เลขาฯ ศาลยุติธรรมยอมรับคดีสินบนโตโยต้ากระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ลั่นสอบหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างใน 2 เดือน พบผิดฟันทันที เผยส่งหนังสือขอข้อมูลจากโตโยต้า กระทรวงยุติธรรม ก.ล.ต. และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแล้ว
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เเถลงข่าวกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการสอบสวนเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในประเทศสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งมีการกล่าวอ้างถึงชื่อข้าราชการและอดีตข้าราชการตุลาการผู้ใหญ่ว่าอาจมีส่วนพัวพันกับเรื่องนี้
นายพงษ์เดชเผยว่า คดีที่มีการอ้างถึงเป็นคดีที่บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษามีคำขอให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีฟ้องคดีแรกวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้แยกฟ้องโจทก์ จึงยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559 มีการสืบพยานต่อสู้คดีกันเป็นระยะเวลาปีเศษ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำพิพากษาทุกคดีในวันที่ 29 กันยายน 2560 พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดทางภาษีอากร
ขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในแต่ละชั้นศาลนั้น เป็นไปอย่างมีระบบ โปร่งใส มีการปรึกษาคดีและตรวจทานความถูกต้องในทุกขั้นตอน ยากที่จะมีการแทรกแซงหรือกระทำการใดที่จะก่อให้เกิดผลตามที่ใครต้องการได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมั่นใจในระบบ แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าอาจมีการกระทำที่แทรกแซงกระบวนการจนถึงขั้นอาจมีการเสนอให้สินบนขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่นิ่งนอนใจ นับตั้งแต่มีการรายงานข่าว จึงได้ดำเนินการส่งหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศอย่างที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว ต่อมาเมื่อในเนื้อหาข่าวปรากฏชื่อบุคคลในศาลยุติธรรมขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผล โดยที่ตนเป็นประธานคณะทำงานด้วยตัวเอง คณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ติดตามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศแล้ว ได้แก่ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัทโตโยต้าอเมริกา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาและกระทรวงการต่างประเทศรวมถึงส่งเมลติดต่อไปยังนักข่าวที่เขียนรายงานข่าวอันเป็นต้นทางของเรื่องนี้ และจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกาด้วย
ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม นาง เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” 4 ท่าน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้กรรมการชุดนี้เสนอความเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใดและควรได้รับโทษสถานใดเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริง มีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิดหรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน คณะทำงานติดตามข้อมูลที่ผม เป็นประธานจะทำงานสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องการให้ความกระจ่างปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็ว และหากพบว่าผู้ใดกระทำ ความผิดตามกฎหมาย ก็จะดำเนินการต่อไปอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากพี่น้องประชาชนสื่อมวลชนหรือหน่วยงานใดมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างชัดทุกท่าน สามารถส่งข้อมูลมายังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตลอดเวลา โดยคณะทำงานติดตามข้อมูลจะดำเนินการทุกวิถีทางให้เร็วที่สุด และสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอผลความคืบหน้าของการทำงานต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นระยะ
"ผมขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมว่า หากคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คู่ความจะ ได้รับความเป็นธรรมทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนองค์คณะในศาลฎีกาจะพิจารณาคดีอย่างไม่หวั่นไหว ส่วนการให้สินบนตามข่าว หากมีจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดำเนินคดีต่อไป"
นายพงษ์เดชกล่าวว่า จะต้องเรียกใครมาตรวจสอบบ้าง ต้องรอให้คณะทำงานเริ่มทำงานก่อน แต่คิดว่าทำโดยรวดเร็ว แม้จะไม่มีระยะเวลาเป็นกรอบไว้ แต่ใน 1-2 เดือนนี้ต้องได้รับความจริงมากที่สุด
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ? (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดย ป.ป.ช.จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีการประสานงานกับทางการสหรัฐในคดีทุจริตอื่นๆ อยู่แล้ว
“หากปรากฏข้อมูลและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หากหน่วยงานใดมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สามารถส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป” นายนิวัติไชยระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |