"อนุทิน" รับมอบวัคซีนแอสตร้าฯ 1.8 ล้านโดส ลุยฉีด 7 มิ.ย. ลั่นไทยไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว สธ.แจงยิบแผนกระจายทั่วประเทศ การันตีปีนี้ได้ 100 ล้านโดสแน่ สัปดาห์หน้าเซ็นสัญญาจองไฟเซอร์ คิวต่อไปจอห์นสันฯ คาด 2 ยี่ห้อ 25 ล้านโดส สปสช.ย้ำเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่ป่วยเล็กน้อยถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ตรวจฯ แนะ ศบค.เปิดทางเอกชน-ท้องถิ่นจัดหาวัคซีนทางเลือก มท.ร่อนหนังสือสั่งผู้ว่าฯ ใช้งบ อปท.บริการ ปชช.
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด แถลงข่าวพิธีส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชาชนไทยว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ทยอยส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยแล้ว โดยล็อตแรกจำนวน 1.8 ล้านโดสก่อน จากนั้นจะทยอยเข้ามาจนครบตามสัญญาการสั่งซื้อ 6 ล้านโดส ซึ่งการคิกออฟฉีดวัคซีนจำนวนมากในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ยังเหมือนเดิม โดยการจัดสรรวัคซีนในแต่ละพื้นที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม คำนึงสัดส่วนประชากรในพื้นที่การระบาด พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่จำเพาะ (เช่น บุคลากรครู) ตามนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.
"จากนี้จะกระจายไปทุกจังหวัดตามแผน และยืนยันด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว วันนี้เราดูจากการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ม้าตัวแรกเริ่มที่แอสตร้าฯ ต่อมามีซิโนแวค มีจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา และล่าสุดคือ ซิโนฟาร์ม และจะมีตัวต่อๆ ไป ขอให้ทุกท่านสบายใจว่าเราทำทุกสิ่งทุกอย่างตามเหตุและผลและความจำเป็นความเหมาะสม เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย ท่านใดก็ตามที่ยังพูดว่ารัฐบาลไทยเลือกม้าตัวเดียวในการนำวัคซีนมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชน ก็ขอความกรุณาเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยเลือกม้าตัวเดียว รัฐบาลไทยมีความพร้อมที่จะรองรับกับสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้" นายอนุทินระบุ
ส่วนกรณีที่หลายจังหวัดและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากได้รับจัดสรรวัคซีนมาน้อยนั้น ต้องให้ทางจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดสรร เพราะวัคซีนจะค่อยทยอยเข้ามา และกระจายไปให้เพิ่มเติม โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานหลัก สำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยเป็นอำนาจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่รวมการจัดสรรกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 11 สถาบัน
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนลงไปในแต่ละพื้นที่ มีการใช้สูตรคำนวณ โดยนำจำนวนประชากร รวมประชากรแฝงด้วย และหาร 4 เป็นการบริหารจัดการภายใน 4 เดือน (ถึงกันยายน) จากนั้นคูณด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งพื้นที่ระบาด พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่จำเพาะ แต่เนื่องจากวัคซีนจะค่อยๆ ทยอยเข้ามาจึงต้องมีการจัดสรรเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และจำนวนวัคซีนที่ต้องเพียงพอ และดูผลจากการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่ด้วย แต่อำนาจการพิจารณาสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติมยังเป็นอำนาจ ศบค.
