'ไอติม' ยกกรณีครบ 1 ปี 'วันเฉลิม' ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม


เพิ่มเพื่อน    

5 มิ.ย. 64 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม"  แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์ข้อคววามลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวานนี้ มีรายละเอียดดังนี้

ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม : ครบ 1 ปี การหายตัวของคุณวันเฉลิม ปัญหาการบังคับสูญหาย และความสัมพันธ์กับอีกหลายปัญหาทางการเมือง

4 มิถุนายนปีที่แล้ว “คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” หายตัวไป

จนถึงวันนี้ผ่านมาครบ 1 ปี เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ท่ามกลางความรู้สึกหดหู่ของสังคม คงไม่มีใครเจ็บปวดไปกว่าครอบครัวของคุณวันเฉลิม

ในขณะที่การต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของคุณวันเฉลิม มีความล่าช้ามาถึง 1 ปี สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือการต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีความล่าช้าไปเกือบ 10 ปี หลังจากประเทศไทยลงนามใน “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549” ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อดำเนินการตามข้อตกลงของอนุสัญญาแต่อย่างใด

แม้ตอนนี้ จะมีร่างกฎหมายการบังคับบุคคลให้สูญหายถึง 4 ร่าง แต่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตว่าร่างของคณะรัฐมนตรี (ซึ่งเป็นร่างที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะถูกบังคับใช้) มีความสอดคล้องกับหลักสากลน้อยที่สุด จึงเป็นเรื่องที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันจับตาและยกขึ้นมาตีแผ่ ไม่ปล่อยให้กลไกในรัฐสภาซึ่งปัจจุบันแทบจะถูกควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาล ยึดแต่เนื้อหาจากร่างของ ครม. เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการรับรู้และการท้วงติงจากสังคม

ประเด็นเรื่องคุณวันเฉลิมและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นประเด็นที่สะท้อนการเมืองภาพใหญ่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ในแง่ของการแสดงให้เห็นถึง (ในมุมหนึ่ง) ความตื่นตัวของประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ (ในอีกมุมหนึ่ง) โครงสร้างและกลไกรัฐที่กลับถดถอยลง และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความหวังให้แก่ประชาชนว่าพวกเขาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องคุณวันเฉลิมและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังมีความเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ด้านการเมือง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยกเลิกมาตรา 279

คำสั่งต่างๆของ คสช. เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในกรณีคุณวันเฉลิม เราต้องร่วมกันทำความเข้าใจกับสังคมในวงกว้าง ว่าคุณวันเฉลิมไม่ใช่อาชญากร แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาต้องเดินทางไปอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน คือการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ในช่วงที่ประเทศถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายคำสั่งที่มีเนื้อหาขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนและอาจนำไปสู่การบังคับบุคคลให้สูญหาย อย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และยังเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว เป็นการเปิดช่องให้อาจเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายมากขึ้น

แต่แทนที่เมื่อ คสช. หายไป คำสั่งเหล่านี้จะหายตาม มาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับเขียนให้ทุกคำสั่งของ คสช. ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้จะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เองก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะเท่ากับทำให้คำสั่ง คสช.มีสภาพเหนือรัฐธรรมนูญ ถูกต้องตามกฎหมายไปตลอดกาล ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรานี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น

2. การปฏิบัติตามหลักสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ

การออกกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นเรื่องที่ไทยควรต้องดำเนินการภายหลังลงนามในอนุสัญญาฯ แต่ผ่านมาเกือบ 10 ปี กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น

ตรงนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างจากอีกหลายกรณี ที่รัฐบาลไทยมีความบกพร่องในการดำเนินการตามหลักสากล เหมือนกับการรับมือและการสลายการชุมนุมหลายครั้งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่มีการกระทำโดยรัฐ ที่ขัดกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR (อ่านต่อ: https://www.facebook.com/paritw/posts/5058667324146974)

3. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112

คนที่ต้องออกจากประเทศไทยไปลี้ภัยในต่างแดน หลายคนมีต้นเหตุมาจากการโดนหมายจับคดี 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความหนักของโทษ (จำคุก 3-15 ปี) ที่หนักกว่ากฎหมายลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเชิงการบังคับใช้ ซึ่งไม่ได้มีการวางขอบเขตชัดเจนระหว่างการ “วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต” กับการ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย” ที่ทำให้ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ถูกตัดสินว่าผิด หรือ ปัญหาของการเปิดช่องให้ใครๆ ก็สามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม

4. การเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล และการกำจัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

หลายครั้งที่ประชาชนมีคำถามเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลมักไม่สามารถ หรือไม่พร้อมตอบคำถามอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา

ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นเพราะรัฐบาลมีประเด็นที่ต้องการปกปิด เพราะรัฐบาลขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ หรือขาดความรับผิดชอบทางการเมืองในฐานะตัวแทนประชาชน วัฒนธรรมเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มขาดความศรัทธากับกลไกรัฐและกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น และหล่อเลี้ยงให้ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” คงอยู่กับสังคมไทย เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม

5. การปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองตรง หรือ ต่างจากเรา

การปกป้องสิทธิไม่ใช่เรื่องที่เราพึงกระทำเฉพาะกับคนที่คิดแบบเดียวกับเราเท่านั้น เพราะ “สิทธิ” โดยพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบเขา และ ไม่ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ หรือ เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ยืนอยู่อย่างเดียวดาย

เราทุกคนมีหน้าที่ออกมายืนยันสิทธิของคนที่เห็นต่างจากเรา ไม่น้อยกว่า คนที่เห็นเหมือนกับเรา มันจึงไม่สำคัญเลยว่าคุณมีความคิดทางการเมือง เหมือน หรือ ต่าง จากคุณวันเฉลิม แต่เราต้องออกมาปกป้องและยืนยันสิทธิของคนทุกคนเท่าเทียมกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณวันเฉลิม จึงเป็นเรื่องที่เราไม่อาจเพิกเฉยหรือปล่อยให้ผ่านเลยไป แต่ต้องช่วยกันเรียกร้อง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากเขา เพราะหากวันหนึ่ง เรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว สังคมจะเหลือใครมาช่วยปกป้องสิทธิให้ ถ้าเราไม่ช่วยปกป้องสิทธิของกันและกันตั้งแต่วันนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"