใคร เป็นการล็อกโดยไม่ได้นำเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนมาพิจารณา โดยตัดสิทธิประชาชนไปถึงห้าปีกับ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่อาจส่งผลถึงแปดปี (รัฐบาลสองสมัยหากอยู่ครบเทอม)

            ผมก็ประเมินรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในหลายบริบท เช่นเมื่อไปดูจาก คำปรารภ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เขียนไว้ถึงการร่าง รธน.ฉบับปัจจุบันว่า บัญญัติออกมา "เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมือง ใช้อำนาจตามอำเภอใจและกำหนดมาตรการป้องกันและการบริหารจัดการวิกฤติของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" ซึ่งเอาแค่เรื่องวิกฤติโควิดในประเทศไทยเรื่องเดียว ไม่ต้องไปดูเรื่องอื่น โดยหากดูจากคำปรารภ ในส่วนที่ว่า "การปกครองของประเทศไทยได้ดํารงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นําพาหรือไม่นับถือยําเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอํานาจ หรือขาดความตระหนักสํานึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน"

...ก็ต้องถามว่า โควิดเวลานี้เกิดเพราะเหตุเหล่านี้ใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะทุจริตฉ้อฉล บิดเบือนอำนาจ  ขาดความตระหนักสํานึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน แค่ปัญหาโควิดอย่างเดียว การประเมินการทำงานของพลเอกประยุทธ์ เทียบกับคำปรารถในรัฐธรรมนูญ  ถามว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จะผ่านได้อย่างไร อย่างเรื่อง คุณธรรม จริยธรรม ที่เขียนไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ และมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 258 (ก.) ที่เขียนเรื่องการให้มีการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาดํารงตําแหน่งทางการเมือง ทั้งหมดเขียนไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม  แล้วถามว่าวันนี้ ร.อ.ธรรมนัส รมช.เกษตรฯ อยู่ในตำแหน่งได้ยังไง ทั้งที่คนอย่าง ร.อ.ธรรมนัส ไม่ควรเข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลแล้ว ทำไมคนคัดเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำประเทศ ถึงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

            "ทั้งหมดคือหลักในการประเมินรัฐบาล หลังจากกลุ่มประชาชนคนไทยประเมินแล้ว เราจึงเสนอให้พลเอกประยุทธ์ต้องเสียสละลาออก เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาโควิดตอนนี้ที่นโยบายต่างๆ ชักเข้าชักออก เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการบ่อยครั้ง เช่นเรื่องการบริหารจัดการนำวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน จนประชาชนสับสนไปหมดกับการจัดการปัญหาโควิดของรัฐบาล"

            นิติธร-แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้เมื่อไปพิจารณาจากประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ออกมาเมื่อ 26 พ.ค. ที่เป็นประกาศว่าด้วยการบริหารบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ออกมา ผมขอเรียกประกาศฉบับนี้ว่าเป็นประกาศที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ในประกาศฉบับเดียว เป็นประกาศที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำ เป็นประกาศที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับรัฐและประชาชน ที่ย้ำว่า "เพื่อให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้" ที่แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในความรับผิดชอบของนายกฯ เทียบไม่ได้กับประกาศฉบับดังกล่าวเลย อย่างในข้อความตอนต้นของประกาศที่ว่า "เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต"

ผมถามว่ารัฐบาลเคยมองตรงนี้ไหม วันนี้เราเห็นอนาคตข้างหน้าหรือไม่ ทั้งเรื่องการเมืองและโรคระบาด  การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็ชัดเจนว่าเราไม่เห็นจากรัฐบาลในการมองอนาคต แต่ประกาศฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าเขาเตรียมไว้แล้ว แสดงให้เห็นว่าเขาต้องมีแนวทาง นโยบาย แผนงาน โดยคำแนะนำและคำปรึกษาจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

...ถือเป็นประกาศที่มีความครอบคลุมมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับประกาศที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจต่างๆ มาจากกฎหมาย 31 ฉบับมาไว้ที่ตัวนายกฯ-ประธาน ศบค. ที่ถามว่ามีความครอบคลุมเท่ากับประกาศฉบับดังกล่าวฉบับเดียวหรือไม่ และมีใครเห็นอนาคตการแก้ปัญหาโควิดเท่ากับประกาศฉบับนี้หรือไม่ เป็นประกาศที่มีภาวะผู้นำ มองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง และเป็นความหวังของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของวัคซีน แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปสู่ใจกลางของปัญหา ที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าประชาชนจะไม่ถูกทอดทิ้ง ที่ไม่ใช่แค่จากเรื่องโควิด แต่รวมถึงในสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ตามที่ประกาศระบุไว้ 

            เมื่อเห็นเหตุผลแบบนี้ ยังไงพลเอกประยุทธ์ก็ต้องเสียสละลาออก ส่วนคำพูดที่ว่าไม่ควรทำเพราะเป็นการเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก เปลี่ยนม้ากลางศึก ก็อยากบอกว่าอย่าอคติเพราะความเป็นพวกพ้อง แต่ควรยึดถือหลักชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์ และประชาชน โดยหากใครมานอกเหนือจากนี้ โดยเป็นพวกชั่วๆ คอร์รัปชัน ถึงต่อให้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ไม่ควรถือเป็นพวก ต่อให้รู้จักกัน สนิทกันแค่ไหนก็ตาม ยิ่งตอนนี้เราก็ยังไม่รู้เลยว่า ประชาชนจะต้องอยู่กับสถานการณ์โควิดไปอีกนานเท่าไหร่ เมื่อไม่มีทางรู้ ประชาชนก็ต้องมีทางเลือก

                -มองว่าเพราะอะไรช่วงหลังแนวร่วม กองเชียร์ พลเอกประยุทธ์ดูเหมือนค่อยๆ หายไป บางกลุ่มจากแนวร่วมตอนนี้ก็กลายเป็นแนวต้าน?

            ก็เพราะผลจากการทำงานของรัฐบาล อย่างหากใครถามว่า ที่กลุ่มประชาชนคนไทยและผมออกมาเคลื่อนไหว  ใครอยู่เบื้องหลัง ผมก็ตอบเลยพลเอกประยุทธ์อยู่เบื้องหลังผม ครม.ทั้งคณะอยู่เบื้องหลังผม เพราะถ้าพวกนี้ดีกว่าที่ทำงานอยู่ปัจจุบันอีกสักเล็กน้อย ผมก็ไม่จำเป็นต้องออกมา  แต่เพราะพวกนี้ดันหลังผมให้ต้องออกมา ส่วนเบื้องหน้าก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน หากพวกคนใน ครม.ดีกว่านี้ ผมก็ไม่ต้องออกมา ผมอยากฝากไปถึงคนที่ออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหว ว่าอย่ามองแค่ความเป็นพรรคเป็นพวก วันนี้ต้องร่วมมือกันสร้างชาติ

            "เบื้องหลังผมก็คือการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ  การสร้างกติกาที่มอบอำนาจให้คนกลุ่มเดียว เบื้องหลังผมก็คือพลเอกประยุทธ์และ ครม. นักการเมืองทั้งหลาย นายทุนผูกขาด พวกนี้อยู่ข้างหลังผมทั้งนั้น ที่ทำให้ผมต้องออกมา"

            ผมคิดว่าฉากการเมืองนับจากนี้ก็จะเกิด หนึ่ง-การเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้นระหว่างรัฐกับประชาชน และผมคิดว่าประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ แล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดการปักหมุดประเทศอีกครั้ง รัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไข

                “สำหรับพลเอกประยุทธ์ ถึงตอนนี้ผมว่าเขามาสุดทางแล้ว อย่างหากพูดถึงการอยู่ในแม่น้ำ ผมคิดว่า พลเอกประยุทธ์อยู่ได้เพราะห่วงยาง แต่ห่วงยางอย่างพวกคนเชียร์นับวันก็จะเสื่อมถอย จมดิ่ง แล้วตัวแกก็จะจมน้ำ สิ่งที่ทางกลุ่มประชาชนคนไทยออกมาเคลื่อนไหวให้พลเอกประยุทธ์เสียสละลาออก ก็เพื่อดึงพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาจากแม่น้ำ ไม่ให้แกจม”.

                                                            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

......................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"