ฉีดแอสตร้าฯ ไทยล็อตแรก
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอนุทินตรวจเยี่ยมบริการฉีดวัคซีน สธ.ที่ใต้โถงอาคาร 3 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้นำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 2 ขวด ขวดละ 6.5 ซีซี และได้ให้พยาบาลจัดฉีดแบบประณีต 0.5 ซีซี ตามมาตรฐาน มาฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนแบบออนไซต์ โดยประชาชนคนแรกที่ทำการฉีดวัคซีน คือ นางจุไลลักษณ์ เรวงค์ อายุ 69 ปี ชาว จ.นนทบุรี นอกจากนี้ นพ.แดเนียล เอ เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนด้วยโดยปลัด สธ.เป็นผู้ฉีดให้ ซึ่งถือเป็นคนต่างชาติคนแรกที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทย พร้อมกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนตัวแล้วเชื่อมั่นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ และคุณภาพดีเท่าเทียมกับต่างประเทศ ช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรค จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยมาร่วมการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการหารือถึงข้อร้องเรียนของประชาชนที่สอบถามเข้ามาในเรื่องการจัดสรรวัคซีน เนื่องจากประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม จะได้รับการนัดหมายฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ 7 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีคำถามเข้ามามากว่าจะได้ฉีดหรือไม่ และการที่โรงพยาบาลบางแห่งประกาศยกเลิกในหลายพื้นที่ เช่น หัวหิน เชียงใหม่ ลำปาง กรุงเทพฯ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่าประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมจะได้ฉีดวัคซีนตามกำหนดอย่างแน่นอน
ในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ปลัด สธ.จะประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการกระจายวัคซีน รวมทั้งองค์กรที่รับไปฉีดวัคซีนแล้ว จะได้มีการสอบถามกันถึงเรื่องการกระจายวัคซีน จำนวนวัคซีน และการจัดสรรต่างๆ ซึ่งมีวัคซีนเพียงพอตามแผนอย่างแน่นอน และจะมีการจัดสรรในส่วนของเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 5-6 ล้านโดส ส่วนของ กทม. ทางกรมควบคุมโรคชี้แจงว่ามี 21 หน่วยฉีดวัคซีนของ กทม. ที่จะได้รับตรงวัคซีนจากกรมควบคุมโรค และในส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ จะได้รับกระจายวัคซีนผ่านสำนักอนามัยของกรุงเทพมหานคร และในส่วนของมหาวิทยาลัยผ่านทางกระทรวง อว.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน ก.พ.มีการฉีดวัคซีนครั้งแรก ของบริษัท ซิโนแวค จนบัดนี้ฉีดไปแล้วเกินกว่า 4 ล้านโดส โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดมาก เช่น กรุงเทพฯ มีการฉีดไปแล้วกว่า 1 ล้านโดส ซึ่งสามารถยับยั้งการระบาดได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ว่า ภายในปี 2564 จะต้องหาวัคซีน ให้ได้ 100 ล้านโดส และในปี 2565 อีก 50 ล้านโดส และต้องเผื่อไว้สำหรับอาจต้องฉีดเพิ่มเพื่อกระตุ้นอีกหนึ่งเข็ม หรือกรณีการกลายพันธุ์ของเชื้อ จึงต้องมีแผนเตรียมไว้อย่างน้อยอีก 50 ล้านโดส ในปี 2565 ไม่ต้องห่วงว่างบประมาณปี 65 จะเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลจะหาแนวทางหาเงินมาให้กระทรวงสาธารณสุขได้อย่างแน่นอน
จ่อเซ็นสัญญาจองไฟเซอร์
ทั้งนี้ ตามแผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสในปีนี้ เราได้รับของซิโนแวคแล้ว 6 ล้านโดส และลงนามในสัญญากับบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า ประเทศไทยอีก 61 ล้านโดส รวมแล้วเรายังขาดอีก 33 ล้านโดส ซึ่งนายกฯ ได้มอบนโยบายให้เร่งจัดหาเพิ่มเติม โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามสัญญาการจองวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ ขณะที่บริษัท จอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมร่างสัญญาลงทะเบียนจองวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ คาดว่าจะได้ทั้งหมด 25 ล้านโดส และจะมีแผนการจัดซื้อวัคซีนจากซิโนแวคอีกอย่างน้อย 8 ล้านโดส จะครบ 100 ล้านโดสตามแผน เดือนนี้น่าจะมีข่าวดีให้พวกเราทราบ
