พรรคคอมมิวนิสต์จีน กับแผน ‘ปั๊มลูกเพื่อชาติ’


เพิ่มเพื่อน    

       ปี 1980 จีนประกาศนโยบาย “ลูกคนเดียว” เพื่อลดอัตราเพิ่มของประชากร

            ปี 2016 รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” เพื่อหยุดยั้งแนวโน้มประชากรที่ลดลง

            แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะจำนวนประชากรก็ยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง

            ปี 2021 (วันจันทร์ที่ผ่านมา) พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศเปิดทางให้คู่แต่งงานสามารถมีลูกได้ถึง 3 คน

            เหตุเพราะจำนวนคนในวัยแรงงานลดลงและประชากรคนสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

            การสำรวจประชากรครั้งล่าสุดเมื่อปี 2020 ยังแสดงตัวเลขประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.4 พันล้านคน

            แต่อัตราเพิ่มนั้นต่ำกว่าที่คาด

            หน่วยวางแผนกำลังคนและเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสรุปว่าถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ โครงสร้างประชากรจีนจะเริ่มมีปัญหา

            จุดเปลี่ยนผันอาจจะเห็นได้ชัดในปี 2022 หรือปีหน้า

            นั่นเท่ากับเร็วกว่าที่เคยพยากรณ์เอาไว้ 5 ปี

            สิบปีที่ผ่านมา จำนวนคนอายุ 65 ปีขึ้นไปของจีนเพิ่มขึ้นถึง 60% หรือเท่ากับ 13.5% ของประชากรทั้งหมด

            มาตรฐานโลกกำหนดที่ 14% เป็นเส้นที่กำหนดให้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” หรือ Aging Society

            ความกังวลประการหนึ่งของผู้นำจีนคือ เมื่อคนสูงวัยมีมากขึ้นและคนเกิดใหม่น้อยลง จำนวนประชากรในวัยทำงานก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

            ปี 2013 เป็นปีที่จำนวนประชากรคนวัยทำงานของจีนขึ้นไปสูงสุด

            วันนี้ลดลงมาแล้ว 4%

            ทำไมเมื่อมีคนสูงวัยมากขึ้นจึงเป็นปัญหา

            คำตอบคือรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จบำนาญ, ค่าดูแลรักษาพยาบาล, คนว่างงานและค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ

            ขณะเดียวกันเมื่อประชากรวัยหนุ่มสาวหดตัวลงก็จะดึงให้การใช้จ่ายน้อยลงไปด้วย

            การใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหัวใจของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสี จิ้นผิง

            โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด ที่มีผลให้ผู้นำจีนปรับนโยบายให้พึ่งพาการใช้จ่ายภายในให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกไปต่างประเทศ

            แต่คำถามสำคัญวันนี้ก็คือว่า คนรุ่นใหม่ของจีนพร้อมจะมีลูกมากขึ้นอย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการเห็นหรือไม่

            มีการสำรวจความเห็นของคนรุ่นใหม่จีนวันนี้หลายสำนักที่ชี้ตรงกันว่า

            ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงลูกในสังคมจีนวันนี้สูงขึ้น แค่ดูแลลูกคนเดียวก็เป็นภาระหนักหนาไม่น้อยอยู่แล้ว

            เมื่อครั้งที่ทางการจีนประกาศยกเลิกข้อห้ามให้ทุกครอบครัวมีลูกเกิน 1 คน (เปิดทางให้มีลูกได้ 2 คนต่อบ้าน) ผลที่ตามมาไม่ได้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรัฐบาล

            ปี 2016 แสดงตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นเพียงปีเดียว

            แต่หลังจากนั้นตัวเลขก็ลดลงตลอด 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป

            ขณะเดียวกันจำนวนการแต่งงานของหนุ่มสาวจีนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปีถึงปี 2020

            ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงลูกที่ประเทศจีนมีแนวโน้มแพงขึ้นตลอด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของเยาวชน

            นอกจากนั้นค่าเช่าบ้านหรือที่พักในเมืองใหญ่ๆ ของจีนก็พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

            คุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เมืองจีนจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการให้มีการ  “ทำลูก” กันให้มากขึ้น

            พรรคจึงพยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้หนุ่มสาวจีนแต่งงานและมีลูกมากขึ้นกว่าเดิม

            ถึงขั้นที่พรรคอาจจะต้องเข้าแทรกแซงประเพณีโบร่ำโบราณของสังคมจีน

            นั่นคืออาจจะต้องกำหนดขั้นสูงสุดของสินสอดทองหมั้นที่แพงขึ้นทุกวันเช่นกัน

            ใช่ครับ จีนน่าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถกำหนดว่าแต่ละครอบครัวจะมีลูกได้กี่คน

            แต่ไม่ว่าพรรคจะมีอำนาจทางการเมืองมากเพียงใด  ในท้ายที่สุดการเข้าไปก้าวก่ายถึง “เรื่องในมุ้ง” ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้

            เอาเข้าจริงๆ แม้จะออกคำขวัญ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เกิดกระแส “ชาตินิยม” ต่อต้าน “สังคมคนสูงวัย” หรือไม่

            เพราะคนรุ่นใหม่ของจีนกำลังต้องการจะใช้ชีวิตแบบ  “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีน” อย่างกระตือรือร้นยิ่งนัก.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"