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า แผนการกระจายจะเป็นไปตามอัตราจำนวนประชากร และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อในจังหวัดนั้น ที่มีการจัดวัคซีนเสริมเข้าไป รวมถึงจุดที่มีการระบาด เช่น เรือนจำ อีกส่วนคือจังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น การท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผนพิเศษ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีการระบาดในหลายแห่ง ซึ่งจำเป็นต้องใส่วัคซีนเสริมเข้าไป เช่น ชลบุรี ระยอง และจังหวัดชายแดน เช่น ตาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรามีจุดฉีดในต่างจังหวัดทั้งหมด 993 จุด ที่พร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิ.ย. กรุงเทพฯ มี 25 จุด และสำนักงานประกันสังคมอีก 25 จุด ในส่วนของมหาวิทยาลัยอีก 11 แห่ง ที่มีโควตาการฉีดวัคซีนบุคลากรของตนเองและประชาชนบริเวณโดยรอบ 5 แสนโดส ที่อยู่ระหว่างการทบทวนจุดฉีด และยังมีจุดฉีดกลาง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งทุกจุดฉีดมีการปรับเปลี่ยนได้ ทางส่วนกลางคือ สธ. และ ศบค. จะติดตามและมีการปรับประเมินทุกวัน ขอยืนยันว่า วันที่ 7 มิ.ย. วัคซีนมีพร้อม ขอเชิญชวนประชาชนไปรับวัคซีนตามที่กำหนด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น หมายความว่าไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต แต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้ และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน จะไม่มีการเรียกเงินคืน
“ตอนนี้มียื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 260 ราย จ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาการชาเป็นหลัก ฉีดแล้วชา เราก็จ่ายให้ ถือว่าท่านได้รับความเสียหาย บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมี ผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ เพิ่งอนุมัติจ่าย 400,000 บาท ไป 1 ราย ที่พื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ส่วนอีกรายที่ยื่นเข้ามาที่ กทม. คณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเหลืออีก 4 รายที่กำลังพิจารณาอยู่” นพ.จเด็จระบุ
วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ หารือร่วมกับ ศบค. สธ. กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อย. องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แนะรัฐควรเร่งกำหนดมาตรการและแนวทางในการให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ชัดเจน
เปิดทางท้องถิ่น-เอกชนซื้อ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ในระยะแรกให้หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อบริหารจัดการและกระจายวัคซีนตามแผน เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัด จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนกับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระจายและฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งขณะนี้มีวัคซีนทางเลือกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหลากหลาย เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม จึงถือได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้พ้นระยะแรกตามคำวินิจฉัยเดิม แต่ก็ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง ดังนั้น ศบค.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครอบคลุม ทั่วถึง และทันเวลาต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และควรเร่งกำหนดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและกระจายวัคซีนทางเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 3219 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายในการจัดสถานที่เพื่อฉีดให้กับประชาชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2562 ข้อ 11 (13) และ (14) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดสถานที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ 2.ค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน วัสดุ อุปกรณ์ และการจัดรถรับส่งประชาชนไปฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ หาก อปท.มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกปฏิบัติหน้าที่ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
นอกจากนี้ อปท.สามารถใช้จ่ายงบประมาณจากงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายเพื่อป้องกันและยับยั้งก่อนเกิดสาธารณภัย หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย โดยจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ จัดรถรับส่งประชาชน ไปฉีดวัคซีนในสถานที่ที่ราชการกำหนด และจัดเลี้ยงอาหารเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติในการฉีดวัคซีนได้ หาก อปท.มีเงินสำรองจ่ายไม่เพียงพอ สามารถโอนงบประมาณรายการที่เหลือจ่ายหรือไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายไปเพิ่มได้ หรือกรณีงบประมาณในการดำเนินการมีไม่เพียงพออาจพิจารณาใช้จ่ายเงินสะสมได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |